อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ความเชื่อเรื่องโต๊ะตะเกี่ย หรือ เจ้าพระคุณตะเกี่ย


ตอบคำถามโดย อ.อาลี เสือสมิง




อ.อาลี เสือสมิง : ความเชื่อเรื่องโต๊ะตะเกี่ย หรือ เจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ ที่ตำบลคลองตะเคียน อยุธยา

อ.อาลี เสือสมิง นักวิชาการมุสลิม ได้ตอบคำถามเรื่องความเชื่อเรื่องโต๊ะตะเกี่ย หรือ เจ้าพระคุณตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม ที่ตำบลคลองตะเคียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเว็บไซต์ alisuasaming.org ต่อคำถามที่มีคนถามว่า “ความเชื่อเรื่องตะเกี่ยเป็นอย่างไร และขอรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ได้รู้สิ่งที่แท้จริง”

“ตะเกี่ย” น่าจะเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจาก ตะกียะฮฺ تَكِيَّةٌ มีรูปพหูพจน์ว่า تَكَا يَا (ตะกายา) เดิมหมายถึงบ้านของคนจนหรือคนขอทาน แต่ต่อมาถูกใช้เรียกถึงสถานที่พำนักของศูฟียฺ ซึ่งเป็นคนที่บำเพ็ญสมถะและสละชีวิตทางโลก เรียก ศูฟียฺ อีกอย่างว่า ฟะกีร (فَقِيْرٌ) ซึ่งหมายถึงผู้มีความต้องการใกล้ชิดพระเจ้า โดยปริยายหมายถึง คนจน คนอนาถา หากคำว่า “ตะเกี่ย” มาจากคำว่า ตะกี่ยะฮฺ ก็จะมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า คอนกอฮฺ (خَا نْقَاه) ซึ่งเป็นคำฟารีสียฺ (ปาซียฺ) และคำว่า ซาวียะฮฺ (زَاوِيَة) ตลอดจนคำว่า ริบาฏ (رِبَاطٌ) ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเดียวกันว่า “บ้านหรือที่พักของพวกศูฟียฺ”

และ ความหมายที่ว่านี้ก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของโต๊ะตะเกี่ย หรือเจ้าพระคุณตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม ที่ตำบลคลองตะเคียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะที่ตั้งของสุสานหรือมะก็อมของเจ้าพระคุณตะเกี่ยเดิมเป็นที่พักอาศัยของ ศูฟียฺท่านหนึ่ง มีชื่อปรากฏตามแผ่นกระดานจารึก (แกะสลักนูนต่ำ) เป็นภาษาเปอร์เซียว่าชัยคฺ ษามะฮฺ มัยมูน ชาฮฺ อัลลอฮฺย๊าร เป็นชาวฮินดูสตาน (อินเดีย) เสียชีวิตในวันจันทร์ เดือนญุมาดาอัล-เอาวัลฺ เวลาเย็น ในปี ฮ.ศ. ที่ 1,000 คือเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2097 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสิ้นชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2122 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา

มีเรื่อง เล่าขานถึงความกะรอมะฮฺของเจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ เอาไว้หลายเรื่องด้วยกัน แต่ทั้งหมดก็เป็นการายงานแบบมุขปาฐะ คือเล่าจากปากสู่ปาก รุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบว่าจริงเท็จประการใด สิ่งที่สำคัญสำหรับเราในฐานะเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลอฮฺ (ซ.บ.) และเป็นผู้ดำเนินตามวิถีของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็คือ สิ่งที่เชื่อถือได้ก็คือ ที่นั่นเป็นสุสานของผู้ศรัทธา เราสามารถซิยาเราะฮฺสุสานดังกล่าวนั้นได้ โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับการซิยาเราะฮฺสุสานของมุสลิมทั่วไป

กล่าว คือ ให้สล่ามและขอดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ทรงประทานความเมตตา การให้อภัย และเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ล่วงลับที่อยู่ในสุสานนั้นใน อาลัม บัรซัค และ อาคิเราะฮฺ ส่วนการไปวิงวอนขอโดยตรงให้ผู้ที่ล่วงลับในสุสานให้บันดาลสิ่งต่างๆ ที่ต้องการย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม

และถือเป็นการตั้งภาคีใหญ่ดัง เช่นการกระทำของคนต่างศาสนิกที่มาจุดธูปเทียนและนั่งพนมมือขอต่อท่านเจ้าพระ คุณฯ ในเรื่องต่างๆ นั่นแหล่ะคือการตั้งภาคีใหญ่ ส่วนมุสลิมที่อ้างว่า ไม่ได้ขอต่อท่านเจ้าพระคุณฯ แต่อาศัยสถานที่ซึ่งมาบารอกะฮฺเพราะเป็นสุสานของโต๊ะวะลียฺ กะเราะมัตในการตอบรับดุอาอฺที่ขอต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ที่อ้างเช่นนั้นก็ต้องรับผิดชอบในสภาวะทางความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ของตน เพราะผู้นั้นย่อมรู้ดีแก่ใจในสิ่งที่ตนกล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ที่พบเห็น แม้ว่าเจ้าพระคุณฯ จะเป็นวะลียฺจริงมีกะเราะมัตมากมายเพียงใด นั่นก็เป็นเรื่องเฉพาะของท่านที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ท่าน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราในเรื่องความเป็นวะลียฺและกะเราะมัติดังกล่าว และเจ้าพระคุณฯ ก็คือมัคลู๊กที่อ่อนแอเหมือนอย่างเรา คือต้องตาย

จึงให้ข้อสรุปได้ว่า การซิยาเราะฮฺสุสานที่บริเวณมัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ย เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องระวังในเรื่องความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ตลอดจนการกระทำบางอย่างที่มีคนต่างศาสนิกได้กระทำ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งจำเป็นที่ผู้ดูแลต้องบอกกล่าวและห้ามปราม เพราะหากเห็นดีและอำนวยความสะดวกให้คนต่างศาสนิกมากระทำชิรกฺ ณ สถานที่ของชาวมุสลิมโดยไม่มีการห้ามปราม นั่นก็เท่ากับเป็นการริฎอ (ยินดี) ต่อการกุฟรฺ ซึ่งถือเป็นกุฟรฺหรือมุรตัดได้ จึงต้องระวังให้จงหนักในเรื่องนี้

ที่มา http://alisuasaming.org/webboard/index.php?topic=2266.0

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น