อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การถวายพระพรในบทบัญญัติอิสลาม




ทุกๆปี เมื่อถึงวันที่ 5 ธ.ค. ก็จะมีคำถามมากมายถามเรื่องการถวายพระพร ซึ่งจริงๆแล้ว ทางสำนักจุฬาก็ได้แสดงความคิดเห็นแล้ว และผมไม่ได้คัดค้าน แต่ขอเสริมและอธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจ และมอบให้กับพี่น้องมุสลิม ตัดสินใจกันเอาเองว่า ควรจะทำหรือไม่ อย่างไร

การถวายพระพร เท่าที่ผมถามเพื่อนๆที่ทำงาน ก็มีความหมายเหมือนกับการขอดุอาร์ ดังนั้น สิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ จะเกี่ยวกับการขอดุอาร์ให้กับคนต่างศาสนิก อย่างเดี่ยว ไม่ได้เกี่ยวกับพิธีกรรมอื่นที่มีลักษณะของการทำอิบาดัตแต่อย่างใด

การขอดุอาร์ให้กับคนต่างศาสนิก ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามทั้งหมด และไม่ได้เป็นสิ่งที่อิสลามอนุญาติทั้งหมดเช่นกัน แต่นักวิชาการอิสลามได้ฟัตวาตามบริบทต่างๆที่แตกต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. การขอดุอาร์ให้คนต่างศาสนิกได้รับการอภัยโทษหรือได้รับเราะห์มัตจากอัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่อิสลามไม่อนุมัติ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม

 อิหม่ามนะวาวีย์ได้กล่าวความว่า การละหมาด (ญะนาซะห์) แก่คนกาฟิร และการขอดุอาร์ให้ได้รับการอภัยโทษเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยตัวบทหลักฐานที่ชัดเจนจากอัลกุรอานและเป็นอิจมาอฺ (เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องห้าม) (อัลมัจมูอฺ เล่ม ๕ หน้า ๑๒๐) ซึ่งอัลก่อร่อฟีย์จากมัซหับอิหม่ามมาลิกและอิบนฺอัลลานจากมัซหับอิหม่ามชาฟีอีย์เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นกุฟร์ (คืออาจทำให้ผู้กระทำนั้นตกศาสนา) (อัลฟุรูก เล่ม ๔ หน้า ๒๖๐ และ อัลฟุตูหาตอัลร็อบบานียะห์ เล่ม ๗ หน้า ๒๓๘)


อัลลอฮฺได้กล่าวในคำภีร์อัลกุรอานว่า

إِنَّ اللّهَ لاَ يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَلِكَ لِمَن يَشَاء وَمَن يُشْرِكْ بِاللّهِ فَقَدْ ضَلَّ ضَلاَلاً بَعِيدًا
(النساء: 116)

ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์ แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคี ขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอน เขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล

และโองการอีกมากมาย ที่เป็นตัวบทหลักฐานของหุก่มและเป็นการอิจมาอฺ

๒. การขอดุอาร์ให้เขาได้รับทางนำ (ฮิดายะห์) จากอัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะการขอดุอาร์ให้มวลมนุษย์เข้ารับอิสลามและได้รับทางนำนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เราเห็นการกระทำของนะบีมากมายที่นะบีได้ขอทางนำจากอัลลอฮฺให้กับประชาชาติของเขา นะบีขอให้อัลลอฮฺให้ฮิดายะห์แก่มารดาของอะบูหุรัยเราะห์ก่อนที่จะเข้ารับอิสลาม และดุอาร์ที่ทุกคนรู้และจำ ตอนนะบีไปที่ฎออิฟ เรียกร้องให้เขารับอิสลาม แต่กลับโดนชาวฎออีฟกระทำอย่างรุนแรง นะบีก็ได้ขอให้อัลลอฮฺทรงประทานทางนำแก่พวกเขา อันเนื่องจากพวกเขายังไม่รู้สัจธรรม

๓. การขอดุอาร์ให้คนต่างศาสนิกพินาศ จริงๆแล้ว อิสลามไม่สนับสนุนให้มุสลิมขอความพินาศให้แก่ใคร แม้คนๆนั้นจะเป็นคนต่างศาสนิกก็ตาม แต่อิสลามก็อนุโลมให้กระทำได้กับกลุ่มคนที่ทำร้ายอิสลามและมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มคนหรือคนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูและจ้องทำร้ายอิสลามและมุสลิม ดังที่เคยเกิดขึ้นกับเผ่าริอฺล์ ซักวาน อุศัยยะห์ และบะนีละห์ยานที่ได้ฆ่าศ่อหะบะห์ที่ถูกส่งไปยังพวกเขาเพื่อสอนอิสลามตามคำเรียกร้อง ณ บ่อมะอูนะห์ ซึ่งนะบีได้ขอดุอาร์ให้พวกเขาเหล่านั้นประสบความพินาศเป็นเวลาหนึ่งเดือน

๔. ดุอาร์ให้คนต่างศาสนิกได้รับสิ่งดีๆทางโลก เช่น ขอให้ริซกี ขอให้อายุยืน เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการอิสลามมีความเห็นตรงกันว่า ไม่สามารถขอให้กับกาฟิรหัรบีย์ได้ แต่คนต่างศาสนิกคนนั้นไม่ได้เป็นกาฟิรหัรบีย์ นักวิชาการอิสลามก็ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม

๔.๑ สามารถขอดุอาร์ให้กับคนต่างศาสนิกได้ เพื่อให้เขานั้นเข้ารับอิสลามหรือหวังว่าเขาจะยอมรับอิสลาม หรือให้เขายอมรับสัจธรรม ซึ่งเป็นทัศนะของมัซหับอิหม่ามชาฟีอีย์ มัซหับอิหม่ามอะห์มัด ส่วนหนึ่งของอุลามาอฺมัซหับอิหม่ามอะบูหะนีฟะห์ และเป็นทัศนะที่เชคอิบนฺตัยมิยะห์ยอมรับและทำการตัรญิหฺ (อัซการอิหม่ามนะวาวีย์ หน้า ๓๑๗ ตุหฺฟะตูลมุหฺตาจ เล่ม ๒ หน้า ๘๘ ฟัยฎูลกอดีร เล่ม ๑ หน้า ๓๔๕ รูหุลบะยาน เล่ม ๒ หน้า ๒๕๓ มัจมูอุลฟะตาวา เล่ม ๑ หน้า ๑๔๔ มะฏอลิบอุลินนุฮา เล่ม ๒ หน้า ๖๐๘)


ซึ่งหลักฐานหนึ่งที่นำมาสนับสนุนทัศนะนี้ คือ

عن عُقبةَ بنِ عامرٍ الجُهنيِّ أنَّهُ مرَّ برجلٍ هيئتُه هيأةُ مُسلِمٍ ، فسلَّمَ فردَّ عليهِ : وعليكَ ورحمةُ اللهِ وبركاتُه ، فقال لهُ الغلامُ : إنَّهُ نَصرانيٌّ ! فقام عُقبةُ فتَبِعَه حتَّى أدركَهُ فقال : إنَّ رحمةَ اللهِ وبرَكاتُه علَى المؤمِنينَ ، لكِن أطالَ اللهُ حياتَكَ ، وأكثرَ مالَكَ وولدَكَ
(صحيح الأدب المفرد للشيخ الألباني برقم 847 وقال الألباني: حسن)

ความว่า จากอุกบะห์ บิน อามิร อัลญุฮะนีย์ ซึ่งแท้จริงเขาได้เดินผ่านผู้ชายคนหนึ่งมีลักษณะ(การสวมใส่) เหมือนคนมุสลิม แล้วเขาก็ได้ให้สลามแก่อุกบะห์ และท่านก็ได้ตอบสลามกลับไปว่า และสำหรับเจ้านั้น เราะห์มัตและความบะรอกัต คนใช้ของท่านก็กล่าวแก่ท่านว่า แท้จริงเขาเป็นคริสต์ อุกบะห์ก็หลุกขึ้นแล้วตามเขาคนนั้นจนพบ แล้วท่านก็กล่าวว่า แท้จริงความเมตตาของอัลลอฮฺและความบะรอกัตของพระองค์สำหรับผู้ศรัทธา ทว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงให้ท่านอายุยืน และให้ท่านมีทรัพย์สินและลูกหลานมากมาย

๔.๒ ส่วนหนึ่งของนักวิชาการอิสลามเห็นว่า ไม่อนุญาติให้ขอดุอาร์แก่คนต่างศาสนิก ซึ่งเป็นทัศนะที่กลุ่มหนึ่งอุลามาอฺสายมัซหับอิหม่ามอะบูหะนีฟะห์เห็นว่าเป็นทัศนะที่ดีกว่า (ตับยีนุลหะกออิก เล่ม ๖ หน้า ๓๐ อัลบะห์รุลรออิก เล่ม ๘ หน้า ๒๓๒)

ซึ่งทัศนะที่มีน้ำหนักกว่า คือ ทัศนะแรก และมีหลักฐานชัดเจนกว่า

ดังนั้น สำหรับพี่น้องมุสลิม ที่จะทำการใดๆในเรื่องที่เกี่ยวกับการขอพรหรือดุอาร์ให้กับคนต่างศาสนิก ก็ให้พิจรณาเองว่า บริบทไหน ทัศนะที่ท่านคิดว่า จะใช้ได้หรือไม่ วัลลอฮูอะลัม


...............................
ผศ.ดร.อิบรอเฮม สือแม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น