อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

อิสลามของมารดาอบูบักร



มุฮัมมัดศิดดีก อัลมินซาวีย์ : เขียน

นาอีม วงศ์เสงี่ยม : แปล

(จากหนังสือ : 101 เรื่องเล่าจากชีวิต “อบูบักร อัศศิดดีก”)
………………………………………..

บ้านที่เหล่าผู้ศรัทธากลุ่มแรกใช้ศึกษาอิสลามอย่างลับ ๆ นั้นคับแคบไปถนัดตา เมื่อเหล่าเศาะฮาบะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รวมตัวกัน พวกเขามีจำนวนถึง 38 คน มีความคิดผุดขึ้นในสมองของอบูบักรเกี่ยวกับการประกาศสัจธรรมและการนำเสนอศาสนาอิสลามแก่ผู้คน ท่านจึงเข้าไปใกล้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คะยั้นคะยอให้ท่านเปิดเผยตัวและออกไปที่มัสญิดหะรอม

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

: อบูบักร พวกเรายังมีจำนวนน้อยอยู่

แต่อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ก็ยังคงคะยั้นคะยอท่านนบีจนกระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยอมที่จะเปิดเผยอิสลามแก่สาธารณชน เมื่อถึงเวลาที่นัดหมาย บรรดามุสลิมจึงออกไปอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของมัสญิดโดยแต่ละคนได้เข้าไปรวมอยู่กับครอบครัวของตนเอง

แล้วอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้ยืนขึ้นปราศรัยประกาศเชิญชวนสู่อิสลามท่ามกลางผู้คนขณะที่เราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็นั่งอยู่ด้วย เมื่อเห็นดังนี้ เพลิงไฟแห่งความโกรธแค้นก็ได้ประทุขึ้นในสายเลือดของพวกมุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) พวกเขาจึงเข้ารุมทำร้ายร่างกายท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อบูบักรและบรรดามุสลิม โดยพวกมุชริกีนได้ทำร้ายผู้ศรัทธาอย่างทารุณ พวกเขาเข้ารุมใช้กำลังจัดการบรรดามุสลิมทั้งเตะ ต่อยและตบจนกระทั่งเกือบจะเสียชีวิตกัน

บนูตัยม์ ได้แบกร่างอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ที่มีสภาพเหมือนศพแน่นิ่งอยู่บนผ่าเข้าไปในบ้านโดยไม่คิดว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่อีก

หลังจากนั้นบนูตัยม์จึงกลับเข้าไปยังมัสญิดหะรอมอย่างโกรธแค้นแล้วกล่าวว่า

: ขอสาบานต่ออัลลอฮ์หากอบูบักรตายไปพวกเราต้องฆ่าเจ้าอุตบะฮ์ อิบนุเราะบีอะฮ์ อย่างแน่นอน

แล้วพวกเขาก็กลับไปหาอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ทั้งอบูกุฮาฟะฮ์ (พ่อของอบูบักร) และผู้คนในบนูตัยม์ต่างพยายามพูดกับอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ แต่ท่านไม่สามารถพูดโต้ได้เนื่องจากยังคงหมดสติอยู่ อบูบักรอยู่ในสภาพเช่นนั้นจนกระทั่งถึงตอนเย็น โดยคำพูดแรกที่ออกมาจากริมฝีปากของท่านคือ

: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นอย่างไรบ้าง ?

ได้ยินดังนั้น บนูตัยฒืก็โกรธอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ มากที่ยังมีใจเป็นห่วงท่านนบี จึงกล่าวกับมารดาของท่านว่า

: ดูเขาให้ดี เอาอะไรให้เขากินหรือดื่มหน่อย

หลังจากนั้นพวกเขาก็แยกย้ายจากไปอย่างผิดหวังและต่างแปลกใจกับพฤติกรรมของอบูบักรอย่างมาก

แต่อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุฮันฮ์ ก็ยังไม่หยุดถาม

: ท่านเราะซูลเป็นอย่างไรบ้าง ?

อุมมุลญะมิล อิบนุลค็อฏฏอบ จึงกล่าวแก่ท่านว่า

: ท่านเราะซูลสบายดี และปลอดภัยแล้ว

อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จึงยิ้มออกที่มุมปาก ใบหน้าของท่านฉีกยิ้มออกมาอย่างมีความสุข แล้วท่านก็ลุกขึ้นจากที่นอนโดยพูดออกมาว่า : ท่านเราะซูลอยู่ที่ไหน ?

อุมมุลญะมีล กล่าวว่า

: อยู่ที่บ้านของอัลอัรกอม อิบนุอบิลอัรกอม

ท่านจึงกล่าวขณะที่ดวงตาแห่งความดีใจประกายออกมาว่า

: ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่กิน ไม่ดื่มอะไรทั้งสิ้นจนกว่าฉันจะไปหาท่าท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เสียก่อน

อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จึงรีบลุกขึ้นออกไปหาท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ท่านกลับไม่สามารถเดินไปได้เนื่องจากความเจ็บปวดจากบาดแผล ท่านจึงให้มารดาของท่านและอุมมุญะมีลพยุงท่านไปจนกระทั่งถึงบ้านอัลอัรกอม อิบนุอบิลอัรกอม

เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เห็นอบูบักร จึงโน้มตัวเข้าไปจูบท่าน บรรดามุสลิมก็ได้โน้มตัวไปจูบอบูบักรโดยท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รู้สึกสงสารท่านเป็นอย่างมาก

อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จึงกล่าวว่า

: เอาพ่อแม่ฉันเป็นประกันเถิด โอ้ท่านเราะซูล ฉันไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากการที่คนชั่วได้มาสัมผัสใบหน้าของฉันก็เท่านั้น และนี่คือมารดาของฉันผู้ปฏิบัติดีกับลูกของเธอเสมอมา แล้วท่านเองโอ้เราะซูลก็เป็นผู้ที่มีความจำเริญ ได้โปรดเชิญชวนเธอไปสู่อัลลอฮ์ด้วย และโปรดขอดุอาอ์ให้แก่เธอ หวังว่าอัลลอฮ์จะนำเธอใหพ้นจากนรกด้วยกับท่าน

แล้วท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้ดะอ์วะฮ์เธอ แล้วเธอก็เข้ารับอิสลาม






ให้ฉันเป็นเพื่อนร่วมเดินทางใช่ไหมท่านเราะซูล ?



มุฮัมมัดศิดดีก อัลมินซาวีย์ : เขียน

นาอีม วงศ์เสงี่ยม : แปล

(จากหนังสือ : 101 เรื่องเล่าจากชีวิต “อบูบักร อัศศิดดีก”)
………………………………………..


ในวันหนึ่งที่ร้อนจัด ไอแดดได้แผดเผาแผ่นดินมักกะฮ์ ประหนึ่งความร้อนที่ผู้คนได้รับจากเปลวไฟ ช่วงเวลาซุฮริที่เม็ดทรายระอุทำให้ใบหน้าไหม้เกรียม ทำให้ผิวหนังราวกับถูกเผาไหม้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับไปหาอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ซึ่งท่านไม่เคยไปบ้านใครในช่วงเวลาแบบนี้เลย จะไปก็แต่ตอนเช้าหรือไม่ก็ตอนเย็นเท่านั้น จนกระทั้งเมื่อวันที่อัลลอฮ์อนุญาตให้เราะซูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อพยพและเดินทางออกจากมักกะฮ์ต่อหน้าต่อตากลุ่มชนชาวกุเรชท่านนบีจึงใช้เวลาช่วงนี้ไปหาอบูบักร

เมื่อสายตาของอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้พบกับบุคคลอันเป็นที่รักของท่าน ผู้ที่เป็นที่ชื่นตาชื่นใจของท่าน ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อบูบักรจึงลุกขึ้นยืนเตรียมตัวต้อนรับท่านอย่างกระฉับกระเฉง พลางกล่าวอุทานออกมาอย่างแผ่วเบาด้วยความแปลกใจว่า : ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยมาช่วงเวลานี้ นอกจากต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ

พอท่านนบีได้เข้าในบ้าน อบูบักรได้เลื่อนเตียงให้ท่าน ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงนั่งลงขณะนั้นไม่มีใครอยู่กับอบูบักรเลยนอกจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ และอัสมาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เท่านั้น

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่ : เอาคนของท่านออกไปก่อน

อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า : โอ้ท่านเราะซูล เธอทั้งสองก็คือลูกสาวของฉันเอง ไม่มีใครอีกแล้ว ฉันขอเอาพ่อแม่เป็นประกัน

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า : อัลลออ์ได้อนุญาตให้ฉันออกจากมักกะฮ์ พระองค์อนุญาตให้ฉันอพยพแล้ว

อบูบักรถึงกับนั่งคุกเข่าพร้อมกล่าวขณะที่น้ำตาไหลอาบแก้มท่านอย่างพรั่งพรู : ให้ฉันเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ให้ฉันเป็นเพื่อนร่วมเดินทางใช่ไหมท่านเราะซูล ?

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : ใช่ ให้ท่านเป็นเพื่อนร่วมเดินทางด้วย โอ้ อบูบักรเอ๋ย!

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันไม่เคยรู้สึกก่อนวันนั้นว่าจะไม่ใครร้องไห้ได้เพราะความดีใจ จนกระทั้งฉันเห็นคุณพ่อร้องไห้ในวันนั้น

อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จึงนำทรัพย์สินของท่านทั้งหมด (ประมาณ 5,000 ดิรฮัม) อพยพไปพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

อบูกุฮาฟะฮ์ ชายชราอาวุโสผู้เป็นพ่อของอบูบักรที่สายตามองไม่เห็นได้กลับมาแล้วร้องตะโดนเสียงดังว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ข้ารู้ว่าเขานำทรัพย์สินติดตัวไปด้วย

อัสมาอ์ บุตรสาวของอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา จึงกล่าวว่า : ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกค่ะคุณปู่ คุณพ่อไดทิ้งความดีงามไว้ให้พวกเรามากมาย

แล้วเธอก็ได้นำเอาก้อนหินเล็ก ๆ วางตรงหน้าต่างบ้านซึ่งเป็นตำแหน่งที่อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เคยวางทรัพย์สินของท่านไว้ตรงนั้น แล้วเธอก็คลุมผ้าบนก้อนหินเหล่านั้นแล้วก็ใช้มือคลำ และกล่าวว่า : คุณปู่คะ ลองจับทรัพย์สินพวกนี้ดูซิคะ

แล้วอบูกุฮาฟะฮ์ก็ได้จับคลำบนผ้านั้นแล้วกล่าวออกมาอย่างดีใจว่า : อย่างนั้นก็ไม่เป็นไร หากเขาทิ้งสิ่งนี้ให้กับพวกเธอ เขาก็ถือว่าทำดีแล้ว นี่ก็น่าจะพอสำหรับพวกเธอ

อัสมาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า คุณพ่อไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้พวกเราเลย แต่ฉันต้องการให้คุณปู่หยุดต่อว่าท่านเท่านั้น





อบูบักรปฏิเสธที่จะรับความคุ้มครอง


มุฮัมมัดศิดดีก อัลมินซาวีย์ : เขียน
นาอีม วงศ์เสงี่ยม : แปล
(จากหนังสือ : 101 เรื่องเล่าจากชีวิต “อบูบักร อัศศิดดีก”)
………………………………………..


เช้าวันหนึ่ง ขณะที่รุ่งอรุณเริ่มปรากฏและความมืดมิดค่อยคลี่คลาย อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้จัดแจงสัมภาระและตระเตรียมเสบียงของตนเอง จากนั้นจึงนำไม้เท้าขึ้นบ่าแล้วออกเดินทาง
อบูบักรแบกศรัทธาที่แรงกล้าแล้วออกเดินทางอย่างเงียบ ๆ จากมักกะฮ์ ใบหน้าและจิตใจที่เปี่ยมด้วยศรัทธามุ่งหน้าสู่แผ่นดินเอธิโอเปีย จนกระทั่งไปถึงบัรกุลเฆาะมาด (สถานที่หนึ่งในเมืองเยเมน) อิบนุดดุฆุนนะฮ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าอัลกอรเราะฮ์ (เผ่าหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการแม่นธนู) ได้พบท่านเขาจึงกล่าวทักด้วยเสียงดังว่า
: ท่านจะไปไหนหรืออบูบักร ?
อบูบักรตอบกลับด้วยความนุ่มนวลว่า
: กลุ่มชนฉันได้ขับไล่ฉัน ฉันจึงต้องการเดินทางไปยังแผ่นดินแห่งอื่นเพื่อสักการะต่อพระเจ้าของฉัน
อิบนุดดุฆุนนะฮ์ ส่ายหัวด้วยความเสียใจแล้วกล่าวว่า
: อบูบักร คนอย่างท่านไม่ควรออกและไม่ควรถูกขับไล่ออก !!! เพราะท่านเป็นผู้ช่วยเหลือคนยากจน ติดต่อสัมพันธ์เครือญาติ ดูแลเด็กกำพร้า และคนชรา ให้เกียรติแขกเหรื่อ ช่วยเหลือผู้อยู่กับสัจธรรม ฉันขอเป็นผู้คุ้มครองท่านเองโปรดกลับไป (มักกะฮ์) เถิด ไปสักการะพระเจ้าของท่านที่บ้านเกิดของท่าน
อบูบักรจึงมุ่งหน้ากลับโดยอิบนุดดุฆุนนะฮ์ ได้เดินทางไปด้วย แล้วอิบบุดดุฆุนนะฮ์ก็ตระเวนไปยังแกนนำของพวกกุเรชเพื่อกล่าวกับพวกเขาว่า
: คนอย่างอบูบักรต้องไม่ออกและไม่ถูกขับไล่ออก พวกท่านจะขับไล่คนที่ช่วยเหลือคนยากจน ติดต่อสัมพันธ์เครือญาติ ดูแลเด็กกำพร้าและคนชรา ให้เกียรติแขกเหรื่อ และช่วยเหลือผู้อยู่กับสัจธรรมอย่างนั้นหรือ ?
ชาวกุเรชจึงยอมรับการคุ้มครองของอิบนุดดุฆุนนะฮ์ที่มีต่ออบูบักร จากนั้นจึงกล่าวแก่เขาว่า
: บอกอบูบักรให้สัการะต่อพระเจ้าของเขาในบ้าน ให้ละหมาดในบ้าน อ่านอะไรก็เชิญตามต้องการ อย่ามารบกวนพวกเรา อย่างประกาศตัวอย่างเปิดเผย เพราะพวกเราเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในหมู่สตรีและลูก ๆ ของพวกเรา
อบูบักรจึงอาศัยอยู่เช่นนั้นสักการะต่ออัลลอฮ์ในบ้านของท่าน ไม่เปิดเผยการละหมาด ไม่อ่านอัลกุรอานนอกจากในบ้าน จากนั้นอบูบักรก็มีความคิดที่จะสร้างสถานที่ละหมาดขึ้นในบริเวณบ้านของท่านโดยท่านจะละหมาดและอ่านอัลกุรอานที่นั่น ปรากฏว่าเหล่าสตรีและลูกหลานของพวกมุชริกีนได้รวมตัวกันอย่างคับครั่งเพื่อมองดูอบูบักรปฎิบัติศาสนกิจ เนื่องจากอบูบักรเป็ฯคนที่ชอบร้องไห้ไม่สามารถควบคุมตัวเองขณะอ่านอัลกุรอานได้ สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกแก่แกนนำชาวกุเรชที่เป็นพวกมุชรีกีน พวกเขาจึงส่งจดหม่ายไปยังอิบนุดดุฆุนนะฮ์เขาจึงเดินทางมาหาพวกกุเรช
พวกเขากล่าวว่า
: แท้จริงพวกเราได้ให้ความคุ้มครองอบูบักรเนื่องจากที่ท่านมอบความคุ้มครองให้เขาโดยให้เขาสักการะพระเจ้าของเขาอยู่แต่ในบ้าน แต่เขากลับทำเกินเลยด้วยการสร้างมัสญิดบริเวณที่โลกว่างหน้าบ้านและยังละหมาดและอ่านอัลกุรอานอย่างเปิดเผย พวกเราเกรงว่ามันจะเกิดความวุ่นวายแก่เหล่าสตรีและลูก ๆ ของพวกเราดังนั้นท่านโปรดห้ามเขาเถิด หากเขาต้องการก็ให้จำกัดตัวเองอย่างที่นำเสนอไปมิเช่นนั้นก็โปรดเอาความคุ้มครองของท่านคืนมาจากเขาเถิด
อิบนุดดุฆุนนะฮ์จึงไปหาอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ นั่งลงต่อหน้าท่านอย่างสงบแล้วกล่าวว่า
: ท่านทราบดีถึงสิ่งที่เราตกลงกันไว้ ให้ท่านเลือกระหว่างการที่จะจำกัดตัวเองอย่างที่นำเสนอไปหรือไม่ก็คืนความคุ้มครองแก่ฉันเถิดเพราะฉันไม่ต้องการให้อาหรับกล่าวกันว่าฉันคือผู้ฉีกสัญญาที่ให้ไว้แก่บุคคลหนึ่งว่าจะคุ้มครองเขา
อบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จึงกล่าวด้วยจิตใจที่หนักแน่นว่า
: ฉันขอมอบคืนการที่ท่านจะต้องคุ้มครองฉัน ฉันพอใจแล้วที่จะให้อัลลอฮ์ ตะอาลา เป็นผู้คุ้มครอง



ดินสอกับยางลบ




ดินสอพูดว่า “ผม ขอโทษ”
ยางลบตอบว่า “ขอโทษทำไมคะ คุณไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย”
ดินสอพูดว่า “ผมขอโทษ ที่คุณต้องเจ็บปวดเพราะผม
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมทำผิด คุณก็อยู่ตรงนั้นเสมอเพื่อลบความผิดของผม
แต่ขณะที่คุณทำให้ความผิดของผมหายไป
คุณก็สูญเสียส่วนหนึ่งของคุณไปด้วย
แล้วคุณก็ตัวเล็กลงเล็กลงทุกๆ ครั้ง
ยางลบตอบว่า “มันก็จริงค่ะ แต่ฉันไม่ได้คิดมากอะไร
คุณก็เห็นใช่มั้ยคะว่า ฉันถูกทำขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้
ฉันถูกทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคุณ
เมื่อใดก็ตามที่คุณทำบางอย่างผิดพลาด
ถึงแม้ว่าวันนึง ฉันรู้ว่าฉันต้องจากไป
และคุณก็ต้องหา “ยางลบใหม่” มาทดแทนฉัน
แต่จริงๆ แล้วฉันมีความสุขกับสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่
ดังนั้นอย่ากังวลไปเลยนะคะ ฉันเกลียดการที่จะต้องเห็นคุณเสียใจ”
.
.......................................................
Thought of the day page
- Bint Al Islam -
อับดุลรอมาน หะระตี โพสต์




วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

มุสลิมกับอาชีพหมอดู

การดูหมอ‬ ทำเสน่ห์ยาแฝด นำมาเป็นงานอาชีพหรืองานอดิเรกไม่ได้ เป็นอวิชชา เป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม ถือเป็นชิริก และเป็นบาปใหญ่
รายได้จากการประกอบอาชีพนี้ถือว่าเป็นรายได้ที่ต้องห้าม (ฮารอม) ไม่ว่าจะนำมากินเอง เลี้ยงครอบครัว หรือนำเอาไปแจกจ่ายแก่ผู้อื่นก็ตาม

ท่านอะบีมัสอู๊ด อัลอันศอรีย์ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า

أن رسول الله صلى الله عليه وسلم نهى عن ثمن الكلب ومهر البغى وحلوان الكاهن

ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามราคาซื้อขายหมา,เงินได้ของหญิงขายตัว และรายได้ของหมอดู” ศอเฮียะห์บุคคอรี ฮะดีษเลขที่ 2083

หากมุสลิมคิดจะยึดอาชีพดูหมอ หรือทำเสน่ห์ ก็น่าจะยึดอาชีพขายหมาและเปิดซ่องขายบริการด้วย เพราะรายได้ทั้งหมดเป็นที่ต้องห้ามเหมือนกัน
การที่คนข้างบ้านที่ประกอบอาชีพนี้ ได้นำเอาอาหารมาให้ ก็ไม่ต้องกิน และไม่ต้องรับ เพราะเขากินเองก็ฮะราม เอามาให้เราก็ใช่ว่าจะฮาลาล อย่าเกรงใจในเรื่องฮะรามเลยครับ
แต่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ.....
เมื่อเขาทำบุญทีไร ก็เห็นอิหม่ามหรือท่านครูบางคนเป็นหัวขบวนเดินนำหน้าไปกินกันอย่างไม่สะทกสท้าน

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

‎ระยะทางในการละหมาดย่อ‬



คำถาม
เรื่องการละหมาดย่อและละหมาดรวมผมเคยได้ยินมาว่า ระยะทางในการละหมาดย่อและละหมาดรวมนั้นต้องเกินกว่า80 km แต่ก็มีผู้ที่กล่าวว่ามีหลักฐานที่อนุญาตกระทำได้ที่ระยะทางน้อยกว่านั้น หลักฐานนี้มีอยู่จริง ซอเฮียะ หรือเปล่าครับ
ขอคุณครับ วัสสาลาม

‪#‎คำตอบโดย‬ อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้
‪#‎ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับระยะทางก่อนครับว่า‬ อัลอิสลามมิได้กำหนดระยะทางในการละหมาดย่อและรวมไว้ตายตัว หมายถึงไม่มีตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดีษกำกับไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดานักฟิกฮ์จึงได้มองในมุมที่ต่างกัน บ้างก็ว่าน่าจะเท่านั้นเท่านี้กิโล และผมเองก็ไม่สามารถที่จะชี้ได้ว่า ข้อเสนอแนะของนักฟิกฮ์ท่านใด หรือมัซฮับไหนมีความถูกต้องมากกว่ากัน แต่ผู้ถามได้ถามว่ามีตัวบทหลักฐานที่ซอเฮียะห์หรือไม่ว่า อนุญาตให้ทำได้ในระยะทางที่น้อยกว่า 80 km

ในบันทึกฮะดีษของท่านอิหม่ามมุสลิม,อิหม่ามอะห์หมัด, อบูดาวูด และอัลบัยฮะกีย์ เป็นฮะดีษที่รายงานโดย ยะห์ยา บินยะซีด อัลฮุนาอีย์ว่า ฉันได้ถามท่านอนัส บินมาลิก เกี่ยวกับการละหมาดย่อ ท่านตอบว่า
كَانَ رَسُوْلُ للهِ مَسِيْرَةَ اللهُ عَلِيْهِ وَسَلَّمَ اِدَا خَرَجَ ثَلاثَةِ أمْيَالٍ أَوْ فَرَاسِخَ يُصَلِّي رَكْعَتَيْنِ

"ปรากฏว่าท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เมื่อท่านได้ออกไปเป็นระยะทาง 3 ไมล์ หรือฟัรซัค ท่านจะละหมาด 2 ร่อกอะห์" บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1116

หมายเหตุ : 3 ไมล์เท่ากับ 5.25 กิโลเมตร

การเดินทางของผู้คนในอดีตจะใช้วิธีการเดินเท้า หรือไม่ก็ใช้ม้าหรืออูฐเป็นพาหนะ แต่ในปัจจุบันมียาพาหนะที่สามารถนำสู่ปลายทางได้โดยไม่เกิดความยากลำบากเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ข้อบัญญัติในเรื่องการละหมาดย่อจะถูกยกเลิกไป แต่อยากให้ท่านพิจารณาว่า ภาวะของท่านที่ประสบอยู่คือการเดินทางหรือไม่ ถ้าใช่ก็สามารถละหมาดย่อและรวมได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ละหมาดตามปกติเถอะครับ





ผู้หญิง....ตกหลุมรัก : ดุอาอ์และวิธีแก้ไข



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ฉันมีปัญหาใหญ่ นั่นคือ ฉันหลงรักชายคนหนึ่งในโรงเรียน ฉันไม่สามารถหยุดคิดถึงเขาได้ บางครั้งฉันสามารถควบคุมความรู้สึกนี้ได้ แต่เมื่อต้องพบกับเขาที่โรงเรียน ความรู้สึกเดิม ๆ ก็กลับมาอีก ใจฉันรู้สึกว่าการครุ่นคิดเช่นนี้ต้องห้ามในอิสลาม ถึงแม้ฉันจะพยายามแต่ก็ไม่สามารถจะหยุดได้ ฉันพยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเขาเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยปกติแล้วเราไม่ได้พูดคุยอะไรกัน แต่หากมีการพูดคุยกันก็เพียงแค่ให้สลามทักทายกันเท่านั้น ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี ฉันอยากให้ความรู้สึกเช่นนี้ยุติลง เหมือนกับว่าชัยฏอน (มารร้าย) จะชนะทุก ๆ ครั้ง แม้ว่าฉันได้พยายามแล้ว

ฉันอยากถามว่า มีดุอาอ์ (บทขอพร) หรือละหมาด หรือที่คล้าย ๆ กันนี้ ที่จะช่วยฉันจากอำนาจที่ครอบงำฉันได้บ้างหรือไม่ ? เพื่อให้ฉันระงับตัวเองจากการทำบาปนี้ อย่างน้อยก็ให้ฉันควบคุมมันได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมีความรู้สึกหลงรักผู้ชาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง หวังว่าท่านจะช่วยเหลือฉันได้

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ความรู้สึกในสถานการณ์เช่นนี้เป็นอันตราย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งที่จะบำบัดมัน ความรู้สึกเช่นนี้ได้เกิดขึ้นในกรณีของเธอ การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ มนุษย์นั้นต้องการอยู่เสมอที่จะต่อสู้กับตัวเองและละทิ้งความบาป นี่เป็นวิทยปัญญาของอัลลอฮฺเพื่อว่าผู้ศรัทธาที่บริสุทธิ์ใจนั้นจะได้ทำตัวให้แตกต่างจากคนอื่น ๆ

วิธีการที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาของเธอ คือ

1. สร้างความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ ด้วยการมองหาที่มาของมัน เช่น การใคร่ครวญทางความคิดที่มีต่อสัญญาณต่าง ๆ และต่อความโปรดปรานของพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเธอให้รอดพ้นจากความรักที่มีต่อสิ่งอื่น

2. พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับชายหนุ่มคนนี้ หรือนั่งรวมกับเขา หรือมองดูเขา

3. หยุดคิดถึงเขา โดยการนำความคิดไปง่วนอยู่กับเรื่องอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ทั้งเรื่องในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

4. หากว่าเธอสามารถแต่งงานกับเขาได้ โดยที่เขาเป็นคนดีจริงหรือแต่งงานกับคนอื่น เพราะว่านี่คือทางออกตามธรรมชาติของปัญหาจำนวนมาก
เกี่ยวกับดุอาอ์ (ที่เธอได้ขอมา) อัลลอฮฺจะตอบรับการขอ จากผู้ขอที่มีความจริงใจ ให้เธอขอดังต่อไปนี้

“โอ้อัลลอฮฺ โปรดชำระหัวใจของฉันให้สะอาด”

“โอ้ผู้ที่พลิกผันหัวใจ โปรดทำให้หัวใจของฉันมั่นคงด้วยการเชื่อฟังพระองค์ด้วยเถิด”

หรือให้เธอกล่าวว่า

“โอ้อัลลอฮฺ โปรดแบ่งปันความเกรงกลัวต่อพระองค์ให้แก่ฉันเถิด เพื่อพระองค์จะได้ให้มันเป็นเครื่องกั้นระหว่างฉันกับความชั่วร้ายที่พระองค์ทรงห้าม”

หรือให้เธอกล่าวว่า

“โอ้อัลลออฺ ฉันขอทางนำ ความยำเกรง ความบริสุทธิ์จากบาป และความพอเพียงจากพระองค์”

หรือให้เธอกล่าวว่า

“โอ้อัลลอฮฺ ผู้สร้างฟากฟ้าและแผ่นดินทั้งหลาย ผู้มีความรู้ในสิ่งที่ซ่อนเร้นและเปิดเผย ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่พระองค์ ผู้เป็นเจ้าและผู้ครอบครองของทุก ๆ สิ่ง ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์จากความชั่วจากตัวฉันเอง และจากความชั่วร้ายของชัยฏอนและการตั้งภาคีต่อพระองค์”

ทุกดุอาอ์ที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะได้รับรายงานมาจากท่านนบี (ซ.ล.) (ดู ตัรฺตีบ อะหาดีษ เศาะฮีหฺ อัญ ญามิอฺ บาบ อัด ดะอียะฮฺ อัล มะอ์ษูเราะฮฺ)

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความอิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจต่อการให้เอกภาพของอัลลอฮฺ) และการต่อเนื่องในการขอดุอาอ์

อัลลอฮฺคือผู้นำทางไปสู่ทางที่เที่ยงตรง 

...........................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพตส์




เธอฝันว่า....เธอเดินเล่นกับคนรักในสวน


ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : หนึ่งในเพื่อนของฉันรักกับชายคนหนึ่งมาประมาณ 4 – 5 ปีแล้ว เธอได้ละหมาดอิสติคอเราะฮฺ เมื่อประมาณ 6 – 7 เดือนที่ผ่านมา เพื่อค้นหาว่าเธอจะตกลงแต่งงานหรือไม่แต่งงานกับเขาดี ในคืนเดียวกันเธอได้ฝันว่า

“เธอเห็นตนเองเดินอยู่กับคนรักในสวนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ทึบ ต้นไม้ทึบเต็มไปด้วยดอกไม้และมีกิ่งที่ห้อยลงมา พวกเขาเดินอยู่บนทางที่เต็มไปด้วยหญ้า” เธอจึงตื่นขึ้นทันทีและรู้สึกกลัวมาก เธอเห็นความฝันนี้ตอนเกือบจะตีสามถึงตีสี่

กระนั้นความฝันดังกล่าวดูเหมือนว่า พวกเขาจะได้แต่งงานกันและจะไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นกับพวกเขา แต่ตอนนี้ทั้งพ่อและแม่ของเธอก็ไม่ยินยอมให้เธอแต่งงานกับเขา และพวกเขาได้ยุติความสัมพันธ์ลง 2 – 3 สัปดาห์แล้ว ฉันต้องการถามท่านว่าความหมายของความฝันนี้คืออะไร สิ่งที่เธอเห็นในความฝันเป็นเพราะการอิสติคอเราะฮฺหรือเพียงแค่เพราะคิดถึงคนรัก

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ


ความฝันอยู่ในสามประเภทนี้

1. ความฝันที่มาจากอัลลอฮฺ สิ่งนี้เป็นวิธีการที่พระองค์ทรงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของพระองค์ในโลกนี้ ภายหลังการสิ้นสุดของวะหยุ

2. ความฝันที่มาจากชัยฏอน ซึ่งชัยฏอนพยายามที่จะมีอำนาจเหนือลูกหลานของอาดัมและทำให้เกิดความทุกข์แก่บรรดาผู้ศรัทธา ท่านนบี (ซ.ล.) ได้สอนเราถึงวิธีการป้องกันตนเองจากความชั่วร้ายของมัน และท่านไดบอกกับเราว่าความฝันเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อบรรดาผู้ศรัทธาที่รักษาอะดาบ (ระเบียบมารยาท) ตามวจนะของท่านนบี (ซ.ล.)

3. ความฝันที่มาจากจิตใต้สำนึก ซึ่งผู้นอนนั้นจะเห็นความคิดของเขาเองและความคิดที่สถท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา ดังที่ได้กล่าวไว้ในคำถามนี้

ดูเหมือนว่าน้องสาวมุสลิมะฮฺนั้นอยู่ในความรักกับชายคนดีและมีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับเขา แต่พ่อแม่ของเธอปฏิเสธการแต่งงาน ดังนั้นในความฝันที่เธอเห็นตนเองกับคนรักก็เนื่องมาจากเธอต้องการที่จะเห็นเขาในชีวิตจริง (จัดเป็นฝันประเภท 3 – ผู้แปล)

ที่สุดแล้ว ฉันแนะนำให้น้องสาวมุสลิมะฮฺยำเกรงอัลลอฮฺและเชื่อฟังพ่อแม่ของเธอในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม เธอควรจะมุ่งมั่นที่จะเลือกสามีซึ่งเหมาะสมกับเธอจากบรรดาผู้ที่ศอลิหฺและเชื่อถือได้

เช่นเดียวกัน เธอควรจะวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ได้มาซึ่งสามีที่ศอลิหฺที่จะทำให้เธอมีความสุข และพระองค์จะประทานให้ซึ่งลูกที่ศอลิหฺที่จะช่วยเหลือพวกท่านได้ในโลกนี้และผลรางวัลในโลกหน้า

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

หมายเหตุ ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ความฝันมีสามรูปแบบ (1) ฝันดี อันเป็นการแจ้งข่าวดีจากอัลลอฮฺ (2) คนฝันที่ทำให้เศร้าสลด ซึ่งมาจากชัยฏอน (3) ความฝันที่เกิดขึ้นจากคนหนึ่งได้พูดกับตัวเอง” (บันทึกโดยมุสลิม)


...............................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพตส์




เธอรู้สึกกังวล....จะให้ทำอย่างไรดี?


ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ฉันมีคำถามบางคำถาม ประการแรก ฉันรู้สึกกังวลใจในบางสิ่งซึ่งไม่รู้ว่ามันคืออะไร? ฉันพยายามจะลืมมันแต่ฉันก็ทำไม่ได้ ฉันต้องการความช่วยเหลือจากท่านจริง ๆ ในฐานะมุสลิมะฮฺที่แต่งงานแล้ว...ฉันควรจะทำอย่างไรให้ลืมสิ่งนี้ ?

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

วิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับความวิตกกังวล คือ การรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (ซิกรฺ) รักษาละหมาดในเวลา และหลีกเลี่ยงการมีเวลาว่างมากเกินไป

อัลลอฮฺตรัสเกี่ยวกับ “การซิกรฺ” ว่า

“บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ” (อัรฺเราะอฺด : 28)

“โอ้ มนุษย์เอ๋ย ! แท้จริงข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) จากพระเจ้าของพวกท่าน ได้มายังพวกท่านแล้ว และ (มัน) เป็นการบำบัดสิ่งที่มีอยู่ในทรวงอก และเป็นการชี้แนะทาง และเป็นความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา” (ยูนุส : 57)

และพระองค์ได้ตรัสเรื่องการรักษาละหมาดว่า

“แท้จริงมนุษย์นั้นถูกบังเกิดมาเป็นคนหวั่นไหว เมื่อความทุกข์ยากประสบแก่เขา ก็ตีโพยตีพายกลัดกลุ้ม และเมื่อคุณความดีประสบแก่เขา ก็หวงแหน นอกจากบรรดาผู้กระทำละหมาด บรรดาผู้ที่ดำรงมั่นอยู่ในการทรำละหมาดของพวกเขาเป็นประจำ” (อัล-มะอาริจญ์ : 19-23)

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอาศัยความอดทน และการละหมาดเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 153)

เมื่อท่านนบี (ซ.ล.) ประสบกับความทุกข์ ท่านจะหันไปละหมาด (บันทึกโดย อะหมัด และอบูดาวูด เลขที่ 1319 ระดับหะสัน ชัยคฺ อัลบานีย์ ในเศาะฮีหฺ อัล ญามิอฺ เลขที่ 4703)

และท่านได้กล่าวว่า

“โอ้ บิลาล จงเรียกร้องไปสู่การละหมาด (อิกอมะฮฺ) และนำพวกเราไปสู่การผ่อนคลายจากมัน” (บันทึกโดยอะหมัด และอบูดาวูด หะดีษเศาะฮีหฺ ชัยคฺ อัลบานีย์ ในเศาะฮีหฺ อัล ญามิอฺ เลขที่ 7892)

การละหมาดจะนำมาซึ่งความสบายใจและความสุข และเป็นยาสำหรับความเศร้าโศกใจ กังวลใจ เวลาว่างทำให้ประตูแห่งความคิดที่เลวร้ายเปิดออก และทำให้ความวิตกกังวลเกิดขึ้น

เมื่อใดก็ตามที่ท่านรู้สึกวิตกและกังวลใจ ให้รับเร่งไปอาบน้ำละหมาดทำการละหมาด และอ่านอัลกุรอาน และให้ตนเองนั้นสาละวนอยู่กับการกระทำที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การซิกรฺ” ในช่วงเวลาเช้าและเย็น เมื่อจะเข้านอน เมื่อกิน เมื่อดื่ม เข้าบ้านและออกจากบ้าน

มุสลิมคือผู้ศรัทธาในเจตนาและพระประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (เกาะฎออ์ เกาะดัรฺ) จะไม่กังวลเกี่ยวกับปัจจัยยังชีพ (ริสกี) หรือลูก ๆ หรืออนาคต เพราะมันถูกบันทึกไว้ก่อนที่เขาจะมีอยู่ในโลกนี้ แต่เขาควรกังวลเกี่ยวกับความผิดบาปและข้อบกพร่องของเขาที่มีต่อพระเจ้าของเขา วิธีการแก้ปัญหานี้คือการกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮฺ) และเร่งรีบในการทำสิ่งดี ๆ อัลลอฮฺทรงรับรองแล้วซึ่งชีวิตที่ดีงาม (หะยาฮฺ ฏ็อยยิบะฮฺ) สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา ความว่า :

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อันนะหฺลฺ) : 97)

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

..............................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน  เพื่อชัยชนะ โพสต์




เมื่อผู้หญิงกำเนิดมา


ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : มุสลิมบางคน - ขออัลลอฮฺประทานทางนำแก่พวกเขาด้วย - โกรธเมื่ออัลลอฮฺประทานลูกสาวให้แก่เขา และพวกเขาอารมณ์เสียอย่างมากเมื่อลูกสาวกำเนิดมา ฉันยังรู้มาอีกว่า บางคนขู่จะหย่ากับภรรยาของเขาหากเธอได้ลูกสาว ฉันหวังว่าท่านจะสามารถให้ความกระจ่างในหัวข้อนี้จากมุมมองของชะรีอะฮฺอิสลามได้

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า การกระทำเช่นนี้เป็นหนึ่งจากการกระทำในสมัยแรกของญาฮิลียะฮฺ (ความอวิชชา) จากการปฏิบัติของคนป่าเถื่อนผู้ซึ่งถูกตำหนิและถูกประณามในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ

แม้แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกับในอดีตมากนัก ถ้าท่านได้ไปเยี่ยมเยี่ยมตามโรงพยาบาลที่ทำคลอดต่าง ๆ ในประเทศมุสลิม และมองไปรอบ ๆ สังเกตใบหน้าของผู้ที่ลูกสาวของเขาได้กำเนิดมา ฟังสิ่งที่พวกเขาพูดและสังเกตดูว่าเขาเป็นอย่างไร ท่านจะเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้คนเหล่านี้กับผู้คนในยุคญาฮิลียะฮฺ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสว่า

“และเมื่อผู้ใดในหมู่พวกเขาได้รับข่าวว่าได้ลูกหญิง ใบหน้าของเขากลายเป็นหมองคล้ำและเศร้าสลด เขาจะซ่อนตัวเองจากกลุ่มชน เนืองจากความอับอายที่ได้ถูกแจ้งแก่เขา เขาจะเก็บเอาไว้ด้วยความอัปยศหรือฝังมันในดิน พึงรู้เถิด ! สิ่งที่พวเขาตัดสินใจนั้นมันชั่วแท้ ๆ” (อันนะหุลฺ : 58-59)

หนึ่งในอาการของการไม่ชอบลูกสาว คือ ในโรงพยาบาล เมื่อพวกเขาพบว่าทารกในครรภ์เป็นเพศชายหรือเพศหญิงโดยการอัลตราซาวด์ ถ้าเป็นเพศชาย พวกเขาจะบอกกล่าวกับครอบครัว แต่ถ้าเป็นเพศหญิง พวกเขาก็จะไม่พูดอะไรเลย นี่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก อันจะนำมาซึ่งสิ่งต้องห้ามอีกจำนวนมาก อาทิ :

- มันหมายถึงการไม่ยอมรับในเกาะฎออ์ เกาะดัร ของอัลลอฮฺ
- มันเป็นการปฏิเสธของขวัญที่อัลลอฮฺประทานให้ แทนที่จะขอบคุณพระองค์สำหรับสิ่งนั้น นี่เป็นการเพียงพอแล้วที่จะได้รับความกริ้วจากอัลลออฺและการลงโทษ
- มันเป็นการดูถูกผู้หญิง ทอดทิ้งเธอ และสร้างความกดดันให้กับเธอ
- มันแสดงถึงความคล้ายคลึงกับผู้คนในยุคญาฮิลียะฮฺ

มุสลิมต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว และป้องตันตนเองให้รอดพ้นจากการคิดที่บ่อนทำลายเช่นนี้ การยอมจำนนต่อเกาะดัร (การกำหนด) ของอัลลอฮฺเป็นข้อกำหนดที่จำเป็น และยอมรับในเรื่องดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของผู้ศรัทธา

นอกจากนี้ คุณงามความดีของเด็กผู้หญิงก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่ไม่มีใครรู้ ตรงข้ามสำหรับพวกเธอ คือ แม่ พี่สาวน้องสาว และภรรยา พวกเธอเป็นครึ่งหนึ่งของสังคมที่ให้กำเนิดอีกครึ่งหนึ่ง ดังนั้นสิ่งนี้ราวกับว่าพวกเธอคือสังคมทั้งหมด (ดู ตุหฺฟะฮฺ อัล-เมาลูด ฟีย์ อะหฺกาม อัล-เมาลูด โดย อิบนุก็อยยิม หน้า 16)

ข้อบ่งชี้อื่น ๆ ในคุณงามความดีของพวกเธอคือ ความจริงที่อัลลอฮฺทรงแจ้งแก่พวกเขาถึงการกำเนิดมาของพวกเธอ คือ “ของขวัญ” (ที่อัลลอฮฺประทานให้) และกล่าวถึงพวกเธอก่อนบุรุษ ในอายะฮฺที่ว่า

“อำนาจเด็ดขาดแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ประทานลูกหญิงแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และประทานลูกชายแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัซซูรอ : 49)

ท่านนบี (ซ.ล.) ยังได้อธิบายถึงคุณงามความดีของพวกเธอ และกำชับให้ดูแลพวกเธออย่างดี ท่านกล่าวว่า

“ผู้ใดถูกทดสอบโดยการมีบุตรสาวด้วยบางสิ่งบางอย่าง แล้วเขาปฏิบัติต่อพวกเธออย่างดียิ่ง พวกเขาก็จะถูกปกป้องให้พ้นจากไฟนรก” (บันทึกโดยบุคอรีย์ เลขที่ 1418 และมุสลิม เลขที่ 2729)

อัล-อีมาน บิล เกาะฎออ์ วัล เกาะดัร โดย มุหัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัล-หะมัด หน้า 160)


..............................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน  เพื่อชัยชนะ  โพสต์




ความสันติ



ขอความสันติจงมีแด่ท่าน และความสันตินั้นจะมีแด่พวกเรา
ขอความสันติได้ไปยังตัวท่าน และความสันตินั้นก็ได้มาหาเราเช่นกัน
ขอความสันติจะมีแด่ผู้ที่ได้ตอบรับซึ่งความสันตินั้น และขอความสันติจงมีแด่คนที่ไม่ตอบรับมัน
ความสันติที่มาจากพระนามของพระเจ้าผู้ทรงสันติ
พระเจ้าของปวงบ่าวผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ความสันติที่เราอยู่กับมันตลอดมา
ความสันติที่ถูกคลุกเคล้ากันอยู่บนผืนแผ่นดินนี้
ความสันติที่เราไม่อาจย้อนไปหามันเช่นดั่งเดิมได้
ความสันติที่มันไม่อาจย้อนไปหาเราได้เช่นกัน
ความสันติที่เราใฝ่หามัน แต่มันกำลังจัดกระเป๋าเดินทาง เพื่อที่จะหนีห่างออกไปจากแผ่นดินของเราอย่างช้า ๆ
และมันจะมีการเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการมอบให้โดยไม่ยินยอม และการมอบให้โดยยินยอม ก็เพื่อที่จะหวังการยินยอมจากผู้คน โดยที่ไม่มีการยินยอมที่ยินยอม (โดยที่ไม่มีอิสลาม)
เปรียบเสมือนว่าอิสลามของบรรพบุรุษเรา ไม่เหลือค่าและความหมายใด ๆ อีกเลย
พวกท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าทำไม ความสันติถึงได้จากพวกเราไป ?
พวกท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าทำไม ความมืดมนถึงได้กระจัดกระจายมาอยู่กับพวกเรา ?
เป็นคำตอบที่ง่ายมาก ก็เพราะว่าพวกเราทั้งหลายเป็นสังคมที่ช่างหวาดกลัว พวกเราเป็นสังคมที่ช่างหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่เหมือนกัน
คำพูดของฉัน ที่พวกคุณบางคน หรือจำนวนที่มากกว่านั้น หรือพวกคุณทุกคนที่ไม่ชื่นชอบ
หากแต่ว่าฉันก็จะพูดมันออกมา ก็เพราะว่าตัวฉันไม่ต้องการความล้มละลาย
พวกเราเป็นสังคมที่คอยจะปฏิเสธกับความจริง ก็เพราะว่าพวกเราเป็นสังคมที่ชอบใช้ชีวิตอย่างล้าสมัย
พวกเราเป็นสังคมที่คอยจะปาวประกาศให้ดัง ๆ
เพื่อให้ตัวเขาถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่มีความคิดที่หลากหลาย
พวกเราเป็นสังคมที่มัวแต่คิดในเรื่องยศหรือตำแหน่ง
เพื่อให้ตัวเขาถูกขนานนามว่าเป็นสังคมที่มีอุดมการณ์และสติปัญญา
โอ้ ความพังพินาศของฉัน สังคมของฉันกำลังติดโรคเรื้อนอะไรอยู่นี่ ?
การตอบรับของพวกเราในสิ่งที่ไม่เหมือนกันนั้น ไม่มีเลย เว้นแต่ภายนอกเท่านั้น
ความแตกต่างในหลากสี ทำให้เราต้องเจ็บปวด
ความแตกต่างรูปพรรณ ทำให้เราต้องเจ็บปวด
ความแตกต่างในความคิดเห็น ก็ต้องทำให้เราต้องเจ็บปวด
ความแตกต่างในศาสนา ก็ยังทำให้เราต้องเจ็บปวด
แม้กระทั่งความแตกต่างในเพศ ก็ยังทำให้เราต้องเจ็บปวด
ฉะนั้น เราควรพยายามลบทุก ๆ ความแตกต่างที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่พวกเรา พวกเราจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงสังคมบางส่วนที่ไม่ดี
พวกเราคือสังคมที่โง่เขลาที่สุด ใช่แล้ว
พวกเราคือสังคมที่โง่เขลาที่สุด
พวกเรากำลังดูถูกกันและกัน พวกเรากำลังสำราญสร้างในสิ่งที่ไม่ดี และพวกเรากำลังทำลายมนุษย์ด้วยกัน และพวกเราก็ปฏิเสธตลอดเวลา เพื่อที่จะค้นหาความเป็นจริง
และฉันไม่อาจชำระคน ๆ หนึ่งให้สะอาดบริสุทธิ์ได้
และฉันก็ไม่อาจชำระประชาชนคนธรรมดาและผู้นำทุกคนได้
และฉันก็ไม่อาจชำระผู้คนที่อ่อนแอในประเทศชาติที่เงียบสนิทได้ (จากความดี)
และไม่มีใครมาขนานนามเราว่าเป็นผู้ให้ความบริสุทธิ์แก่ผู้คน
ไม่มีใครที่เลือกจะตามยุโรปเหมือนคนตาบอด
และไม่มีใครต้องการระบบการปกครองที่ต่ำทราม ที่คอยจะตัดแขนขาของผู้คน
พวกท่านจงปล่อยให้เราพยายามทำกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเราในวันนี้เถิด
พวกท่านจงปล่อยให้เราโอบกอดดวงวิญญาณของเราเถิด
พวกท่านจงปล่อยให้เราโอบกอดดวงวิญญาณของคนที่มีความแตกต่างกับเราเถิด
นี่ไงตัวฉัน ที่กำลังยืนอยู่หน้าพวกท่านทั้งหลาย ด้วยสีของฉัน ด้วยเส้นผมของฉัน ด้วยบทกวีของฉัน ด้วยชนชั้นของฉัน และด้วยความคิดของฉัน
ฉัน ไม่กลัวพวกท่าน
ฉัน ไม่กลัวความแตกต่างของพวกท่าน
ก็เพราะว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งจากพวกท่าน และพวกท่านก็เป็นส่วนหนึ่งจากฉัน
ฉะนั้น จงปล่อยให้พวกเราสร้างศิลปะเถิด จงปล่อยให้เราสร้างความใฝ่ฝันที่ดีเถิด เพื่อให้เราได้ยืนอยู่บนความรอบรูู้ที่ดีที่ปราศจากจากความอวิชชา เพื่อให้เกิดความอ่อนโยนระหว่างพวกเรา และนี่แหล่ะคือการปกครองที่ดีที่สุด
ฉะนั้น จงปล่อยให้พวกเราละลายชื่อเสียง ระดับ อำนาจ ความคิด สี และศาสนา
และเราไม่อยากจะเห็นสิ่งใด ๆ อีกต่อไป เว้นแต่เขาคือ อินซาน (มนุษย์)
.



กล่าวโดย : นักกวีอะนีส ชูชาน
ถอดความและเรียงคำโดย : อูลุล อัลบ๊าบ



ไม่มีใครปฏิเสธการอยู่บนฟ้าของอัลลอฮนอกจากพวกญะฮมียะฮ





قال عبد الرحمن بن أبي حاتم الرازي الحافظ في كتاب الرد على الجهمية ، حدثنا أبي ، نا سليمان بن حرب ، سمعت حماد بن زيد ، يقول : إنما يدورون ، على أن يقولوا : ليس في السماء إله إله " . يعني : الجهمية . قلت : مقالة السلف ، وأئمة السنة ، بل والصحابة ، والله ورسوله والمؤمنين : أن الله في السماء ، وأن الله على العرش ، وأن الله فوق سماواته

อับดุรเราะหมาน บิน อบีหาติม อัรรอซีย์ อัลหาฟิซ กล่าวไว้ในหนังสือ อัรรอ็ด อะลัลญะมียะฮ ว่า บิดาของข้าพเจ้า ได้เล่าเราว่า สุลัยมาน บิน หัรบิ ได้เล่าเราว่า ข้าพเจ้าได้ยิน หัมมาด บิน เซด (ฮ.ศ 179) กล่าวว่า ความจริง พวกเขาวนเวียน (หมายถึงมีความพยายาม)อยู่บนการกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอยู่บนฟ้า ,ไม่มีพระเจ้าอยู่บนฟ้า ๆ หมายถึง พวกญะฮมียะฮ “ข้าพเจ้า(อิหม่ามอัซซะฮะบีย)ได้กล่าวว่า “ คำพูดของสะลัฟ ,บรรดาอิหม่ามสุนนะฮ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าเศาะหาบะฮ ,อัลลอฮ ,รอซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา (กล่าวว่า) แท้จริง อัลลอฮอยู่บนฟ้า ,แท้จริงอัลลอฮอยู่บนอะรัช และแท้จริง อัลลอฮ อยู่เหนือบรรดาชั้นฟ้าของพระองค์-ดู แหล่งอ้างอิงข้างล่าง

سير أعلام النبلاء للذهبي (ج7 ص461) وتذكرة الحفاظ له (ج1 ص168) عن ابن أبي حاتم الرازي الذي رواه في كتابه "الرد على الجهمية" (العلو للعلي الغفار ص143) بسند صحيح؛ وفي رواية أخرى: (إنما يحاولون أن ليس في السماء شيء)، رواه الإمام أحمد في مسنده (ج45 ص566) بسند صحيح، وغيرهم.

เมื่อวิชาอริสโตเติลถูกนำไปอธิบายอะกีดะฮแล้วจะเกิดอะไรขึ้น



อิหม่ามสะยูฏีย์ (ร.ฮ) บอกว่า

ท่านอิมามชาฟิอีย์กล่าวว่า

ماجهل الناس ولااختلفوا إلا لتركهم لسان العرب وميلهم إلى لسان ارسطوطاليس

ประชาชน(มุสลิม)จะไม่กลายเป็น คนโง่หรือขัดแย้ง(กันเอง)นอกจากว่าพวกเขาละทิ้งซึ่งภาษาอาหรับ และพวกเขาโน้มเอียงไปยังภาษาของอริสโตเติล” 
(หนังสือ เซานุลมันติก ของอิมามสุยูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 47

สิทธิต่าง ๆ ของผู้หญิงในอิสลาม



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : สิทธิของสตรีในอิสลามคืออะไร ? และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรตั้งแต่ยุคทองของอิสลาม (จากคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึงกลางศตวรรษที่ 12) ถ้ามันมีการเปลียนแปลง ?

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ประการที่ 1 อิสลามให้เกียรติสตรีเป็นอย่างมาก ให้เกียรติสตรีในฐานะแม่ที่ต้องเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติด้วยความเมตตา การที่แม่พึงพอใจก็ถือว่าเป็นส่วนในความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ อิสลามบอกพวกเราว่าสวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของแม่ หมายความว่า วิธีที่ดีเลิศในการเข้าสู่สวรรค์คือการผ่านทางแม่ และอิสลามห้ามในเรื่องการไม่เชื่อฟังแม่หรือทำให้ท่านโกรธ แม้กระทั่งการกล่าวถ้อยคำที่รุนแรงดูหมิ่น สิทธิของแม่นั้นมีมากกว่าพ่อ และหน้าที่ (ของลูก) ที่จะต้องดูแลท่านจะมีเพิ่มขึ้น เมื่อแม่ของเขา ชราภาพมากขึ้นและอ่อนแอลง ทั้งหมดนี้ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

“และเราได้สั่งเสียมนุษย์ให้ทำดี ต่อบิดามารดาของเขา” (อัล-อะหฺกอฟ : 15)

“และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่างกล่าวแก่ท่านทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน.....และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสองซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตาและจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย’ ” (อัล-อิสรออ์ : 23 – 24)

หะดีษบันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ (เลขที่ 2781) รายงานว่า

มุอาวิยะฮฺ อิบนุ ญาหิมะฮฺ อัล-สุละมีย์ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันมาหาท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) และกล่าวว่า : “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่าน เพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่านและทำดีต่อนาง” แล้วฉันก็เข้าหาท่านจากอีกด้านหนึ่งและกล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่าน เพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่านและทำดีต่อนาง” แล้วฉันก็เข้าหาท่านจากด้านหน้าและกล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่านเพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงอยู่กับเท้าของนาง สวรรค์อยู่ที่นั่น!”

หะดีษเศาะฮีหฺ โดยชัยคฺ อัลบานีย์ ในเศาะฮีหฺสุนันอิบนุ มาญะฮฺ, บันทึกโดย อันนะสาอีย์ (เลขที่ 3104) ด้วยสำนวน

“จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่าน เพราะแท้จริงสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของนาง”

อัล-บุคอรีย์ (เลขที่ 5971) และมุสลิม ผ2548) รายงานว่า

รายงานจาก อบูฮุร็อยเราะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) และกล่าวว่า “บุคคลใดที่ฉันควรทำดีต่อเขามากที่สุด ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขาได้กล่าวว่า “หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขากล่าวอีกว่า “หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขากล่าวต่อไปว่า “ หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านได้กล่าวว่า “บิดาของท่าน”

และยังมีตัวบทอื่น ๆ อีกที่มิได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

หนึ่งในสิทธิที่อิสลามให้กับแม่ คือ ลูกชายของเธอจะต้องออกค่าใช้จ่ายให้แก่เธอหากเธอต้องการการสนับสนุน ตราบใดที่เขามีความสามารถและสามารถจ่ายได้ ดังนั้นหลายศตวรรษที่ผ่านมาจึงไม่เคยได้ยินจากผู้คนของอิสลามที่จะทอดทิ้งให้แม่ไปอยู่ในบ้านพักคนชรา หรือลูกชายที่ขับไล่เธอออกจากบ้าน หรือลูกชายของเธอปฏิเสธในการให้ค่าใช้จ่ายแก่เธอ หรือสำหรับเธอจะต้องทำงานเพื่อที่จะได้กินและดื่มหากลูกชายของเธอยังอยู่

อิสลามยังให้เกียรติสตรีในฐานะภรรยาอีกด้วย อิสลามเรียกร้องให้สามีปฏิบัติต่อภรรยาของเขาเป็นอย่างดีและด้วยมารยาทแห่งความเมตตาและกล่าวว่าภรรยานั้นมีสิทธิเหนือสามีเช่นเดียวกับสิทธิของเขาที่มีเหนือเธอ เว้นแต่ว่าเขาจะมีระดับที่เหนือกว่าเธออันเนื่องมาจากความรับผิดชอบของเขาในเรื่องค่าใช้จ่ายและการดูแลกิจต่าง ๆ ของครอบครัว อิสลามระบุว่าชายที่ดีที่สุดของมุสลิมคือผู้ที่ปฏิบัติต่อภรรยาของเขาในลักษณะที่ดีที่สุด และเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขาที่จะใช้เงินของภรรยาโดยปราศจากการยินยอมจากเธอ อัลลอฮฺตรัสว่า :

“...และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี...” (อันนิสาอ์ : 19)

“..และพวกนางนั้นจะได้รับเช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนางจะต้อง ปฏิบัติโดยชอบธรรม และสำหรับบรรดาชายนั้นมีฐานะเหนือพวกนางชั้นหนึ่งและอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 228)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ฉันกำชับพวกท่านให้ปฏิบัติต่อสตรีเป็นอย่างดี” (บันทึกโดยบุคอรีย์ เลขที่ 331 และมุสลิม เลขที่ 1468)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือผู้ที่ดีที่สุดกับภรรยาของเขา และฉันก็ดีที่สุดในหมู่พวกท่านที่ทำดีกับภรรยาของฉัน” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์ เลขที่ 3895 และอิบนุ มาญะฮฺ เลขที่ 1977 หะดีษเศษะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อัต-ตัรมีซีย์)

อิสลามให้เกียรติสตรีในฐานะลูกสาว และส่งเสริมให้พวกเราดูแลเอาใจใส่พวกเธออย่างดีและให้ความรู้แก่เธอ อิสลามระบุว่าการดูแลเอาใจใส่ลูกสาว จะนำมาซึ่งผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ อาทิเช่น ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“บุคคลใดอบรมเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงสองคน จนกระทั่งทั้งสองนั้นบรรลุศาสนภาวะ ในวันกิยามะฮฺฉันกับเขาจะได้อยู่เช่นทั้งสองนี้” แล้วท่านก็รวบนิ้วของท่านเข้าด้วยกัน (บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 2631)

อิบนุ มาญะฮฺ (เลขที่ 3669) รายงานว่า อุกบะฮฺ อิบนิ อามิร (ร.ฎ.) กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“บุคคลใดมีลูกสาวสามคน และเขาอดทนต่อพวกเธอ ให้อาหารการกินแก่พวกเธอ ให้เครื่องดื่มและเสื้อผ้าแก่พวกเธอจากทรัพย์สินของเขา พวกเธอจะเป็นเกราะป้องกันสำหรับเขาจากไฟนรกในวันกิยามะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อิบนุ มาญะฮฺ)

อิสลามให้เกียรติสตรีในฐานะพี่สาว – น้องสาว และป้า อิสลามกำชับส่งเสริมในเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์ของเครือญาติและห้ามตัดสัมพันธ์เอาไว้ในหลายถ้อยความ ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“โอ้ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงให้สลามซึ่งกันและกันให้มาก จงให้อาหารแก่ผู้อื่น จงเชื่อมสัมพันธ์ญาติพี่น้อง และจงละหมาดในยามวิกาลในขณะที่ผู้คนต่างหลับใหล แล้วพวกท่านจะได้เข้าสวรรค์อย่างปลอดภัย”

อัล-บุคอรีย์ (เลขที่ 5988) รายงานว่า ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า อัลลอฮฺตรัสว่า

“บุคคลใดที่เชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ ข้าก็เชื่อมสัมพันธ์กับเขา บุคคลใดที่ตัดสัมพันธ์เครือญาติ ข้าก็ตัดสัมพันธ์กับเขา”

ทั้งหมดของคุณสมบัติเหล่านี้อาจรวมอยู่ในสตรีคนเดียว : เธออาจจะเป็นภรรยา ลูกสาว เป็นแม่ เป็นพี่สาว – น้องสาว เป็นป้า ดังนั้นเธอจะได้รับเกียรติในวิถีทางเหล่านี้ทั้งหมด

สรุปว่า อิสลามยกสถานะของสตรีและทำให้เธอนั้นเท่าเทียมกันกับบุรุษในข้อกำหนดส่วนใหญ่ ดังนั้นสตรีเสมือนบุรุษ ในการถูกสั่งใช้ให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและอิบาดะฮฺต่อพระองค์ และสตรีจะเท่าเทียมกันกับบุรุษในแง่ของผลตอบแทนในโลกหน้า สตรีมีสิทธิที่จะแสดงออก ในการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ กำชับในสิ่งที่ดีงามและห้ามปรามความชั่ว และเรียกร้องผู้คนมาสู่อัลลอฮฺ สตรีมีสิทธิในทรัพย์สินของตนเองในการซื้อและขาย การสืบทอดมรดก การบริจาคและให้ของขวัญ มันไม่เป็นที่อนุญาตแก่บุคคลใดที่จะใช้ทรัพย์สินของเธอโดยปราศจากการยินยอมจากเธอ สตรีมีสิทธิในเกียรติของเธอ โดยไม่ต้องเผชิญกับการถูกรุกรานหรือถูกข่มเหง สตรีมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ในความเป็นจริงนั้นมันเป็นข้อบังคับที่จะต้องสอนพวกเธอให้รู้ในเรื่องศาสนา

บุคคลใดก็ตามที่ได้เปรียบเทียบสิทธิของสตรีในอิสลามกับสภาวการณ์ในยุคญาฮิลียะฮฺ หรือในอารยธรรมอื่น ๆ จะเข้าใจว่าสิ่งที่เราได้กล่าวมานั้นเป็นความจริง และแท้จริงนั้นเรามั่นใจได้ว่าสตรีจะได้รับเกียรติอย่างที่ดีสุดในอิสลาม

ไม่มีความจำเป็นสำหรับเราที่จะต้องกล่าวถึงสภาวการณ์ของสตรีในกรีก เปอร์เซีย หรือสังคมชาวยิว แม้แต่สังคมของชาวคริสต์ก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสตรี นักศาสนศาสตร์ได้รวมตัวกันที่ Council of Macon เพื่อหารือเกี่ยวกับสตรีว่าเป็นเพียงร่างกายหรือร่างกายที่มีวิญญาณ พวกเขาส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าสตรีมิได้ถูกใส่จิตวิญญาณไว้ และพวกเขามีข้อยกเว้นเฉพาะในกรณีของพระนางมัรยัม (อ.ล.)

ในรัชกาลสมัยของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 รัฐสภาของอังกฤษออกคำสั่งห้ามสตรีอ่านพันธสัญญาใหม่ เพราะพวกเธอถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ จนกระทั่ง ค.ศ. 1805 กฎหมายอังกฤษอนุญาตให้บุรุษขายภรรยาของเขาได้ และตั้งราคาของภรรยาไว้ที่ 6 เพนนี

ในยุคสมัยใหม่ (ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน) สตรีถูกขับไสไล่ส่งออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 18 ปี เพื่อให้พวกเธอเริ่มต้นทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง หากสตรีต้องการจะอาศัยอยู่ที่บ้าน เธอต้องจ่ายเงินให้แก่พ่อแม่ในการาเช่าห้องและจ่ายสำหรับค่าอาหารและค่าซักรีดด้วย (ดู “เอาดะฮฺ อัล-หิญาบ” 2/47-56)

วิธีนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบ กับอิสลามเพื่อที่จะกำชับให้รักษาเกียรติและวิถีที่พึงปฏิบัติต่อสตรี และเผยแพร่ไปยังพวกเขาได้อย่างไร ?

ประการที่ 2 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิเหล่านี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก แต่หลักการพื้นฐานมิได้เปลี่ยนแปลง ถึงกระนั้นประเด็นการประยุกต์ใช้หลักการเหล่านี้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าในช่วงยุคทองของอิสลาม มุสลิมใช้ชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น โดยมีกำเกณฑ์ของชะรีอะฮฺนี้ ไม่ว่าการให้เกียรติต่อบิดามารดา การปฏิบัติต่อภรรยา ลูกสาว พี่สาว – น้องสาว และสตรีทั่วไป ต่อมาการยึดมั่นในศาสนาได้อ่อนแอลงและขยายวงกว้าง สิทธิเหล่านี้ถูกละเลยมากขึ้น อย่างไรก็ตามตราบจนถึงวันกิยามะฮฺก็จะยังคงมีกลุ่มที่ยึดมั่นในศาสนาของพวกเขา และได้ใช้ชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ผู้คนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ให้เกียรติสตรีมากที่สุดและยอมรับในสิทธิของพวกเธอ

แม้จะมีความอ่อนแอในเรื่องการยึดมั่นต่อศาสนาในหมู่มุสลิมจำนวนมากในทุกวันนี้ สตรีก็ยังคงได้รับความพึงพอใจกับสถานะที่สูงส่งของเธอ ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว ภรรยาหรือพี่สาว – น้องสาว ในขณะที่เราทราบถึงความบกพร่อง การกระทำผิดและการละเลยสิทธิของสตรีในผู้คนบางส่วน ซึ่งแต่ละคนนั้นต้องรับผิดชอบตัวเขาเอง

.......................................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน  เพื่อชัยชนะ  โพสต์

เมื่อผู้หญิง......จะเป็นคนดี




ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ฉันปรารถนาจะเป็นมุสลิมที่ดีอย่างแท้จริง ฉันควรเริ่มต้นอย่างไร ? ฉันไม่ได้หมายความว่า ตอนนี้ฉันจะเป็นคนเลว แต่ฉันไม่ได้ละหมาดห้าเวลา และยังไม่ได้คลุมหิญาบ ฉันจะเริ่มต้นอย่างไรดี ?

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

อิสลามที่แท้จริง หมายถึง การยึดมั่นในกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของอิสลาม ซึ่งกฎเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การละหมาด “เสาหลักของศาสนา” และเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนเมื่อเขาถูกนำมาชำระบัญชีในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ การละหมาดนั้นเป็นพันธะที่จำแนกระหว่างผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ และใครก็ตามที่ละทิ้งสิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ปฏิเสธ

ดังนั้นสิ่งที่ท่านต้องกระทำก็คือ การรักษาละหมาดให้ครบตามเวลา และไม่ละเลยเรื่องใด ๆ ของการละหมาด จากนั้นท่านจะต้องปฏิบัติกฎเกณฑ์อื่น ๆ ของอิสลามด้วย ซึ่งรวมไปถึงการคลุมหิญาบ ทั้งนี้สิ่งจะช่วยให้มุสลิมสามารถปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์นี้ก็คือ การอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ และการอ่านชีวประวัติ (สีเราะฮฺ) ของท่านเราะสูล (ซ.ล.) รวมทั้งเรื่องราวของเหล่าคนดี (ศอลิหฺ) ทั้งหลาย ขอแนะนำให้ท่านเลือกสมาคมกับเพื่อนผู้หญิงมุสลิมที่ดี ๆ เพราะมันจะช่วยให้ท่านยืนหยัดอย่างมั่นคงในศาสนาของอัลลอฮฺได้

ท่านควรจะตรวจสอบตนเอง (มุหาสะบะตุน นัฟสฺ) ในการเชื่อฟังพระดำรัสอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และทุกชีวิตจงพิจารณาดูว่าอะไรบ้างที่ตนได้เตรียมไว้สำหรับพรุ่งนี้ (วันกิยามะฮฺ) และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-หัซรฺ : 18)

อัลลอฮฺตรัสย้ำถึงสองครั้งให้พวกเรา “ยำเกรง” (ตักวา) พระองค์และในระหว่างการย้ำทั้งสองครั้งนั้น พระองค์ก็ตรัสให้พวกเราทำการตรวจสอบตนเอง (มุหาสะบะตุนนัฟสฺ)

ดังนั้น จงพิจารณาดูว่าสิ่งที่จะนำออกมาในวันพิพากษานั้น เป็นการกระทำความดีและหลีกห่างจากการกระทำความชั่วหรือไม่ การตรวจสอบนี้เป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง และวันแห่งการฟื้นคืนชีพนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ยาวนาน และมันจะทำให้ใบหน้าดูย่ำแย่ (แท้จริงเรากลัวต่อพระเจ้าของเราซึ่งเป็นวันแห่งหน้านิ่วคิ้วขมวดและแสนสาหัส - อัล-อินสาน : 10) ดังนั้น จงพิจารณาสิ่งที่ท่านได้เตรียมไว้จากการทำความดีงามทั้งหลาย และพยายามเพิ่มพูนสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ให้มากขึ้น และมีความบริสุทธิ์ในการกระทำสิ่งเหล่านี้

จงละทิ้งบาปอันเลวร้ายที่ได้กระทำไป เพราะมันเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่คนได้เตรียมไว้สำหรับวันแห่งการพิพากษา จงสร้างความมั่นใจว่าท่านไปยังวันสิ้นโลกด้วยสิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านมี และอย่าลืมที่จะวิงวอนขอดุอาต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้พระงอค์ทรงนำทางให้ท่านอยู่ในหนทางอันเที่ยงตรงและสามารถยืนหยัดในหนทางนั้นอย่างมั่นคงได้

ขออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประทานความเข้มแข็งและทางนำแก่เราและแก่ท่าน และประทานจุดจบ (สิ้นชีวิต) ที่ดี ขออัลลอฮฺประทานพรแก่ท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.) นบีของพวกเรา

.......................................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์






ขอคำปรึกษาภรรยา





ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ฉันต้องการทราบในเรื่องวิธีการที่ผู้หญิงใช้จัดการกับเรื่องต่าง ๆ ฉันต้องการทราบว่า สมมติว่าผู้ชายไปขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากหญิงจะได้หรือไม่ ? ฉันถามคำถามนี้เพราะฉันเห็นว่าผู้หญิงให้คำปรึกษาและคำแนะนำจากอารมณ์และหัวใจมากกว่าสติปัญญา ฉันต้องการทราบว่าผู้ชายจะฟังภรรยาของเขาได้ในระดับใด ?

คำตอบ : อัลลอฮฺตรัสสั่งใช้ให้ปฏิบัติต่อภรรยาด้วยดี

“และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี” (อันนิสาอ์ : 19)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ฉันกำชับพวกท่านให้ปฏิบัติต่อสตรีเป็นอย่างดี ...และฉันกำชับพวกท่านให้ปฏิบัติต่อสตริเป็นอย่างดี” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 5186 และมุสลิม เลขที่ 1468)

และท่านได้กล่าวว่า

“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือ ผู้ที่ดีที่สุดกับครอบครัวของเขา และฉันก็ดีที่สุดในหมู่พวกท่านที่ทำดีกับครอบครัวของฉัน” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์ เลขที่ 3895 หะดีษเศษะฮีหฺ โดย ชัยคฺ อัล-บานีย์ ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ เลขที่ 3314)

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การปรึกษาภรรยาของบุคคลหนึ่ง ๆ และรับฟังคำแนะนำจากเธอและยอมรับมันนั้น เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ในการอยู่ร่วมกันและการปฏิบัติต่อพวกเธอด้วยความเมตตา มันทำให้หัวใจของเธออ่อนโยนและทำให้เธอรู้สึกว่าเธอนั้นมีบทบาทในครอบครัว และเธอเป็นผู้รับผิดชอบครอบครัวเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ชายพบว่าภรรยาของเขามีความรอบคอบ มีปฏิภาณไหวพริบ และเธอไม่ได้ด่วนสรุปอะไรง่ายดายหรือปล่อยให้ตนเองโอนเอียงไปตามอารมณ์

นอกจากนี้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้คำปรึกษาของภรรยาและยอมรับความคิดเห็นของเธอหรือไม่ยอมรับ อาจแตกต่างกันไปตามหัวข้อที่ให้คำปรึกษา หรือสอบถามความคิดเห็นของเธอว่า อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติของเธอจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของเธอเกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ๆ หรือไม่ ?

หากสามีคิดว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะปฏิเสธความคิดเห็นของเธอ หรือเขาคิดว่ามุมมองของเธอนั้นผิดพลาด เขาต้องหาวิธีการที่จะปฏิเสธความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเธอ และไม่กล่าวโทษว่าเธอโง่ หรือพูดว่าความคิดของเธอนั้นเป็นเรื่องที่เหลวไหล และเขาควรอธิบายให้เธอฟังว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องเท่าที่เขามีความสามารถจะทำได้

ลองดูเรื่องราวของหุดัยบียะฮฺ และสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วท่านจะเข้าใจคุณค่าของการให้คำปรึกษาของผู้หญิงที่ฉลาดและหลักแหลม เมื่อท่านนบี (ซ.ล.) ทำสนธิสัญญากับกุร็อยชฺ และตกลงที่จะไม่กลับไปและไม่เข้าไปในเมืองมักกะฮฺในปีนั้น ท่านได้กล่าวแก่เศาะหาบะฮฺของท่านว่า “จงลุกขึ้นและถวายสิ่งพลี (กุรฺบาน)” แต่ก็ไม่มีผู้ใดแม้แต่คนเดียวในหมู่พวกเขาที่ลุกขึ้น จนกระทั่งท่านได้กล่าวถึงสามครั้ง เมื่อไม่มีผู้ใดลุกขึ้น ท่านจึงเข้าไปหาอุมมุ สลามะฮฺ และบอกนางถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คน อุมมุ สลามะฮฺ กล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ สิ่งที่ท่านต้องการคืออะไร ? ท่านจงออกไปและไม่ต้องพูดอะไรกับใครในหมู่พวกเขา จนกว่าท่านจะได้เชือดสิ่งพลี และเรียกบุคคลหนึ่งให้โกนศีรษะของท่าน” เมื่อท่านนบี (ซ.ล.) ทำเช่นนั้น พวกเขาจึงลุกขึ้นและทำการถวายสิ่งพลี

อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัร (ร.ฎ.) กล่าวว่า “จุดนี้เป็นคุณงามความดีของการให้คำปรึกษา และเป็นที่อนุญาตให้ปรึกษาภรรยาที่เที่ยงธรรม”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของท่านนบีมูซา (อ.ล.)

อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัร (ร.ฎ.) กล่าวว่า “จุดนี้เป็นคุณงามความดีของการให้คำปรึกษา และเป็นที่อนุญาตให้ปรึกษาภรรยาที่เที่ยงธรรม”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องาวของนบีมูซา (อ.ล.) และวิธีการที่อัลลอฮฺทรางยกท่านในวังของฟาโรห์ และวิธีการแห่งความโปรดปรานนั้นอยู่ในคำแนะนำของอาสียา มเหสีของฟาโรห์ อัลลอฮฺตรัสว่า

“และภริยาของฟิรเอาน์ กล่าวว่า ‘(เขาจะเป็นที่) น่าชื่นชมยินดีแก่ดิฉันและแก่ท่าน อย่าฆ่าเขาเลย บางทีเขาจะเป็นประโยชน์แก่เราหรือเราจะถือเขาเป็นลูก’ และพวกเขาหารู้สึกตัวไม่” (อัล-เกาะศอศ : 9)

และในสูเราะฮฺเดียวกันนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของสตรีสองท่าน ณ บ่อน้กของมัดยัน และวิธีการที่หนึ่งในสองท่านนั้นได้กล่าวแก่พ่อคือ

“นางคนหนึ่งในสองคนกล่าวว่า ‘โอ้คุณพ่อจ๋า จ้างเขาไว้สิ แท้จริงคนดีที่ท่านควรจะจ้างเขาไว้ คือ ผู้ที่แข็งแรง ผู้ที่ซื่อสัตย์’” (อัล-เกาะศอศ : 26)

ดูวิธีการอันชาญฉลาดของเธอ และเธอรู้ผู้ใดเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมซึ่งเหมาะสมแก่การว่าจ้าง และมอบหมายให้ทำงานได้ และแป็นความโปรดปรานอย่างยิ่งที่คำแนะนำนี้มาสู่ครอบครัวของเธอ

และอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพ

..............................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน  เพื่อชัยชนะ โพสต์




ทำไมอิสลามให้สามีตีภรรยาได้



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ขอกล่าวด้วยความจริงใจ ฉันรู้สึกประหลาดใจจริง ๆ ที่ได้อ่านการตอบคำถามทุก ๆ คำถามที่ชัดเจนของท่านอย่างชาญฉาด ฉันอยากรู้เกี่ยวกับอิสลามมากขึ้นจริง ๆ แต่ทุกครั้งฉันก็ได้รู้สิ่งใหม่ ๆ มันกลับก่อให้เกิดความสงสัยแก่ฉันอย่างยิ่ง ฉันอยากรู้ว่าจริงหรือไม่ ที่อัลกุรอานอนุญาตให้สามีตีภรรยาของเขาได้? หากมันเป็นเรื่องจริงท่านสามารถอธิบายวิธีการของมันได้ไหม ?


คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

เรารู้สึกดีใจอย่างยิ่งทีท่านได้อ่านเว็บไซต์ของเรา และกระตือรือร้นในการเรียนรู้อิสลาม เราขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงนำทางท่านไปสู่ความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ไม่มีปรากฏในอัลกุรอานที่ระบุว่าบุรุษนั้นสามารถสร้างความเจ็บช้ำต่อภรรยาของเขาได้

1. อัลกุรอานสั่งใช้ให้ปฏิบัติต่อภรรยาเป็นอย่างดี เธอต้องได้รับการให้เกียรติและถูกปฏิบัติด้วยความเมตตา แม้ในขณะที่ไม่มีความรู้สึกรักเธอแล้ว อัลลอฮฺตรัสว่า
“และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี หากพวกเจ้าเกลียดพวกนางอาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งขณะเดียวกับอัลลอฮฺก็ทรงให้มีในสิ่งนั้นซึ่งความดีอันมากมาย” (อันนิสาอ์ : 19)

2. อัลกุรอานได้อธิบายว่าสตรีนั้นมีสิทธิของพวกเธอเหนือสามีและเช่นเดียวกันสามีของพวกเธอนั้นก็มีสิทธิเหนือพวกเธอ

“และพวกนางนั้นจะได้รับ (เหนือสามีเช่นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ) เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนางจะต้องปฏิบัติ (เช่นการเชื่อฟัง) โดยชอบธรรม และสำหรับบรรดาชายนั้นมีฐานะเหนือพวกนางชั้นหนึ่ง (ในความรับผิดชอบ) และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 228)

อายะฮฺนี้ชี้ให้เห็นว่าบุรุษนั้นมีสิทธิเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการที่เขามีบทบาทในการปกป้องดูแล และรับผิดชอบในค่าใช้จ่าย (ของภรรยา) เป็นต้น

3. ท่านนบี (ซ.ล.) สั่งให้ปฏิบัติด้วยความเมตตาและให้เกียรติต่อภรรยา และท่านได้อธิบายถึงบุคคลที่ดีที่สุดนั้น คือ ผู้ที่ดีที่สุดต่อภรรยาของเขา ท่านกล่าวว่า :
“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือผู้ที่ดีที่สุดกับครอบครัวของเขา และฉันก็ดีที่สุดในหมู่พวกท่านที่ทำดีกับครอบครัวของฉัน” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์ เลขที่ 3895 และอิบนุ มาญะฮฺ เลขที่ 1977 หะดีษเศาะฮีหฺ โดย ชัยคฺ อัล-บานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อัต-ตัรมีซีย์)

4. ท่านบี (ซ.ล.) ได้กล่าวถ้อยคำที่สวยงามเกี่ยวกับการปฏิบัติด้วยความเมตตาต่อภรรยาของบุคคลหนึ่ง ๆ ว่า เมื่อสามีป้อนอาหารแก่ภรรยาของเขา และใส่ชิ้นอาหารอันโอชะนั้นเข้าไปในปากของเธอ เขาจะได้รับผลรางวัลตอบแทนจากการกระทำที่แสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อนั้น ท่านกล่าวว่า :

“ท่านไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แต่ท่านจะได้รับผลตอบแทนจากมันนั่นคือชิ้นอาหารอันโอชะที่ท่านยกมันเข้าไปในปากของภรรยา” (บันทึกโดย บุคอรีย์ เลขที่ 6352 และมุสลิม เลขที่ 1628)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“จงยำเกรงอัลลอฮฺเกี่ยวกับสตรี แท้จริงพวกท่านได้พวกนางมาด้วยความไว้วางใจจากอัลลอฮฺ (อะมานิลลาฮฺ) และความสัมพันธ์ทางเพศกับพวกนางเป็นที่อนุญาตโดยดำรัสของอัลลอฮฺ สิทธิของพวกท่านที่อยู่เหนือพวกนาง คือ พวกนางจะต้องไม่ให้บุคคลใดนั่งบนที่นอนของพวกท่านซึ่งพวกท่านไม่ชอบ ถ้าพวกนางทำเช่นนั้นแล้วพวกท่านจงตีพวกนาง แต่มิใช่อยู่ในลักษณะที่รุนแรง และสิทธิของพวกนางที่อยู่เหนือพวกท่านคือพวกท่านจะต้องจัดหาค่าเลี้ยงดูและเสื้อผ้าแก่พวกนางอย่างพอเหมาะพอควร” (บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 1218)

อะไรคือความหมายของ “พวกนางจะต้องไม่ให้บุคคลใดนั่งบนที่นอนของพวกท่านซึ่งพวกท่านไม่ชอบ” คือ พวกนางต้องไม่อนุญาตให้บุคคลใดก็ตามที่พวกท่านไม่ชอบ เข้ามาในบ้านของพวกท่าน มานั่งในที่พักของพวกท่าน ไม่ว่าบุคคลที่ไม่ชอบนั้นจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ตาม หรือบุคคลใดจากมะหรอมของเธอ (ญาติสนิทที่ห้ามแต่งงาสน) ข้อห้ามนี้รวมทั้งหมดของพวกเขา” จากคำพูดของ อันนะวะวีย์

ความเข้าใจที่ได้รับจากหะดีษนี้ก็คือ การที่บุรุษมีสิทธิในการตีภรรยาของเขาในลักษณะที่ไม่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ถ้าสิ่งนั้นมีเหตุผลสำหรับการตี เช่น เธอปฏิเสธความต้องการของท่านหรือไม่เชื่อฟังท่าน

สิ่งนี้ตรงกับโองการที่อัลลอฮฺตรัสว่า

“บรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามี เนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้ และบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนางและทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอนและจงเฆี่ยนนาง แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้ว ก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นาง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร” (อันนิสาอ์ : 34)

หากสตรีขัดขืนสามีของเธอ และไม่เชื่อฟังคำสั่งของเขา หลังจากนั้นเขาได้ปฏิบัติตามวิธีการนี้ในการตักเตือนเธอ คือ แยกห้องนอนและตีเธอ การตีนั้นจะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่รุนแรงและไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ท่านหะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า : “สิ่งนี้หมายความว่ามันจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด”

อะฎออ์ กล่าวว่า : ฉันได้กล่าวกับอิบนิอับบาส อะไรคือชนิดของการตีที่ไม่รุนแรง ? เขากล่าวว่า “การตีโดยการใช้ไม้ซิวากและสิ่งที่คล้ายกันนั้น” (ซิวากเป็นไม้ที่มีขนาดเล็ก ๆ หรือกิ่งไม้ ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดฟัน)

วัตถุประสงค์หลักที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้คือการไม่ทำร้ายหรือสร้างความน่าอับอายให้แก่เธอ แต่มีเจตนาที่จะทำให้เธอตระหนักว่า เธอได้ละเมิดสิทธิของสามี และสามีมีสิทธิที่จะปรับปรุงเธอและให้เธออยู่ในครรลองที่ถูกต้อง

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

...............................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์


วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

เธอควรตอบรับการเป็นภรรยาคนที่สอง หรือทำใจอดทน ?



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : ฉันเป็นสตรีที่ถูกหย่าร้าง ในตอนนี้อายุ 40 ปีแล้ว ฉันมาจากครอบครัวที่ดีและมีฐานดี ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ก่อนหน้าที่ ซึ่งเป็นบทเรียนอันยากลำบาก เพราะมันไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการเลือกจากอิสลามและจริยธรรม มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแต่เพียงภายนอกเท่านั้น

ชายคนหนึ่งได้ให้ข้อเสนอแก่ฉันเมื่อไม่นานมานี้ ฉันคิดว่าเขาเป็นคนที่มีจริยธรรม และมีคุณธรรม และเป็นคนที่ศอลิหฺ แต่เขาแต่งงานแล้วและภรรยาของเขาก็เป็นเพื่อของครอบครัวฉัน สำหรับสถานภาพทางสังคมนั้น เขามาจากพื้นเพที่ด้อยกว่าพวกเรา ฉันกลัวว่าสังคมจะประณามการแต่งงานครั้งนี้ ฉันยังกล่าวว่าภรรยาของเขาจะเพ่งเล็งมายังฉันอีกด้วย ทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนของข้อเสนอและขอให้พี่ชายของฉันเป็นพ่อสื่อ จะเป็นอย่างไรหากการแต่งงานครั้งนี้เกิดขึ้น ! ฉันมาจากอียิปต์ และท่านคงรู้ว่าสังคมของชาวอียิปต์นั้นมองภรรยาคนที่สองอย่างไร เมื่อฉันละหมาดอิสติคอเราะฮฺ ฉันรู้สึกสบายใจ และฉันรู้สึกอยากจะบอกพี่ชายของฉันว่า ฉันตกลงยอมรับ (ที่จะแต่งงานกับเขา) แต่กลับกลายเป็นว่าฉันกังวลเมื่อคิดถึงเรื่องของสังคมและผู้คนที่จะสงสัยว่า ทำไมฉันจึงยอมรับคนที่มีสถานะทางสังคมด้อยกว่าฉัน และพรากชายคนหนึ่งมาจากภรรยาและลูก ๆ ของเขา เขาไม่ได้เสนอแก่ฉันเนื่องจากความโลภ มันเป็นเพียงความต้องการที่จะช่วยเหลือมุสลิมะฮฺที่มีความยากลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความรู้ศาสนา เขายังเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้อื่นในการทำสิ่งเดียวกันนี้ เพื่อที่จะปกป้องความบริสุทธิ์ของมุสลิมะฮฺ และดำรงไว้ซึ่งความดีงามของสังคม พี่ชายของฉันเป็นพยานในสิ่งนี้ได้ พี่ชายของฉันสามารถเสนอผู้หญิงที่เด็กกว่าฉันและสวยกว่าฉันให้เขาได้อย่างง่ายดายหากเขาต้องการ

ฉันจะบาปหรือไม่หากฉันปฏิเสธข้อเสนอของเขา ? อยากทราบว่าความคิดเห็นของชัยคฺ ? ฉันจะปฏิเสธและอดใจไว้เพื่อที่ว่าคนอื่นอาจเสนอให้ฉัน – ด้วยความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ?

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยในแนวทางของสังคมมุสลิมจำนวนมาก (รวมถึงสังคมอียิปต์) มองการแต่งงานครั้งที่สองว่าเป็นการทรยศต่อภรรยาคนแรก หรือเป็นสิ่งที่สามีหรือภรรยาคนที่สองจะต้องถูกตำหนิ ไม่เป็นที่สงสัยอีกว่า สิ่งนี้เป็นมุมมองที่ผิด ซึ่งขัดกับกฎหมายของอัลลอฮฺที่อนุญาตให้ผู้ชายนั้นสามารถแต่งงานมีภรรยาได้ถึง 4 คน อัลลอฮฺตรัสว่า :

“ก็จงแต่งงานกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้า ในหมู่สตรี สองคน หรือ สามคน หรือ สี่คน...”(อันนิสาอ์ : 3)

มุสลิมไม่สามารถคัดค้านบทบัญญัติของอัลลอฮฺได้ หรือคิดว่าสิ่งนี้ไม่มีความยุติธรรมใด ๆ หรือเป็นการล่วงละเมิด หรือมีข้อผิดพลาดในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เห็นด้วยกับท่านที่กล่าวว่า : “ฉันสามารถพรากสามีมาจากภรรยาและลูกของเขาได้หรือไม่ ?” ท่านไม่ได้พรากสามีใครไป แต่เขาได้เข้ามาและเสนอตัวของเขาเองให้แก่ท่านด้วยความสมัครใจ ยิ่งกว่านั้นเขายังต้องแบกรับภาระของทั้งสองครอบครัวและทั้งสองบ้านในเวลาเดียวกัน เขาจะไม่ทอดทิ้งภรรยาคนแรกของเขาและลูก ๆ ของเขาเพื่อประโยชน์ของท่าน เช่นนั้นแล้วถือเป็นการพรากเขาไปหรือไม่?

สำหรับความเห็นของภรรยาคนแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวผู้หญิงส่วนใหญ่ (หึงหวง) และเธอต้องการเก็บสามีของเธอไว้สำหรับตัวเธอเอง และไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับใครในตัวของเขา มารดาของผู้ศรัทธา (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุนนะ) ผู้ซึ่งเป็นสตรีที่ประเสริฐที่สุดของอุมมะฮฺนี้ก็มีปัญหาบางสิ่งบางอย่าง เนื่องด้วยความหึงหวง แต่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ให้อภัยแก่พวกนางและไม่ถือโทษพวกนาง

ท่านสามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้ ด้วยกับความสุขและทัศนคติที่ดี แต่มันก็จำเป็นที่ต้องทำใจอดทนกับบางสิ่งที่อาจจะมาจากหล่อน (ภรรยาคนแรก) เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมชาติของผู้หญิง สามียังต้องชาญฉลาดในการจัดการกับทัศนคติดังกล่าว เพื่อที่เขาจะไม่ทำให้ข้อพิพาทและความขัดแย้งนั้นเลวร้ายยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับข้อแนะนำของเราต่อท่านไม่ว่าจะยอมรับเขาเป็นสามีหรือจะรอคอยคนอื่นด้วยความหวังว่าอัลลออฺจะทรงจัดเตรียมสำหรับท่าน คำตอบก็คือ หากท่านหวังว่าอาจมีใครบางคนที่ดีกว่าเขาเข้ามา แล้วไม่มีเหตุผลที่ท่านจะปฏิเสธเขาไม่ได้ แต่หากท่านกลัวว่าขณะนี้ท่านมีอายุมากแล้ว และเนื่องจากสภาวการณ์ของท่านนั้นไม่มีคนอื่นที่ดีกว่าเขา หรือเหมือนกันกับเขาเข้ามา เราคิดว่า - อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง – ว่าท่านควรจะตกลงตอบรับการแต่งงานในครั้งนี้

สำหรับผู้หญิงที่ยอมรับในการเป็นภรรยาคนที่สอง และทำใจอดทนกับปัญหาบางประการจากภรรยาคนแรกหรือสังคมรอบ ๆ ตัวเธอได้ ก็จะเป็นเรื่องง่ายกว่าการที่เธอจะอยู่โดยปราศจากสามี

เราขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ประทานสิ่งที่ดีที่ง่ายดายแก่ท่านในทุกหนทุกแห่ง และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง


.......................................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์




หากสามีของฉันมีภรรยาคนที่สอง ฉันจะได้รับรางวัลตอบแทนหรือไม่ ?



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................
คำถาม : อะไรคือรางวัลตอบ “อัจญ์รฺ” สำหรับภรรยาคนแรกที่อดทน “ศ็อบรฺ” เมื่อสามีมีภรรยาคนที่สอง ? จะมีรางวัลตอบแทนพิเศษในกรณีนี้หรือไม่ หรือเหมือนกันกับรางวัลตอบแทนสำหรับผู้หญิงทุกคนที่เชื่อฟังสามีของพวกเธอ และทำหน้าที่ของพวกเธอในศาสนา ? หากฉันต้องการทราบเกี่ยวกับรางวัลตอบแทนพิเศษ ที่เป็นสิ่งซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการยอมรับเรื่องนี้ บางคนกล่าวว่า รางวัลตอบแทนที่พิเศษสำหรับสิ่งนี้มีมากกว่ารางวัลตอบแทนสำหรับมุอ์มิน (ผู้ศรัทธาชาย) ที่ออกไปญิฮาด การยอมรับการมีภรรยาหลายคนสำหรับภรรยาคนแรกนั้นเป็นมากกว่าการญิฮาด เรื่องนึ้มี “ดะลีล” (หลักฐาน) หรือไม่ ? หรือท่านทราบเกี่ยวกับผลตอบแทนอื่น ?
คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ประการแรก :
เราไม่ทราบว่ามีหลักฐานเศาะฮีหฺใด ๆ เลย ที่เอ่ยถึงรางวัลตอบแทนดังกล่าว แต่ อัล-เฏาะบะรอนีย์ รายงานจากอิบนุ มัสอูด ว่า ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
“อัลลอฮฺทรงกำหนดให้มีความหึงหวงสำหรับสตรี และการญิฮาดสำหรับบุรุษ ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่อดทนด้วยความขันติจากความศรัทธาและความหวังที่จะได้รับรางวัลตอบแทน ก็จะมีรางวัลตอบแทนเช่นเดียวกับชะฮีดไ
นี่คือหะดีษเฎาะอีฟ (สายรายงานอ่อน) โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เฎาะอีฟ อัล-ญามิอฺ อัล-เศาะฆีรฺ เลขที่ 1626
ประการที่สอง :
ผู้หญิงที่อดทนในการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ต่อสามีของเธอ คือหนึ่งในวิถีทางของการเข้าสู่สวรรค์ ดังที่กล่าวไว้ในหะดีษซึ่งบันทึกโดย อิบนุ หิบบาน ว่า
“สตรีที่รักษาการละหมาด 5 เวลา และถือศีลอด (ในเดือนเราะมะฎอน) และปกป้องความบริสุทธิ์ของเธอ และเชื่อฟังสามีของเธอ ก็จะมีผู้กล่าวแก่เธอว่า “เชิญเข้าสู่สวรรค์จากประตูใดก็ได้ตามที่เธอปรารถนา”
หะดีษนี้เศาะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัล-เศาะฆีรฺ เลขที่ 660
ความอดทนของเธอในการแต่งงานครั้งที่สองของสามี จะนำมาซึ่งรางวัลตอบแทนที่พิเศษยิ่งกว่าและเหนือกว่า ด้วยหลายสาเหตุ
1. สามีของเธอได้แต่งงานกับภรรยาคนอื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นบททดสอบสำหรับเธอ และหากเธอนั้นอดทนด้วยความขันติ เธอจะได้รับรางวัลตอบแทนสำหรับความอดทนในการเผชิญกับบททดสอบ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า :
“แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ” (อัซชุมัรฺ : 10)
สอดคล้องกับหะดีษที่ว่า
“ไม่ว่าสิ่งใดที่มาประสบกับมุสลิมคนหนึ่ง จากความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บป่วย ความหม่นหมอง ความโศกเศร้า ภัยอันตราย และความกลัดกลุ้ม แม้กระทั่งหนามที่เขาที่เขาโดนตำ นอกเสียจากว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ ของเขาด้วเยหตุนั้น”
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 5642 และมุสลิม เลขที่ 2573 จากหะดีษของ อบูสะอีดและอบูฮุร็อยเราะฮฺ)
อัต-ติรมีซีย์ (เลขที่ 2399) รายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ ว่า ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
“การทดสอบยังคงประสบกับผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง ทั้งในตัวของเขา ลูกของเขา และทรัพย์สินของเขา จนกว่าเขาจะไปพบกับอัลลอฮฺ โดยไม่มีความผิดแก่เขาเลย”
(หะดีษเศาะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัล-เศาะฆีรฺ เลขที่ 5815)
2. หากผู้หญิงยอมรับในสิ่งนั้นและปฏิบัติต่อสามีและภรรยาคนอื่น ๆ เป็นอย่างดียิ่ง (อิหฺสาน) เธอจะได้รับรางวัลตอบแทนของ “มุหฺสินีน” (ผู้ที่มีอีหฺสาน – บุคคลที่ประกอบความดีที่งดงามระดับสูง) อัลลอฮฺตรัสว่า :
“แท้จริงผู้ใดที่ยำเกรงและอดทน แน่นอนอัลลอฮฺจะมิทรงให้รางวัลของบรรดาผู้ทำความดี (มุหสินีน) สูญหาย” (ยูซุฟ : 90)
“จะมีการตอบแทนความดี (อิหฺสาน) อันใดเล่านอกจากความดี (อิหฺสาน)” (อัรฺ-เราะหฺมาน) : 60)
“และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย (มุหฺสินีน)” (อัล-อังกะบูต) : 69)
3. หากเธอรู้สึกโกรธเนื่องจากสิ่งนั้น แต่เธอควบคุมอารมณ์โกรธของเธอและควบคุมคำพูดนั้นได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการข่มความโกรธ อัลลอฮฺตรัสว่า :
“และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย (มุหฺสินีน)” (อาละอิมรอน : 134)
รางวัลตอบแทนนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมสำหรับการที่ผู้หญิงเชื่อฟังสามีของเธอภายใต้สภาวะปกติ
ผู้หญิงที่ชาญฉลาดจะยอมรับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้สำหรับเธอ และเธอจะตระหนักว่าการที่สามีของเธอแต่งงานกับหญิงอื่นนั้นเป็นที่อนุญาต ดังนั้นเธอไม่ควรคัดค้านมัน อาจเป็นไปได้ว่าการแต่งงานครั้งที่ (ครั้งที่ 2) จะทำให้เขาบริสุทธิ์มากขึ้นและป้องกันเขาจากการกระทำสิ่งที่หะรอม
มันเป็นสิ่งเลวร้ายมากที่ผู้หญิงบางคนคัดค้าน โดยยอมให้เขากระทำในสิ่งที่หะรอมมากกว่าการที่เขาจะไปแต่งงานกับหญิงอื่น ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้ได้รับการอนุญาต นี่เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงการขาดเหตุผลและการกรทำผิดในศาสนา
ผู้หญิงควรตามแบบอย่างที่ดีของบรรดาภรรยาของท่านนบี (ซ.ล.) และบรรดาเศาะหาบียะฮฺที่อดทนและต้องการผลรางวัลตอบแทน แม้ว่าหลายครั้งที่พวกท่านเหล่านั้นรู้สึกหึงหวงก็ตาม หากสามีของท่านเดินหน้าและจะมีภรรยาคนที่สอง แล้วท่านอดทนและตั้งสติ และปฏิบัติต่อเขาอย่างดี ท่านก็จะได้มาซึ่งรางวัลตอบแทนของผู้ที่อดทนและประกอบความดีงาม
โปรดตระหนักเถิดว่าชีวิตนี้เป็นชีวิตของการพิสูจน์และการทดสอบและจบลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นขอแสดงความยินดีกับผู้ที่อดทนในการเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺในชีวิตนี้จนกระทั่งเขาได้มาซึ่งความสุขอันถาวรในสวรรค์
และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
.......................................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์





มุสลิมสำมะโนครัว



อิบนุอะบิลอิซ อัดดะมัชกีย์ (ร.ฮ) กล่าวถึง ลักษณะของ มุสลิมสัมมะโนครัว ว่า

حَالُ كَثِيرٍ مِنَ النَّاسِ مِنَ الَّذِينَ وُلِدُوا عَلَى الْإِسْلَامِ ، يَتْبَعُ أَحَدُهُمْ أَبَاهُ فِيمَا كَانَ عَلَيْهِ مِنِ اعْتِقَادٍ وَمَذْهَبٍ ، وَإِنْ كَانَ خَطَأً لَيْسَ هُوَ فِيهِ عَلَى بَصِيرَةٍ ، بَلْ هُوَ مِنْ مُسْلِمَةِ الدَّارِ ، لَا مُسْلِمَةِ الِاخْتِيَارِ ، وَهَذَا إِذَا قِيلَ لَهُ فِي قَبْرِهِ : مَنْ رَبُّكَ ؟ قَالَ ؟ هَاهْ هَاهْ ، لَا أَدْرِي ، سَمِعْتُ النَّاسَ يَقُولُونَ شَيْئًا فَقُلْتُهُ .

สภาพส่วนมากของมนุษย์ จากบรรดาผู้ที่ถูกกำเนิดมาในอิสลาม คนหนึ่งในหมู่พวกเขา ปฏิบัติตาม พ่อของเขา ในสิ่งที่พ่อของเขายึดถืออยู่บนสิ่งนั้น จากความเชื่อและมัซฮับ และแม้พ่อของเขาผิดพลาด โดยที่เขาไม่ได้อยู่บนความรู้ ความชำนาญในมัน ยิ่งไปกว่านั้น เขาคือ ส่วนหนึ่งจาก มุสลิมสัมมะโนครัว ไม่ใช่มุสลิมของการเลือกเฟ้น(การติดสินใจเลือกด้วยตนเอง) และมุสลิมแบบนี้ เมื่อถูกกล่าว(หมายถึงถูกสอบสวน)แก่เขาในหลุมศพของเขา ว่า “ใครคือพระผู้อภิบาลของเจ้า ? เขากล่าวว่า เออะ..เออ ..ข้าไม่รู้ ข้าได้ยินบรรดาผู้คน พูดสิ่งใด ข้าก็พูดมัน(ตามนั้น) – ชัรหุอะกีดะฮ อัฏเฏาะหาวียะฮ เล่ม 1 หน้า 317

สรุปคือ

มุสลิมสัมมะโนครัว (มุสลิมะตุดดารฺ) คือ ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวอิสลาม เขาถือศาสนา ในด้านความเชื่อ และมัซฮับตามพ่อแม่ แม้ว่า พ่อแม่จะผิดพลาด โดยที่ เขาก็ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในศาสนา คนประเภทนี้เมื่อถูกสอบสวนในหลุมศพ เขาก็ตอบว่า ไม่รู้ เขาได้ยินผู้คนพูด เขาก็ปฏิบัติตามนั้น

والله اعلم بالصواب

............................
อะสัน  หมัดอะดั้ม



สามประการที่ทำให้เสียหายแก่ศาสนา




قَالَ عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ ، رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : " ثَلاثٌ يَهْدِمْنَ الدِّينَ : زَيْغَةُ الْعَالِمِ ، وَجِدَالُ مُنَافِقٍ بِالْقُرْآنِ ، وَأَئِمَّةٌ مُضِلُّونَ "

ท่านอุมัร บิน อัลคอ็ฏฏอบ (ร.ฏ)กล่าวว่า สามประการที่ทำให้เสียหายแก่ศาสนา
1. ความผิดพลาดของผู้รู้
2. การโต้แย้งของมุนาฟิก
3. บรรดาผู้นำที่ทำให้หลงผิด
บันทึกโดย อัดดาเราะมีย์ ด้วยสายสืบที่เศาะเฮียะ 1/71

สายรายงานที่อิบนุอับดิลบัร ได้กล่าวเอาไว้ใน ญามิอุ บะยานิลอิลมิ วะฟัฏฎลิฮ หะดิษหมายเลข 1127

أَخْبَرَنَا أَخْبَرَنَا عَبْدُ اللَّهِ بْنُ مُحَمَّدِ بْنِ عَبْدِ الْمُؤْمِنِ ، قَالَ : أنا أَبُو الْحُسَيْنِ أَحْمَدُ بْنُ عُثْمَانَ الآدَمَيُّ ، قَالَ : حَدَّثَنَا عَبَّاسٌ الدُّورِيُّ ، ثنا مُحَمَّدُ بْنُ بِشْرٍ الْعَبْدِيُّ ، قَالَ : حَدَّثَنَا مُجَالِدٌ ، عَنْ عَامِرٍ ، عَنْ زِيَادِ بْنِ حُدَيْرٍ ، قَالَ : قَالَ عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ ، رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : " ثَلاثٌ يَهْدِمْنَ الدِّينَ : زَيْغَةُ الْعَالِمِ ، وَجِدَالُ مُنَافِقٍ بِالْقُرْآنِ ، وَأَئِمَّةٌ مُضِلُّونَ " . وَذَكَرَ ابْنُ مُزَيْنٍ ، عَنْ أَصْبَغَ ، عَنْ جَرِيرٍ الضَّبِّيِّ ، عَنِ الْمُغِيرَةِ ، عَنِ الشَّعْبِيِّ ، عَنْ زِيَادِ بْنِ حُدَيْرٍ ، قَالَ : أَتَيْتُ عُمَرَ بْنَ الْخَطَّابِ ، رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ ، فَذَكَرَ مَعْنَاهُ

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

อ้างรักอัลลอฮ แต่ถ้าไม่ตามสุนนะฮรอซูล คือการอ้างเท็จ


อัลลอฮตาอาลาตรัสว่า

قُلْ إِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَحِيمٌ

จงประกาศเถิด(โอ้มุหัมหมัด) ว่า “หากพวกท่านรักอัลลอฮ จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮก็จะรักพวกท่านและอภัยความผิดของพวกท่าน ให้แก่พวกท่าน และอัลลอฮ คือ ผู้ทรงอภัยและเมตตายิ่ง – อาลิอิมรอน/31
ท่านอิบนุกะษีร อธิบายว่า
هَذِهِ الْآيَةُ الْكَرِيمَةُ حَاكِمَةٌ عَلَى كُلِّ مَنِ ادَّعَى مَحَبَّةَ اللَّهِ ، وَلَيْسَ هُوَ عَلَى الطَّرِيقَةِ الْمُحَمَّدِيَّةِ فَإِنَّهُ كَاذِبٌ فِي دَعْوَاهُ فِي نَفْسِ الْأَمْرِ ، حَتَّى يَتَّبِعَ الشَّرْعَ الْمُحَمَّدِيَّ وَالدِّينَ النَّبَوِيَّ فِي جَمِيعِ أَقْوَالِهِ وَأَحْوَالِهِ ، كَمَا ثَبَتَ فِي الصَّحِيحِ عَنْ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ قَالَ : " مَنْ عَمِلَ عَمَلًا لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ

อายะฮอันทรงเกียรตินี้ คือ ผู้ตัดสิน (เอาผิด)บน ทุกๆคน ที่อ้างว่ารักอัลลอฮ โดยที่เขาไม่ได้อยู่บนแนวทางของมุหัมหมัด ,ในความเป็นจริง เขาคือ ผู้กล่าวเท็จในการอ้างของเขา จนกว่า เขาจะเจริญรอยตามบัญญัติแห่งมุหัมหมัด และศาสนาแห่งนบี ในบรรดาคำพูดและการกระทำของเขาทั้งหมด ดังหะดิษที่ยืนยันไว้ในอัศเศาะเฮียะ จากท่านรซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดประกอบการงาน(อะมั้ลอิบาดะฉ)ใด ที่ไม่ใช่กิจการของเราบนมัน มันถูกปฏิเสธ”
- ดู ตัฟสีรอิบนุกะษีร เล่ม 2 หน้า 33

والله أعلم بالصواب

อย่่าเศร้าใจไป อัลลอฮ์นั้นอยู่กับเรา


แกนนำแห่งการตั้งภาคีปฏิเสธศรัทธาต่างกำลังค้นหาตัวท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และสหายของท่าน พวกเขาขี่พาหนะตามหาทั้งสองทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งไปถึงภูเขาษูร พวกเขาได้หยุดอยู่บนปากถ้ำที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)สหายของท่านซ่อนตัวอยู่

อบูบักร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์) เห็นพวกเขาท่านรู้สึกกระวนกระวายและเศร้าโศกเสียใจมากที่พวกเขาจะมีชัยเหนือท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มองไปยังอบูบักร และกระซิบบอกท่านเพื่อคลายความกังวลว่า

"อย่าเศร้าใจไป !! อัลลอฮฺนั้นอยู่กับเรา"

อบูบักร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์) กล่าวด้วยเสียงหวาดกลัวว่า

"หากพวกคนใดมองมายังเท้าของตนเองต้องเห็นเราแน่นอน"

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงตอบว่า

"อบูบักร .. ท่านคิดอย่างไรกับคน 2 คนที่อัลลอฮฺคือผู้ที่สาม

แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ลุกขึ้นละหมาดและขอดุอาอ์ อัลลอฮฺได้ประทานอายะฮ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า



إِلَّا تَنصُرُوهُ فَقَدْ نَصَرَهُ اللَّهُ إِذْ أَخْرَجَهُ الَّذِينَ كَفَرُوا ثَانِيَ اثْنَيْنِ إِذْ هُمَا فِي الْغَارِ إِذْ يَقُولُ لِصَاحِبِهِ لَا تَحْزَنْ إِنَّ اللَّهَ مَعَنَا فَأَنزَلَ اللَّهُ سَكِينَتَهُ عَلَيْهِ وَأَيَّدَهُ بِجُنُودٍ لَّمْ تَرَوْهَا وَجَعَلَ كَلِمَةَ الَّذِينَ كَفَرُوا السُّفْلَىٰ وَكَلِمَةُ اللَّهِ هِيَ الْعُلْيَا وَاللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ ( 40 )

“ถ้าหากพวกจ้าไม่ช่วยเขา ก็แท้จริงนั้นอัลลอฮ์ได้ทรงช่วยเขามาแล้ว ขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ได้ขับไล่เขาออกไปโดยที่เขาเป็นคนที่สองในสองคน ขณะที่ทั้งสอง อยู่ในถ้ำนั้นคือขณะที่เขา ได้กล่าวแก่สหายของเขา ว่า ท่านอย่าเสียใจ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับเรา แล้วอัลลอฮ์ก็ทรงประทานลงมาแก่เขา ซึ่งความสงบใจจากพระองค์ และได้ทรงสนับสนุนเขาด้วยบรรดาไพร่พล ซึ่งพวกเจ้าไม่เห็นพวกเขา และได้ทรงให้ถ้อยคำ ของผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาอยู่ในระดับต่ำสุด และพจนารถของอัลลอฮ์นั้น คือพจนารถที่สูงสุด และอัลลอฮ์คือ ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ 9:40)


.....................................
101 เรื่องเล่าจากชีวิต "อบูบักรอัศศิดดีก"


วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

รูงู


ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และสหายของท่าน (อบูบักร) ได้หลบตัวอยู่ในถ้ำอับแสง ซ่อนตัวไว้ในความมืดมิด การขู่คำรามของเหล่าผู้ตั้งภาคีที่ติดตามล่าตัวท่านได้เงียบสงบลง ขณะที่ความมืดมิดได้คืบคลาน เวลาพักผ่อนที่มาถึงทำให้เปลือกตาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ต้องปรือปิดลง ท่านวางศีรษะลงนอนบนตักรอบูบักร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์)

ขณะที่ท่านนบีอยู่ในสภาพนั้น เท้าของอบูบักรที่กำลังอุดรูงูอยู่ก็ถูกฉก แต่ท่านกลับไม่ขยับตัวไปไหนด้วยเกรงว่าจะทำให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ตกใจ หรือตื่นขึ้นมา

ด้วยความเจ็บปวดน้ำตาของอบูบักร (ร่อฎียัลลอฮอุอันฮ์) ได้หยดลงบนใบหน้าของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงตื่นขึ้นแล้วกล่าวว่า
"ท่านเป็นอะไรหรืออบูบักร?"

อบูบักรจึงเล่าให้ท่านนบีฟังถึงการกระทำของตนเอง

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงยกมือขึ้นขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ
"โอ้อัลลอฮฺได้โปรดให้อบูบักรอยู่พร้อมกับฉัน ณ ตำหน่งเดียวกันในวันกิยามะฮ์ด้วยเถิด"

แล้วอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็ประทานวะฮฺีย์ลงมาให้แก่ท่านนบี ว่า
"ความจริงอัลลอฮฺได้ตอบรับดุอาอ์ท่านแล้ว"

อุมัร อิบนุลค็อฏฏ็อบ  (ร่อฎียัลลอฮอุอันฮ์) จึงกล่าวว่า
"ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตฉันอยู่ในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ คืนนั้นของอบูบักรมีความประเสริฐกว่าเวลาทั้งหมดของวงศ์วานอุมัร"

.....................................
101 เรื่องเล่า จากชีวิต "อบูบักร อัศศดดีก"




บรรดาอิบาดะฮ ที่ตั้งของมัน อยู่บนอัสสุนนะฮและการปฏิบัติตามรอซูล



อิบนุ อะบิลอิซ (ร.ฮ)กล่าวว่า

والعبادات مبناها على السنة والإتباع لا على الهوى والابتداع "

บรรดาอิบาดะฮ ที่ตั้งของมัน อยู่บน อัสสุนนะฮและการปฏิบัติตามรอซูล ไม่ใช่บนการตามอารมณ์(ความคิดเห็น)และการอุตริบิดอะฮ

شرح الطحاوية ص/37 وانظر الفتاوى لإبن تيمية (4/170

คอลิด บิน อัล-วะลีด ดาบของอัลลอฮฺ



โดย ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อิสมาน จารง


ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนของประวัติผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งจากบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในประชาชาติอิสลาม เป็นวีรบุรุษท่านหนึ่ง และเป็นสุดยอดอัศวินผู้กล้า เขาเป็นเศาะหาบะฮฺที่ยิ่งใหญ่ของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) เราคัดประวัติส่วนหนึ่งท่านที่หอมกรุ่น แฝงด้วยข้อคิดและบทเรียนอันมากมายมากล่าว
ท่านคอลิดรับอิสลามในปีที่แปดฮิจญ์เราะฮฺ และเข้าร่วมสงความมากมายหลายครั้ง
นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า “เขาไม่เคยพ่ายแพ้ในสงครามใดเลยทั้งสงครามก่อนที่เขาจะเข้ารับอิสลามและหลังจากที่เขาเข้ารับอิสลามแล้ว” เขากล่าวถึงตัวเองว่า “ในวันสงครามมุอ์ตะฮฺนั้นดาบในมือฉันหักเก้าเล่ม ไม่เหลือในมือฉันนอกจาก เศาะฟีหะฮฺ ยะมานียะฮฺ” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/146 หมายเลข 4265) สิ่งนี้แสดงถึงความกล้าหาญอย่างมากของท่าน และความแข็งแรงอย่างมากที่อัลลอฮฺประทานให้กับร่างของท่าน ท่านยังเป็นผู้นำกองทัพมุสลิมในสงครามอัล-ญะมามะฮฺและสงครามยัรมูก สองสงความที่โด่งดัง และท่านพร้อมกับทหารของท่านเดินทางผ่านทะเลทรายตั้งแต่พรมแดนอิรักไปจนสุดแคว้นชามในเวลาเพียงห้าคืน และนี่เป็นหนึ่งในความประหลาดของแม่ทัพผู้นี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ให้สมญานามท่านว่าเป็น ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมาจากฝัก ท่านนบีบอกว่าเขาเป็นดาบของอัลลอฮฺที่อัลลอฮฺนำมาเพื่อปราบบรรดามุชริกีนและมุนาฟิกีน (มุสนัด อิมาม อะห์หมัด 1/8)
เขาคืออัศวินที่ชื่อว่า คอลิด บิน อัล-วะลีด บิน อัล-มุฆีเราะฮฺ อัล-กุเราะชีย์ อัล-มัคซูมีย์ อัล-มักกีย์ เป็นลูกของพี่สาวของท่านหญิงมัยมูนะฮฺ บินตี อัล-หาริษ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา (ภรรยาของท่านนบี) เขาเป็นชายร่างใหญ่ ไหล่กว้าง แข็งแรงบึกบึน คล้ายกับอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ มากที่สุด เศาะหาบะฮฺท่านนี้มีเหตุการณ์สำคัญๆ มากมายที่แสดงถึงกล้าหาญของท่านและการทุ่มเทให้ความช่วยเหลือศาสนาอิสลามของท่าน เช่น ในสงครามมุอ์ตะฮฺที่โด่งดัง ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่แปดฮิจญ์เราะฮฺ ปีเดียวกันกับคอลิดเข้ารับอิสลาม ทหารมุสลิมมีจำนวนสามพันคน ในขณะที่ทหารโรมันมีจำนวนถึงสองแสนคน เนื่องจากจำนวนไม่เหมาะสมกัน ทำให้เห็นความเป็นผู้นำรบที่ยิ่งใหญ่ในหมู่มุสลิม ท่านนบีได้แต่งตั้งผู้นำทัพให้แก่ ซัยด์ บิน หาริษะฮฺ หากเขาถูกฆ่า ก็ให้ท่านยะอฺฟัรฺ บิน อบี ฏอลิบ นำแทน และหากยะอฺฟัรฺตายก็ให้อับดุลลอฮฺ บิน เราะวาหะฮฺ นำทัพต่อ สุดท้ายทั้งหมดก็ตายชะฮีด หลังจากนั้นท่านษาบิต บิน อัรก็อม ได้คว้าธงรบชูไว้ แล้วถามบรรดาทหารมุสลิมว่า พวกท่านจงแต่งตั้งผู้นำทัพของเราหนึ่งคน แล้วพวกเขาก็เลือกคอลิด บิน อัล-วะลีด
ตรงนี้เองความกล้าหาญยิ่งของท่านคอลิด และความฉลาดยิ่งของท่านจึงปรากฏชัดขึ้น ท่านได้เริ่มจัดขบวนทหารใหม่โดยให้ทหารที่รบด้านขวาย้ายไปด้านซ้ายและให้ทหารบางส่วนมาอยู่แนวหลังแล้วแสดงให้ดูเสมือนว่า มีกองหนุนเพิ่มมา เพื่อทำลายขวัญของสัตรู แล้วให้มุสลิมบุกหนัก เพื่อให้โรมันถอยและเสียขวัญ ตัวท่านเองก็ได้แสดงความกล้าหาญหลายอย่าง จนผู้กล้าและวีรบุรุษหลายคนไม่อาจเลียนแบบได้ และด้วยความฉลาดของท่าน ท่านได้ใช้วิธีการที่แยบยลในการถอยทัพอย่างเป็นระบบ และจบการสู้รบเพียงเท่านั้นเพราะท่านเห็นว่าไม่ควรสู้ต่อไปเพราะความไม่สมดุลของปริมาณทหาร และท่านนบีได้ให้สมญาการถอยทัพนี้ว่าเป็นชัยชนะ ท่านได้กล่าวขณะที่ท่านสดุดีเกียรติของแม่ทัพทั้งสามที่ตายไปว่า “แล้วธงรบก็ถูกถือโดยดาบหนึ่งจากบรรดาดาบของอัลลอฮฺ จนกระทั่งอัลลอฮฺได้ให้ชัยชนะ” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/33 หมายเลข 3757)
ท่านคอลิดยังได้ร่วมในสงความปราบปรามกลุ่มพวกมุรตัด สงครามพิชิตอิรัก และบรรดานักประวัติศาสตร์มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องสาเหตุที่ท่านถูกปลดจากการเป็นแม่ทัพในการเปิดประเทศชาม ที่ถูกต้องแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่มีรายงานจากท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านกล่าวว่า “ไม่เลย อย่างไรเสียฉันก็จะปลดคอลิดอย่างแน่นอน เพื่อที่ผู้คนจะได้รู้ว่า แท้จริง อัลลอฮฺสามารถที่จะช่วยเหลือศาสนาของพระองค์ให้ได้รับชัยชนะ แม้จะเป็นคนอื่นนำทัพแทนคอลิดก็ตาม” (สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ 1/378)
ส่วนหนึ่งจากบรรดาคำพูดของท่านที่โดดเด่นคือ ท่านกล่าวว่า “คืนที่ฉันได้รับการมอบเจ้าสาวที่ฉันรัก ก็ยังไม่เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉันมากกว่า คืนที่แสนจะหนาวเหน็บ มีหิมะตกแล้วฉันเดินอยู่พร้อมกับบรรดามุฮาญิรีนในขบวนทหารหนึ่งที่ถูกส่งไปสู้รบจนรุ่งเช้าเพื่อรบกับศัตรูของอิสลาม” (สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ 1/375)
ท่านได้เขียนจดหมายไปยังชาวเปอร์เซีย ในนั้นท่านกล่าวว่า “แท้จริง ฉันได้นำกองทัพหนึ่งที่พวกเขารักความตาย(ในสนามรบ) เหมือนกับที่ชาวเปอร์เซียรักการดื่มสุรา”
และท่านก็อยส์ บิน อบี ฮาซิม ได้กล่าวว่าฉันได้ยินท่านคอลิดกล่าวว่า “การออกไปทำสงครามในหนทางของอัลลอฮฺได้ทำให้ฉันไม่มีเวลาในการเรียนรู้อัลกุรอาน” (ท่านอัลหาฟิษ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ใน หนังสืออัลมะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮฺ 4041)
ท่านอบู อัซ-ซินาด ได้กล่าวว่า ”เมื่อใกล้สิ้นใจ ท่านคอลิดได้ร้องไห้ และรำพันว่า ‘แท้จริงฉันได้ร่วมในสงครามนั้นสงครามนี้มากมาย และบนร่างกายฉันนี้ ไม่มีที่ว่างแม้คืบเดียวนอกจากจะมีรอยบาดแผลจากคมดาบ ธนูและหอก แล้วนี่ฉันต้องตายอยู่บนเตียงนอนเหมือนเช่นอูฐตายกระนั้นหรือ ตาของผู้ที่ขี้คลาดคงไม่หลับสนิทหรอก’ แท้จริงท่านคอลิดหวังที่จะตายชะฮีดในสนามรบ และเราหวังจากอัลลอฮฺว่าพระองค์จะให้ท่านจะได้รับผลบุญการตายชะฮีดดังที่หวัง” เพราะมีรายงานจากท่านสะฮ์ลฺ บิน อบี อุมามะฮฺ บิน สะฮ์ลฺ บิน หะนีฟ จากปู่ของท่านว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
ความว่า “ผู้ใดที่ขอดุอาอ์จากอัลลอฮฺ ให้ได้รับการตายชะฮีดด้วยใจจริง อัลลอฮฺจะให้เขาได้บรรลุถึงระดับผู้ตายชะฮีด แม้เขาจะนอนตายอยู่บนที่นอนก็ตาม” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 3/1517
หมายเลข 1909)
และในขณะที่ท่านคอลิดเสียชีวิตนั้นท่านไม่ได้ทิ้งสมบัติใดนอกจาก ม้ารบหนึ่งตัว ดาบหนึ่งเล่มและทาสหนึ่งนาย ซึ่งท่านได้บริจาคให้เป็นทรัพย์สินในหนทางของอัลลอฮฺ เมื่อข่าวนี้ไปถึงยังท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ ท่านอุมัรฺได้กล่าวว่า “ขออัลลอฮฺเมตตาอบู สุลัยมาน (คอลิด) เขาเป็นดังที่เราคิดไว้จริงๆ” (สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ 1/383)
และในหะดีษของท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบในเรื่องซะกาต ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
ความว่า “ส่วนคอลิดนั้น เขาได้มอบเสื้อเกราะและอาวุธต่างๆ ของเขาไว้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/447 หะดีษมุอัลลัก ในเรื่องสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซะกาต)
ท่านคอลิดได้เสียชีวิตในปีที่ 21 ฮิจญ์เราะฮฺที่เมือง หิมศ์ (ฮอมส์) โดยมีอายุ 58 ปี (สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ 1/383)
ขออัลลอฮฺทรงเมตตพึงพอพระทัยในตัวท่านคอลิดและตอบแทนท่านแทนอิสลามและบรรดามุสลิมทั้งมวลด้วยการตอบแทนที่ดียิ่ง และรวบรวมเรากับท่านในสรวงสวรรค์ของพระองค์ด้วย อามีน

.......................................................
โดย ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อิสมาน จารง
ที่มา - Blogs ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่
http://ansorimas200.blogspot.com/
http://ansorimas.blogspot.com/2013/09/blog-post.html




บะรอกะฮฺ ข่าน(Berke Khan)บุรุษผู้พิชิตมองโกล



เขียนโดย อบู อับบาส

ในหน้าประวัติศาสตร์โลกมุสลิม มีความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบีอยู่ 3 ครั้งใหญ่ๆ นั่นคือ การรุกรานของมองโกล, สงคราม Crusade, และการล่มสลายของอาณาจักรอุษมานิยะฮฺ (ออตโตมาน) อะซานในวงเล็บคราวนี้ จะพูดถึงเรื่องแรกกัน
ในช่วงศตวรรษที่ 12-13 เป็นช่วงที่มองโกลแผ่แสนยานุภาพกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เกินกว่าครึ่งโลก ใครจะคาดคิดว่าชาวเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือของจีนจะกล้าหาญและสามารถพิชิตอาณาจักรต่างๆ เรื่อยมาตั้งแต่ จีน เกาหลี รัสเซีย อินเดีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และบางส่วนของอาหรับ การแผ่อิทธิพลของมองโกลสร้างความครั่นคร้ามให้กับโลกอย่างมากมาย เพราะนอกจากทัพมองโกลจะไร้ความปรานีแล้วยังมีความเก่งกาจทางการรบบนหลังม้าเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า หากพวกเขาจะครองโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้
แต่แล้วความเกรี้ยวกราดของทัพมองโกลก็หยุดอยู่เพียงชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเพราะอะไร เรามาเปิดวงเล็บกัน
สงครามที่เป็นจุดพลิกผันการแผ่ขยายอำนาจของมองโกลนั้นคือ สงครามอัยนฺ ญาลูต ซึ่งสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่นักประวัติศาสตร์บันทึกว่าเป็นสงครามที่มีผลกระทบสำคัญต่อโลกทั้งหมด เนื่องจากหากสงครามครั้งนี้ฝ่ายมองโกลเป็นฝ่ายมีชัย แน่นอนว่า มองโกลจะสามารถบุกเข้าไปยังยุโรป, คาบสมุทรอาหรับ, แอฟริกา ได้ทั้งหมด อันเป็นผลให้โลกสูญเสียอย่างใหญ่หลวง แต่ครั้งนั้น ทัพมุสลิมโดยการนำของราชวงศ์มัมลู๊กของอิยิปต์สามารถหยุดการรุกรานของมองโกลไว้ได้
สงครามครั้งนี้มีอะไรหลายๆ อย่างให้น่าพูดถึง แต่ที่ผมจะนำเสนอกลับเป็นอีกเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบ ในการหยุดมองโกลไม่ให้มีโอกาสกลับมาพิชิตโลกมุสลิมได้อีกต่อไปนั้น มีบุรุษอีกคนที่มีบทบาทอย่างมากในการหยุดการรุกรานของทัพมองโกล นั่นคือ บะรอกะฮฺ ข่าน
ใช่แล้วเจ้าชายมองโกลคนนี้แหละครับ ที่หยุดทัพมองโกล!
ข่านมุสลิมแห่งอาณาจักรโกลเดนฮอร์ด (Golden Horde)
เตมูจิน เจงกิสข่าน มีบุตรชาย 4 คน โจชิ (Jochi) เป็นบุตรคนโต
ภายหลังการตายของเจงกิสข่าน โอเกดิ ข่าน ลูกคนที่ 3 ของเตมูจินได้สืบทอดบัลลังก์ต่อ
เบอร์ก ข่าน เป็นลูกชายคนคนที่ 3 ในจำนวน 14 คนของ โจชิ เป็นหลานแท้ๆ ของเจงกิสข่านผู้ยิ่งใหญ่ ปีค.ศ. 1236 เบอร์ก ข่าน (Berke Khan) และพี่น้องของเขา ได้รับบัญชาจากข่าน โอเกดิ ข่าน จักรพรรดิ์มองโกลให้ ยกทัพ 150,000 คนเข้าสู่ไซบีเรียและเขตของอาณาจักรมุสลิม หลังจากนั้นท่านได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ตอนเหนือของคอเซซัส เพื่อยึดเมืองคิพชัค (Kipchaks) ภายใต้การนำของ บาตู ข่าน (Batu Khan)
บาตู และเบอร์กนำทัพมองโกลที่เข้ายึดครองรัสเซียและประเทศในแถบนั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามโกลเดนฮอร์ด ซึ่งต่อมา บาตู ข่าน พี่ชายของเบอร์ก ข่าน ก็ก้าวขึ้นไปเป็นผู้ปกครองชาวมองโกลคนแรกแห่งเมืองคิพชัค
ครั้งหนึ่ง เบอร์ก ข่าน น้องชาย เจ้าเมืองคิพชัค ได้พบกับกองคาราวานมุสลิมที่มาจากเมืองบุคอรอ เบอร์ก ข่านได้สนทนากับพ่อค้าเกี่ยวกับหลักการศรัทธา หลักการยึดมั่นของอิสลาม จนในที่สุด เบอร์ก ข่านก็เข้ารับอิสลามโดย ซัยฟุดดีน อัลเดอวิช จากเมือง คอวาริซ ภายหลัง และใช้ชื่อว่าบะรอกะฮฺ ข่าน จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อตนเข้ารับอิสลามก็ได้เรียกร้องเชิญชวน ทัค ทีเมอ (Tukh-timur) น้องชายของตนเข้ารับอิสลามด้วย
ในขณะที่ทัพมองโกลกำลังจะยาตราทัพไปยังยุโรป โอเกดิ ข่าน ก็ถึงแก่ชีวิต ลูกหลานทั้งหมดของเจงกิสข่านจึงต้องกลับไปยังมองโกเลีย เพื่อเลือกและให้สัตยาบันกับข่านคนใหม่ ปี 1248 บาตู ข่าน ได้ส่งบารอกะฮฺและ ทัค ทีเมอ น้องชายทั้งสอง ไปยังมองโกเลีย บะรอกะฮฺ ข่านและพี่น้องของเขาเสนอ บาตู ข่านแห่งอาณาจักรข่านคิพชัค เป็นจักรพรรดิ์แห่งมองโกล (the great khan) แต่ล้มเหลว คราวนั้น ฮูลากู ข่าน หลานชายคนหนึ่งของเจงกิสข่าน ขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ หลังจากนั้นอาณาจักรข่านคิพชัค จึงถูกจัดสถาปณาขึ้นเป็นรัฐอิสลามในดินแดนโกลเดนฮอร์ด เป็นอาณาจักรย่อยในจักรวรรดิมองโกล
ที่มองโกเลีย บารอกะฮฺ ข่านยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องทำ ซึ่งก็คือดะอวะฮฺเชิญชวนพี่น้องของท่านจาก สายของข่านคนอื่นๆ ให้ยอมรับอิสลาม ด้วยวิธีการที่ดีงามหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็ปฏิเสธ แม้ว่าการศรัทธาจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม บะรอกะฮฺยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างมองโกลด้วยกันมาตลอด ท่านพยายามจัดการเรื่องต่างๆ ภายใต้กฏระเบียบที่เคร่งครัด
หลังจากนั้นไม่นานบาตู ข่านก็เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1257 บารอกะฮฺ ข่านเป็นผู้ปกครอง โกลเดนฮอร์ด และ ค.ศ. 1266 ซึ่งเกิดจากการรวม Blue Horde และ White Hordes ไว้ด้วยกัน
เมื่อบะรอกะฮฺ ข่านผู้นี้ขึ้นปกครอง โกลเดนฮอร์ด ต่อจากบาตู ข่าน พี่ชาย อาณาจักรข่านแห่งอาณาจักรข่านคิพชัค ท่านก็นำเอาชะรีอะฮฺมาใช้ในการบริหารดินแดนของท่านทันที นับได้ว่าเป็นอาณาจักรของมองโกลแห่งแรกที่ปกครองโดยอิสลามมา
ศึกอัยน์ ญาลูต
ขณะเดียวกันอาณาจักรอับบาสียะฮฺอันรุ่งเรืองก็ถึงคราวล่มสลาย ทัพมองโกลบุกเข้าทำลายอารยธรรมอิสลาม ณ กรุงแบกแดดอย่างย่อยยับ บรรดามุสลิมทยอยกันอพยพออกจากแบกแดดไปทางตะวันตก ในสมัยนั้นผู้คนคงคิดว่าเราคงไม่มีทางต่อกรกับทัพมองโกลหรือ ตาตาร์ได้แน่ เนื่องจากพวกเขาโหดร้ายและมีแสนยานุภาพมากมายนัก อาณาจักรอิสลามน้อยใหญ่ถูกตีพ่ายมาเรื่อยๆ ทัดทานไม่อยู่ คล้ายกันมากกับเหตุการณ์ยุคปัจจุบัน แค่เปลี่ยนมองโกลเป็นอเมริกา
แต่แผนการของอัลลอฮฺนั้นดีเลิศยิ่ง
พระองค์ได้เตรียมบรรดาคนของพระองค์ไว้เพื่อหยุดพวกมองโกลและสอนบรรดามุสลิมถึงหลายๆ บทเรียน
ทางฝั่งอียิปต์ อาณาจักรอิสลาม มัมลู๊ก ราชวงศ์ที่มาจากทาส ผู้มีพลกำลังและศักยภาพทางการรบพอสมควร อาสาเข้าปกป้องโลกมุสลิมจากการรุกคืบของทัพมองโกล กูตุซ คอลิฟะฮฺของอาณาจักร์มัมลู๊กได้นำทัพออกไปปะทะกับทัพมองโกลที่ เนินอัยน์ ญาลูต แถบปาเลสไตน์
ในการศึกครั้งนี้หาได้มีเพียงกำลังพลจากมัมลู๊กอย่างเดียวไม่ แต่อาณาจักรอิสลามเล็กๆ รวมทั้งอาณาจักรคริสเตียนใกล้เคียงเข้าร่วมเสริมกำลังรบด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งทัพจาก บะรอกะฮฺ ข่าน ผู้นำมองโกลมุสลิมแห่งโกลเดนฮอร์ด คนแรกเข้าต่อกรกับฮูลากู ข่านด้วยเข่นกัน
ด้วยตักดีรของอัลลอฮฺทัพมองโกลที่พิชิตทุกสมรภูมิได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้ในศึกครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้และถอยร่นกลับไปยังเมืองหลวงของอาณาจักรมองโกลแถบเปอร์เซีย
ซุบฮานัลลอฮฺ หลังจากศึกอัยน์ ญาลูตเพียง 15 วัน กูตุซ คอลีฟะฮฺแห่งมัมลู๊กก็กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ราวกับว่าชายผู้นี้ถูกส่งมาเพื่อการณ์ในครั้งนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง
มองโกลถูกหยุดสนิท
ผู้นำมัมลู๊กสิ้นแล้ว แต่ฮูลากู ข่าน ผู้นำมองโกลยังคงอยู่ ความคิดที่จะแก้แค้นความพ่ายแพ้ในศึก อัยน์ ญาลูต ยังคงอยู่ สบโอกาสหลายต่อหลายครั้งที่ ฮูลากู ข่านนำทัพเข้าโรมรันอาณาจักรอิสลาม แต่ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ เนื่องจากยังมีชายอีกคนที่รักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้กับพันธมิตรอย่างกูตุซไว้ว่าจะร่วมต้านทัพมองโกล แม้สหายได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่บะรอกะฮฺ ข่านยังรักษาสัตย์ นำทัพสกัดกั้นความอหังการของฮูลากู ข่านไว้หลายระลอก แม้เรื่องราวภายหลังศึกใหญ่อย่างอัยน์ ญาลูตจะไม่ถูกกล่าวถึงนัก แต่ผมเห็นว่าบทบาทของบะรอกะฮฺ ข่านกลับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองอันสำคัญที่ทำให้มองโกลไม่สามารถเข้าโจมตีอาณาจักรอิสลามได้อีกต่อไป
บะรอกะฮฺ ข่าน ได้ประกาศว่า “เขา (ฮูลากู ข่าน) บุกทำลายทั่วทุกเมืองของมุสลิม และมอบความตายให้กับคอลีฟะฮฺแห่งอาณาจักรอิสลาม ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ, ข้าจะนำเขามาคิดบัญชีต่อเลือดผู้บริสุทธิ์ทุกหยดที่เขาอธรรม” (ในหนังสือ The Mongol Warlords, โดย รอชีด อัดดีน ที่บันทึกคำประกาศของบะรอกะฮฺ ข่าน และปรากฏในหนังสือ The Mamluk-Ilkhanid War)
ไม่นานนัก ฮูลากู ข่านก็เสียชีวิต อันเป็นเหตุให้อาณาจักรมองโกลถูกลดศักยภาพและเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจากภายหลังจากฮูลากู ข่าน ก็หามีชายมองโกลคนใดเทียบเท่าฮูลากู ข่านได้อีกแล้ว
เช่นเดียวกัน ภายหลังฮูลากู ข่าน เสียชีวิต บะรอกะฮฺ ข่าน บุรุษผู้หยุดมองโกลก็กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน ราวกับว่าเขาถูกจัดเตรียมให้มาทำการณ์นี้โดยเฉพาะ
บทบาทที่มากกว่าการรบ
บทบาทของบะรอกะฮฺ ข่านที่มีต่อโลกมุสลิมนั้น มีมากกว่าการหยุดยั้งมองโกลจากการเข้าทำลายโลกมุสลิม เนื่องจากท่านเข้ารับอิสลามด้วยความเข้าใจ จากการศึกษาจริงๆ อีกทั้งยังเป็นผู้มีความเคร่งครัดในอิสลามอย่างมาก การรักษาสายสัมพันธ์และดำเนินการเชิญชวนผู้คนเข้ารับอิสลามเป็นเหตุให้ชาวมองโกลมากมายเข้ารับอิสลาม การเชื่อมความสัมพันธ์กับราชวงศ์มัมลู๊กแห่งอียิปต์นอกจากจะเสริมความเข้มแข็งทางการทหารให้แก่กันแล้ว ยังทำให้ชาวมองโกลมุสลิมจำนวนมากสามารถเข้ายังอียิปต์และเรียนรู้อิสลามเพิ่มมากขึ้น
บะรอกะฮฺ ข่าน มีชื่อในภาษามองโกเลี่ยน ว่า Berke Khan อันมีความหมายว่า ความยากลำบาก แต่สำหรับมุสลิมแล้วชื่อของท่านคือความบะรอกะฮฺ คือการเพิ่มพูน, ความดีงาม ที่อัลลอฮฺประทานลงมากแก่ประชาชาตินี้ผ่านทางท่าน บะรอกะฮฺ ข่าน บุรุษผู้หยุดมองโกล

..............................
เขียนโดย อบู อับบาส
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์อะซาน
ข้อมูลจาก : http://n0tebook.wordpress.com/2010/12/22/mongkol-conquer/
ที่มา - Blogs ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่
http://ansorimas200.blogspot.com/
http://ansorimas.blogspot.com/2013/07/berke-khan.html