อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

ตำนานอภินิห อิมามมะฮฺดี




อิมามมะฮฺดี : ตำนานอภินิห
อิมามมะฮฺดี
โดย อบู มุฮัมมัด อัล-อัฟริกี

แปลและเรียบเรียงโดย อับดุลมาลิก สงวนธรรม

วันที่ 15 เดือนชะอบานถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเป้นอย่างยิ่งสำหรับทั้งอะหลุซซุนนะฮฺและชีอะฮฺ อย่างไรก็ตาม พวกชีอะฮฺให้ความสำคัญกับค่ำคืนดังกล่าวด้วยเหตุผลที่เป็นของตนเอง โดยพวกเขาถือว่าคืนดังกล่าวตรงกับกำเนิดของอิามมะฮฺดี ผู้เร้นกาย อิมามคนที่ 12 ของพวกเขา

มะฮฺดีที่พวกชีอะฮฺรอการกลับมายังโลกของท่านอย่างร้อนรนผู้นี้คือใครกัน แถมความเชื่อในการดำรงอยู่ของท่านในสภาพเร้นกายยังเป็นแก่นกลางของจิตวิญญาณชีอะฮฺอีกด้วย ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจหลักความเชื่อเรื่องอิมามะฮฺของชีอะฮฺสักเล็กน้อยก่อน

ภูมิหลัง

พื้นฐานการศรัทธาของชีอะฮฺได้แก่การศรัทธาในภาวะผู้นำทางจิตวิญญาณและทางโลกของอุมมะฮฺนี้ภายหลังที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลฯ สิ้นชีวิตไปแล้ว ซึ่งภาวะผู้นำนี้ตกแก่อิมามผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยอัลลอฮฺ สุบหฯ เป็นเหมือนกันท่านนบี ศ็อลฯ และยังได้รับเกียรติยศและอภิสิทธิ์ทั้งมวลที่ท่านนบี ศ็อลฯ ได้รับมา อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าอิมามะฮฺนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนนุบูวะฮฺ( ภาวะศาสดาซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีหะดีษของชีอะฮฺอันเป็นที่รู้จักกันดีกล่าวว่า " ถ้าไร้อิมามเสียแล้วโลกจะดำรงอยู่ไม่ได้ " และอีกหะดีษหนึ่งระบุว่า "ถ้าโลกนี้ขาดอิมามแม้เพียงวันหนึ่ง โลกจะจมลง"

ดังนั้น เมื่อตอนที่อิมามคนแรกที่พวกเขาเคารพนับถือ( ท่านอะลี รอฎิฯ )จากโลกนี้ไป ปัญหาก็อุบัติขึ้น บางคนในหมู่ผู้ที่ถือว่าตนเองเป็นพลพรรคของท่านถึงกับอ้างว่า จริงๆ แล้วท่านยังไม่ตาย แต่ท่านจะกลับมาสถาปนาความยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง บางคนกล่าวว่าบุตรชายของท่าน คือท่านหะซันทำหน้าที่สืบทอดอำนาจต่อจากท่าน และภายหลังหะซัน หุเซนผู้เป็นน้องชายสืบทอดตำแหน่งอิมามเป็นคนต่อไป

เมื่อหุเซนตายจากไป พวกบางคนอ้างว่าจะปฏิบัติตามน้องชายอีกคนหนึ่งของท่านทั้งสอง คือท่านมุฮัมมัด( ที่รู้จักกันในนาม อิบน อัล-หะนะฟียะฮฺ ) ในฐานะที่เป็นอิมามของพวกเขา เมื่อท่านผู้นี้ตาย ผู้ปฏิบัติตามท่านก็อ้างว่าท่านยังคงมีชีวิตอยู่ และท่านจะกลับมาในเวลาอันเหมาะสม คนอื่นๆ ในหมู่พวกชีอะฮฺก็หันไปยึดเอาท่านอะลี( หรือซัยนุล อาบิดีน )บุตรชายของท่านหุเซนเป็นอิมามของพวกเขา และเมื่อท่านอะลีผู้นี้ตายไป พวกเขาก็หันไปมอบความจงรักภักดีให้กับมุฮัมมัด อัล-บากิรฺ บุตรชายของท่านแทน

เมื่ออัล-บากิรฺตาย เหตุการณ์แบบเดิมๆ ก็เกิดขึ้นอีก คือพวกชีอะฮฺบางส่วนไม่ยอมรับว่าท่านตายไปจริงๆ และอ้างว่าท่านจะกลับมาสักวันหนึ่ง ขณะที่คนอื่นๆ หันไปยกญะอฺฟัรฺ อัศ-ศิดดีก บุตรชายของท่านเป็นอิมามคนต่อไป

เมื่อท่านตาย เกิดความปั่นป่วนในหมู่พวกชีอะฮฺอย่างขนานใหญ่ พวกชีอะฮฺแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มหันไปยึดพวกบุตรชายของท่านญะอฺฟัรฺเป็นอิมามของพวกตนต่างๆ กัน บางกลุ่มยึดอิสมาอีล บางกลุ่มยึดอับดุลลอฮฺ บ้างก็ยึดมุฮัมมัด หรือซะกะรียา หรืออิสหาก และบางกลุ่มยึดถือมูซาเป็นอิมาม นอกจากกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าญะอฺฟัรฺ อัศ-ศอดิกยังไม่ตาย และท่านจะกลับมาอีกครั้งไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แล้วเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันก็อุบัติขึ้นอีก เมื่อมูซาถึงแก่กรรมลง พวกชีอะฮฺบางส่วนปฏิเสธว่าท่านยังไม่ตาย เชื่อว่าท่านจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่พวกชีอะฮฺอื่นๆ ได้ตัดสินใจเลือกเอาบุตรชายคนหนึ่งของท่านมูซาเป็นผู้นำคนใหม่ของพวกเขา บางพวกเลือกอะหมัด แต่บางพวกเลือกเอาอะลี อัร-ริฎอ บุตรชายอีกคนหนึ่งของท่านมูซาเป็นผู้นำ

ภายหลังอะลี อัร-ริฎอ จากไป พวกเขายกบุตรชายของท่านคือ มุฮัมมัด อัล-เยาวาด( หรือ อัต-ตากีย์ )ให้เป็นอิมามของพวกเขา หลังจากมุฮัมมัด อัล-เยาวาดจากไป บุตรชายของท่านคืออะลี อัล-ฮาดีย์( หรือ อัล-นากีย์ )เป็นอิมาม และหลังจากอะลี อัล-ฮาดีย์ พวกเขาก็ยกบุตรชายของท่านคือ หะซัน อัล-อัสการีย์ เป็นอิมามคนใหม่คนที่ 11 ของพวกเขา

มรณะกรรมของหะซัน อัล-อัสการีย์

ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงข้อสรุปของประวัติศาสตร์อันสับสนวุ่นวาย ประวัติศาสตร์ที่นักสำรวจค้นคว้าที่อุทิศตัวเองสามารถจะอนุมานได้ว่าพัฒนาการของลัทธิชีอะฮฺจริงๆ แล้วเป็นมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่จุดสนใจของเราในตอนนี้ แต่จุดที่เรากำลังพูดถึงนี้อยู่ในช่วงปี ฮ.ศ. 254 อันเป็นยุคสมัยที่พวกชีอะฮฺส่วนใหญ่ยอมรับหะซัน อัล-อัสการีย์ บุตรชายของอะลี อัล-ฮาดีย์ ซึ่งมีอายุเพียง 22 ปีให้เป็นอิมามของพวกเขา และนับเป็นทายาทรุ่นที่ 10 ของท่านอะลี และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ รอฎิฯ

6 ปีต่อมา คือในปี ฮ.ศ. 260 หะซัน อัล-อัสการีย์ ขณะอยู่ในวัยหนุ่มแน่นด้วยอายุขัยเพียง 28 ปีเท่านนั้น แต่ท่านกลับต้องนอนรอความตายอยู่บนเตียง ไม่เหมือนกับบรรพบุรุษของท่าน เพราะท่านไม่มีบุตรสืบสกุล ไม่มีคนที่พวกชีอะฮฺจะเลือกเฟ้นให้เป็นอิมามคนใหม่ของพวกเขา

พวกชีอะฮฺที่นับถือท่านหะซัน อัล-อัสการีย์เป็นอิมามของพวกเขาต้องตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายอย่างใหญ่หลวง เพราะนี่คือการสิ้นสุดของอิมามะฮฺกระนั้นหรือ การสิ้นสุดของอิมามะฮฺหมายถึงการสิ้นสุดของลัทธิชีอะฮฺไม่ใช่หรือ และพวกเขาพร้อมที่จะรับการสภาพนี้แล้วหรือ?

ความโกลาหลที่แผ่ปกคลุมเหนือพวกชีอะฮฺภายหลังมรณะกรรมของท่านหะซัน อัล-อัสการีย์นั้นปรากฏเป็นบันทึกอยู่ในหนังสือของปราชญ์ชีอะฮฺในสมัยนั้น อาทิ หะซัน อิบน มูซา อัน-เนาบัคตีย์ ระบุว่าบรรดาสาวกของท่านหะซัน อัล-อัสการีย์แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยนับได้ 14 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีทัศนะเกี่ยวกับอนาคตของอิมามะฮฺและรูปลักษณ์ของอิมามคนใหม่แตกต่างกันออกไป อัน-เนาบัคตีน์ผู้นี้มีชีวิตอยู่ในสมัยที่เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นพอดี นักเขียนชีอะฮฺอีกคนหนึ่งคือท่านสะด อิบน อับดุลลอฮฺ อัล-กูมีย์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกัน นับได้ 15 กลุ่ม และอีกหนึ่งศตวรรษถัดมา นักประวัติศาสตร์ผู้มีนามว่า อัล-มัซอูดีย์ ระบุว่าพวกเขามีทั้งหมด 20 กลุ่ม

แนวโน้ม

อย่างไรก็ตามในพวกชีอะฮฺกลุ่มต่างๆ นั้นพอจะระบุได้ว่ามีอยู่ 4 แนวคิดใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่

(1) พวกที่ยอมรับว่าท่านหะซัน อัล-อัสการีย์ตายไปจริงๆ และยอมรับว่าท่านไม่มีบุตรสืบสกุล สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาถือว่าอิมามะฮฺได้เดินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เหมือนกับที่นุบุวะฮฺ( ศาสดาสภาวะ )ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการวายชนม์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ยังมีบางคนมีความหวังว่าอาจจะมีอิมามคนใหม่มาปรากฏอีกก็ได้

(2) แนวคิดที่สองเป็นแนวคิดที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ในกลุ่ม " การสืบทอดของอิมามะฮฺ " มีความคุ้นเคยเป็นที่สุด คนพวกนี้ไม่ยอมรับว่าท่านหะซัน อัล-อัสการีย์ได้ตายไปจริงๆ และอ้างว่าท่านจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งในอนาคตเพื่อสถาปนาความยุติธรรมขึ้นบนโลก เราได้เห็นแนวโน้มอย่างนี้เกิดขึ้นในหมู่พวกชีอะฮฺในช่วงที่มีวิกฤติกาลในประวัติศาสตร์อิมามะฮฺของชีอะฮฺมามากกว่าหนึ่งครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งธรรมดาที่จะอุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงวิกฤตขณะที่ท่านหะซัน อัล-อัสการีย์ถึงแก่กรรม

(3) แนวคิดที่สามได้แก่ของพวกที่ต้องการขยายการสืบช่วงอิมามต่อไปยังท่านญะอฺฟัรฺ น้องชายของท่านหะซัน อัล-อัสการีย์

(4) แนวคิดที่สี่ได้แก่พวกที่อ้างว่าท่านหะซัน อัล-อัสการีย์มีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง ต่อมาแนวคิดอย่างนี้ได้รับการยอมรับจนกลายเป็นทัศนะของชีอะฮฺส่วนใหญ่ไปในที่สุด

บุตรชายที่ไม่ปรากฏตัว

แนวคิดนี้ถูกนำมาเผยแพร่โดยคนบางคนที่ตั้งตัวเองขึ้นเป็น " ผู้แทนของอิมาม " และเป็นผู้ที่ควบคุมเครือข่ายหนึ่งซึ่งครอบคลุมส่วนต่างๆ ของจักรวรรดิ์อิสลาม เป็นเครือข่ายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเงินทองที่เก็บมาได้ในนามของอิมามแห่งอะหลุลบัยตฺ

บรรดาสาวกของอิมามทุกคนมีพันธะที่จะต้องจ่ายรายได้ 1 ใน 5 ให้แก่ผู้แทนของอิมาม( นี่เป็นหลักปฏิบัติข้อหนึ่งที่ยังคงกระทำกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ) ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเครือข่ายนี้นี้ได้แก่ บุรุษผู้มีนามว่า อุษมาน อิบน สะอิด อัล-อัมริ วิธีการที่เขานำมาแก้ไขวิกฤติกาลเฉพาะหน้านั้นไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร คือเขาอ้างว่า : เขายอมรับว่าท่านหะซัน อัล-อัสการีย์ถึงแก่มรณะกรรมไปจริงๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านไม่มีบุตร ท่านทิ้งบุตรชายอายุเพียง 4 ขวบเอาไว้ผู้หนึ่งนามว่า มุฮัมมัด ซึ่งไม่มีใครสามารถติดต่อได้นอกจากอุษมาน อิบน สะอิดเพียงผู้เดียวเท่านั้น และจากจุดนี้ เขาสามารถแสดงตนเป็น " ผู้แทน " ( วะกีล )ของอิมามผู้เร้นกาย และใช้ชื่อของท่านทำการรวบรวมทรัพย์สินเงินทอง( ที่เรียกกันว่า เงินคุม และเงินบริจาคอื่นๆ - ผู้แปล )

ส่วนคนในครอบครัวของท่านหะซัน อัล-อัสการีย์เองนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องบุตรชายของท่านแม้แต่น้อย มีการแบ่งทรัพย์มรดกของท่านให้แก่ท่านญะอฺฟัรฺ น้องชายของท่านมารดาของท่าน อุษมาน อิบน สะอิด และพรรคพวกมีปฏิกิริยาและประณามท่านญะอฺฟัรฺว่าเป็นคนโกหก( อัล-กัซซาบ )

ในเวลาเดียวกันก็มีการแพร่เรื่องโกหกเกี่ยวกับการสมรสระหว่างท่านหะซัน อัล-อัสการีย์กับทาสหญิงโรมันผู้หนึ่งในหมู่พวกชีอะฮฺ บ้างก็บอกว่าเจ้าสาวมีชื่อว่า นัรญิส บ้างก็ว่าชื่อ เศาซันหรือบ้างก็ว่าชื่อ มุลัยกะฮฺ ตามนิทานที่เล่าขานกันนั้นระบุว่าเธอเป็นถึงพระธิดาของยุชาอฺ( โยชัว )จักรพรรดิ์โรมัน ผู้เป็นลูกหลานโดยตรงของสิโมน เปรโต อัครสาวกของท่านนบีอีซา(พระเยซู) อะลัยฮิสสะลาม แต่ประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยให้ทราบว่า จักรวรรดิ์โรมันไม่เคยปรากฏจักรพรรดิ์ผู้มีนามดังกล่าวแต่อย่างใด จักรพรรดิ์โรมันตัวจริงในเวลานั้นคือ บาซิลที่ 1 ไม่ปรากฏว่าพระองค์หรือจักรพรรดิ์พระองค์ใดเป็นผู้สืบสกุลของอัครสาวกเปโตรเลย เรื่องที่เล่าลือกันนั้นยังบรรยายว่าเจ้าสาวได้ถูกกองทัพมุสลิมจับกุมมา แล้วในที่สุดเธอก็ได้ถูกขายให้กับท่านหะซัน อัล-อัสการี ต่อมาเธอก็ได้ตั้งครรภ์ในลักษณะที่เหนือธรรมชาติ และได้ให้กำเนิดบุตรชายผู้หนึ่งขึ้นอย่างลับๆ โดยไม่มีใครล่วงรู้ถึงเรื่องนี้เลย นอกจากอุษมาน อิบน สะอิดและพรรคพวกของเขา ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเด็กผู้นี้ได้ถูกหุ้มห่ออยู่ในเมฆหมอกของความลี้ลับอันหนาทึบและทุลวงมิได้

ผู้แทนทั้งสี่

อุษมาน อิบน สะอิดดำรงตำแหน่ง " ผู้แทนของอิมามผู้เร้นกาย " เป็นเวชาช่วงหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาเป็นเพียงผู้ประสานคนเดียวที่พวกชีอะฮฺมีกับอิมามของพวกเขา ระหว่างนั้นเขานำเอา เตากีอัต หรือสาส์นซึ่งเขาอ้างว่าอิมามผู้เร้นกายเป็นผู้เขียนขึ้นมาประกาศให้ประชาชนคมชีอะฮฺรับทราบ สาส์นเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในตำราต่างๆ เช่นในกิตาบ อัล-กอยบะฮฺของอัต-ตูสีย์ เนื้อหาเต็มไปด้วยถ้อยคำประณามผู้อ้างตัวเป็น " ผู้แทนของอิมาม " คนอื่นๆ ที่เริ่มตระหนักว่าอุษมาน อิบน สะอิด สร้างผลกำไรให้กับตนเองได้อย่างไร หนังสือของพวกชีอะฮฺที่กล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของอุษมาน อิบน สะอิดในฐานะผู้แทนนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเก็บเงินเอาจากสาธารณชนชีอะฮฺทั้งสิ้น

เมื่ออุษมาน อิบน สะอิดตายไป อบู ญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด บุตรชายของเขาได้นำเอาสาส์นของอิมามผู้เร้นกายออกมาประกาศ ในนั้นระบุว่าตัวเขาเองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนคนที่สอง เป็นตำแหน่งที่เขาทำหน้าที่อยู่นานถึง 50 ปี เหตุการณ์ก็เป็นไปเช่นเดียวกับบิดาของเขา เพราะเขาต้องจัดการกับผู้แอบอ้างคนอื่นๆ อีกมากหน้าหลายตา แต่เตากีอัตที่เขานำออกมาแสดงเป็นระยะๆ เพื่อประณามบุคคลเหล่านั้น และเพื่อเสริมสถานะภาพของเขาให้มั่นคงขึ้นได้ช่วยขจัดอุปสรรคดังกล่าวออกไป และทำให้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสาธารณชนชีอะฮฺที่หลงเชื่อคนง่าย

ต่อจากอบู ญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด ผู้รักษาตำแหน่งผู้แทนอิมามผู้เร้นกายคนต่อไปได้แก่ อบุล กอซิม อิบน เราฮ อัน-เนาบัคตีย์ ทายาทของตระกูลเนาบัคตีย์แห่งบัฆดาดที่ทรงอำนาจและอิทธิพล ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนมุฮัมมัด อิบน อุษมาน อบุล กอซิม อัน-เนาบัคตีย์เคยเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการเก็บรวบรวมเงินคุม( เงินบริจาค 1 ใน 5 จากรายได้ )จากพวกชีอะฮฺ อบุล กอซิมต้องเข้าจัดการกับบรรดาคู่แข่งที่แอบอ้างเป็นผู้แทนของอิมามเช่นเดียวกับผู้แทนสองคนแรก หนึ่งในคู่แข่งได้แก่ มุฮัมมัด อิบน อะลี อัช-ชัลมะฆอนีย์ ซึ่งเคยเป็นผู้สมคบคิดของเขามาก่อน ในหนังสือกิตาบ อัล-ฆอยบะฮฺ ของอบู ญะอฺฟัรฺ อัต-ตูสีย์ ปรากฏคำพูดของมุฮัมมัด อิบน อะลีว่า " เรารู้เกี่ยวเรื่องของอบุล กอซิม อิบน เราฮอย่างทะลุปรุโปร่ง เราเคยสู้กับเขาเหมือนหมาเกี่ยวกับเรื่องนี้( การเป็นผู้แทนของอิมาม ) "

เมื่ออบุล กอซิม อัน-เนาบัคตีย์ตายใน ฮ.ศ. 326 เขาได้มอบตำแหน่งผู้แทนนี้ให้กับอบุล หะซัน อัส-สะมัรรีย์ ในขณะที่ผู้แทนสามคนก่อนเป็นผู้กอบโกยที่ฉลาดหลักแหลม แต่อบุล หะซันดูจะเป็นคนที่มีความสุขุมรอบคอบมากกว่า ในระหว่างช่วงเวลา 3 ปีในการเป็นผู้แทนของเขา เตากีอัตเกิดลดจำนวนลงอย่างที่คาดคิดไม่ถึง ขณะที่เขากำลังนอนรอความตาย มีคนถามเขาว่าใครจะมาเป็นผู้รับตำแหน่งต่อจากเขา เขาตอบไปว่าอัลลอฮฺจะทรงจัดการเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง ดูเหมือนว่าบางทีเขาไม่ต้องการให้การหลอกลวงที่ดำเนินมาไกลถึงขนาดนั้นดำเนินต่อไปอีกก็อาจเป็นไปได้ นอกจากนี้เขายังนำเตากีอ์ฉบับหนึ่งมาประกาศ ในเตากีอ์นั้นอิมามให้ประกาศว่า นับจากวันนั้นไปจวบจนวันที่ท่านจะมาปรากฏกายอีกครั้งหนึ่งจะไม่มีใครได้เห็นท่าน และถ้าใครอวดอ้างว่าได้พบเห็นท่านอีกนับจากนั้น ผู้นั้นคือคนโกหก

ดังนั้นหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 70 ปี ประตูแห่งการติดต่อกับอิมามผู้เร้นกายบานสุดท้ายได้ถูกปิดลง พวกชีอะฮฺเรียกช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอิมามผู้เร้นกายได้ติดต่อผ่านผู้แทน( และเป็นผู้รวบรวมเงินคุมด้วยในขณะเดียวกัน )ของท่านว่า อัล-ฆอยบะฮฺ อัซ-ซุกเราะฮฺ หรือการเร้นกายระยะสั้น และเรียกระยะเวลานับตั้งแต่ผู้แทนคนสุดท้ายตายจากไปว่า อัล-ฆอยบะฮฺ อัล-กุบัร หรือการเร้นกายระยะยาว ซึ่งการเร้นกายระยะยาวนี้ดำเนินมาเป็นเวลามากกว่า 1,000 ปีล่วงมาแล้ว

กิจกรรมของผู้แทนอิมาม

เมื่อเราอ่านตำรารุ่นลายครามของพวกชีอะฮฺที่บรรยายถึงกิจกรรมต่างๆ ของผู้แทนทั้งสี่ เราจะต้องตกใจเพราะมีหัวข้อสนทนาเกี่ยวกับเงินทองปรากฏขึ้นบ่อยเหลือเกิน เรื่องที่พูดถึงบ่อยอย่างยิ่งก็คือเรื่องการรับและการรวบรวม " เงินของอิมาม " เอาจากสาวกชีอะฮฺผู้จงรักภักดี แต่ที่น่าตกใจก็คือกิจกรรมประเภทวิชาการและจิตวิญญาณไม่มีอยู่เลย ในผู้แทนทั้งสี่คนนั้นไม่มีสักคนที่มีชื่อเสียงในการเรียบเรียงตำรับตำรา ทั้งๆ ที่พวกเขาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอยู่กับอิมามคนสุดท้ายอยู่คนเดียวมาตลอด อิมามนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านเป็นถึงคลังรวบรวมมรดกของท่านรสูล ศ็อลฯ แต่เพียงผู้เดียว

เมื่อเรากลับไปพิจารณาตำราอ้างอิงสำคัญ ที่เป็นรากฐานของหลักศรัทธาชีอะฮฺ เราพบว่าส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นภายหลังจุดเริ่มต้นของการเร้นกายระยะยาวเกือบทั้งนั้น ผลงานต่างๆ อย่างเช่น อัล-กาฟีย์ ซึ่งถูกเขียนขึ้นในช่วงทศวรรษหลังๆ ของการเร้นกายระยะสั้น กลับแทบจะไม่มีชื่อของท่านผู้แทนทั้งสี่ในฐานะที่เป็นผู้เล่าหะดีษจากอิมามผู้เร้นกายให้พบเห็นแต่อย่างใด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น อัล-กาฟีย์กลับเต็มไปด้วยเรื่องเล่าต่างๆ จำนวนหลายพัน ซึ่งสืบย้อนกลับไปยังอิมามคนที่ 5 และ 6 ผ่านสายผู้รายงานคนอื่นๆ นี่เป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งจริงๆ เพราะเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเราจะพบว่า บุรุษอย่างเช่นอุษมาน อิบน สะอิด อัล-อัมริถูกอ้างว่าคบหาสมาคมอย่างใกล้ชิดกับอิมามที่ 10 และ 11 รวมถึงอิมามที่ 12 ด้วย และจากข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรชายของท่านคืออบู ญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด ทำหน้าที่เชื่อมต่อประชาคมชีอะฮฺเข้ากับอิมามอยู่คนเดียวตามลำพังเป็นเวลานานถึงครึ่งศตวรรษ ถ้าผู้แต่งหนังสืออย่างเช่น อัล-กุลัยนีย์ จะรายงานหะดีษของอิมามต่างๆ เอาจากอิมามผู้เร้นกายโดยผ่านผู้แทนของท่านที่พำนักอยู่ในเมืองบัฆดาดในช่วงเวลาเดียวกันจะไม่ดีกว่าและแข็งแรงกว่าการที่เขาสืบย้อนมันกลับไปยังอิมามที่ 5 และ 6 โดยผ่านสายรายงานที่น่าเคลือบแคลงสงสัยจำนวนนับไม่ถ้วนดอกหรือ

แต่ที่แน่นอนก็คือ เขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะกิจกรรมของเหล่าผู้แทนนั้นแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการรักษามรดกของอะหลุลบัยตเอาไว้ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่เหมือนการเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติในนามของอะหลุลบัยตเอาเสียเลย

ชีอะฮฺชี้แจงถึงความจำเป็นในการมีอิมามะฮฺว่าเป็นเพราะจำเป็นต้องมีมัคคุเทศก์ที่ไร้บาปไร้มลทินมาเป็นผู้นำทาง ซึ่งเป็นผู้ที่คู่ควรกับการเป็นคลังรวบรวมมรดกของอะหลุลบัยต ในจุดนี้มันมีสิ่งที่ไม่เข้ากันอย่างยิ่งประการหนึ่ง นั่นก็คือผู้นำทางพิเศษผู้นี้( อิมามผู้เร้นกาย )ไม่ได้ทิ้งมรดกชนิดที่เป็นของตนเองเอาไว้โดยที่มรดกของอะหลุลบัยตจะได้เป็นที่ล่วงรู้ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าผู้นำทางผู้ไร้บาปไร้มลทินจะต้องดำรงอยู่ตามที่สมมุติกัน แต่มรดกที่ประชาคมชีอะฮฺได้รับมานั้น กลับได้รับมาจากบุคคลเช่น มุฮัมมัด อิบน ยะอกูบ อัล-กุลัยนีย์ ซึ่งเป็นคนบาปคนหนึ่ง

มีเพียงข้อมูลเล็กน้อยเท่านั้นที่ตกทอดมาถึงพวกเราเกี่ยวกับหะดีษของอิมามผู้เร้นกายซึ่งถือเป็นมรดกของชีอะฮฺ นั่นคือสิ่งที่อะเกาะอฺ มุฮัมมัด บากิรฺ ควันซารีย์ ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือของเขาชื่อ เราเฎาะฮฺ อัล-ญันนะฮฺ เขากล่าวว่าหนังสือของอัล-กุลัยนีย์ถูกนำเสนอต่ออิมามผู้เร้นกาย เมื่อท่านอิมามดูแล้ว ท่านได้ประกาสว่า " ฮาซา กาฟีน ลิ ชีอะตินา " ซึ่งหมายความว่า สิ่งนี้เพียงพอแล้วสำหรับชีอะฮฺของเรา และด้วยเหตุนี้แหละหนังสือดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า อัล-กาฟีย์

รายงานแบบนี้แหละที่สร้างปัญหาอย่างยิ่ง ดูเหมือนนี่จะเป็นสิ่งที่บอกว่าอิมามผู้เร้นกายรับรองเนื้อหาสาระของหนังสืออัล-กาฟีย์ แต่เก้าศตวรรษหลังจากนั้น นักหะดีษชีอะฮฺผู้หนึ่งคือมุลลา มุฮัมมัด บากิรฺ มัจญ์ลิสีย์ ประกาศในหนังสืออรรถาธิบายอัล-กาฟีย์ของท่าน(ชื่อ มิรอัต อัล-อุกุล)ว่าในจำนวน 9,485 รายงานจากทั้งหมด 16,121 รายงานในอัล-กาฟีย์เชื่อถือไม่ได้ สิ่งที่มัจญ์ลิสีย์ทราบนั้นก็คือว่าอิมามผู้ไร้บาปไม่ล่วงรู้ว่าตนเองกำลังรับรองความถูกต้องของหนังสือ( จึงพูดไปอย่างนั้น - ผู้แปล ) ซึ่งต่อมามีการพบว่า 60% ในนั้นไม่น่าเชื่อถือ

บทสรุป

นักปราชญ์ชีอะฮฺชาวอิรัคชื่อ มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศ็อดรฺ พบข้อพิสูจน์ถึงการดำรงอยู่ของมะฮฺดีในสิ่งที่ท่านเรียกว่า " ประสบการณ์ของประชาคม " ท่านอ้างว่าการดำรงอยู่ของอิมามผู้เร้นกายนั้นประชาคมชีอะฮฺทั้งหมดได้ประสบด้วยตัวพวกเขาเอง โดยผ่านสาส์นที่ผู้แทนของท่านนำมาประกาศให้พวกเขาทราบ

จุดสำคัญของข้อพิสูจน์นี้อยู่ตรงความจริงที่ว่า ประสบการณ์ของบุคคลอาจจะเป็นที่สงสัยเคลืบแคลงได้ ผิดกับประสบการณ์ที่สัมผัสโดยคนทั้งประชาคม อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ที่เห็นกันโต้งๆ ในกระบวนการให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ข้อพิสูจน์เรื่องนี้มองข้ามส่วนที่เป็นของ " ผู้แทนอิมาม " ไปง่ายจนเกินไป เพราะผู้แทนอิมามก็เป็น " ปัจเจกบุคคล " ที่อยู่ระหว่างกลางเหตุการณ์ แล้วใครจะพิสูจน์ความจริงของผู้แทนกันเล่า

ประชาคมไม่เคยได้มีสิทธิ์เห็น หรือพบกับบุคคลที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นผู้เขียน " เตากีอัต " แม้แต่น้อย ประสบการณ์ของพวกเขาจำกัดอยู่เพียงการรับสิ่งที่ผู้แทนนำมาให้ แม้แต่ข้อพิสูจน์เรื่องลายมือที่ดูว่าเหมือนกันในเตากีอัตต่างๆ นั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องคิดมากอยู่ดี ไม่มีทางที่ใครจะจะหลีกเลี่ยงไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า การดำรงอยู่ของอิมามผู้เร้นกายนั้นไม่มีอะไรเป็นพยานหลักฐาน นอกจากการยอมรับในคำพูดของผู้แทนต่างๆ เท่านั้น

กิจกรรมของผู้แทนนั้นยิ่งไปไกลเสียจนเผยให้เห็นว่า พวกเขาถูกครอบงำด้วยความต้องการที่จะครอบครองมากเสียยิ่งกว่าที่จะถูกดลใจโดยความรู้สึกนึกคิดที่เคร่งครัดจำพวกใดๆ

ดังนั้น ในยามที่พวกชีอะฮฺเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านอิมามคนที่ 12 ของพวกเขาในค่ำคืนของวันที่ 15 เดือนชะอบาน หรือในยามที่พวกเขานำเอาหะดีษจากตำราหะดีษของสุนนีย์ที่พูดถึง 12 เคาะลีฟะฮฺมาอ้างว่าเป็น 12 อิมามของพวกเขา ก็ขอให้พวกเราถามพวกเขาว่า พวกเขายอมรับการดำรงอยู่ของอิมามที่ 12 จากหลักฐานอะไร ? กันแน่

ประวัติศาสตร์เป็นพยานยืนยันถึงการดำรงอยู่ของคน 11 คนในสายตระกูลดังกล่าว( จากท่านอะลี รอฎิฯ จนถึงท่านหะซัน อัล-อัสการีย์ - ผู้แปล ) สิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมดเป็นเพียงข้ออ้างของบุคคลที่กระทำสิ่งต่างๆ ในนามของอิมามผู้เร้นกาย ซึ่งมันทำให้เรามีเหตุผลที่จะสงสัยในความซื่อสัตย์และการยึดมั่นในคุณธรรมของพวกเขา

ในอิสลาม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาจะอ้างหลักฐานประเภทดังกล่าวมาสนับสนุนไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น