อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อิสลามมีคณะเดียวคือคณะที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและรสูล

ความหมายคณะเก่า-คณะใหม่(โกมตุวอ-โกมมุดอ)
อิสลามไม่มีคณะเก่า-คณะใหม่


คณะเก่า หมายถึง (ความหมายที่หนึ่ง ตามความเข้าใจของมุสลิมในเมืองไทย) มุสลิมที่ปฏิบัติศาสนาตามบรรพบุรุษ โดยไม่พิจารณาว่าสิ่งที่ปฏิบัติตามบรรพบุรุษนั้นจะถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่ก็ตาม


คณะเก่า (ความหมายที่สอง) หมายถึง มุสลิมในเมืองไทยที่ปฏิบัติศาสนาตามแนวทางของมัซฮับชาฟิอีย์

คณะใหม่ หมายถึง (ความหมายที่หนึ่ง ตามความเข้าใจของมุสลิมในเมืองไทย) มุสลิมที่ปฏิบัติตามสิ่งที่อยู่อัลกุรฺอาน และหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺ โดยไม่พิจารณาว่าการปฏิบัติตามสิ่งทั้งสองนั้นจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาแล้วในอดีตก็ตาม

 คณะใหม่ (ความหมายที่สอง) หมายถึง มุสลิมในเมืองไทยที่ปฏิบัติตามศาสนาโดยไม่ติดยึดอยู่กับมัซฮับหนึ่งมัซฮับใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมัซฮับชาฟิอีย์หรือมัซฮับอื่นๆ ก็ตาม

ดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างระหว่างคณะเก่ากับคณะใหม่ตามความเข้าใจของมุสลิมในเมืองไทย

อิสลามมีคณะเดียว
อิสลามมีคณะเดียวที่เชื่อฟังอัลลอฮ์และรสูล


 ส่วนหลักการของศาสนาที่แท้จริงแล้ว อิสลามไม่มีคณะใหม่หรือคณะเก่า และไม่คณะไหนทั้งสิ้น 

อิสลามมีคณะเดียว คือ คณะที่เชื่อฟังปฏิบัติอัลลอฮฺและรสูลเท่านั้น

ให้เราปฏิบัติสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ และละทิ้งในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม และให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺกำชับใช้และละทิ้งสิ่งที่ท่านรสูลได้ห้ามเอาไว้ หากปฏิบัติตามสิ่งทั้งสองข้างต้นแล้ว เราจะตรงกับใครหรือไม่ตรงกับใคร หรือจะตรงกับมัซฮับไหน หรือไม่ตรงกับมัซฮับไหนก็ไม่เป็นไร ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นอยู่ตรงที่เราเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลหรือเปล่าเท่านั้นเอง
 พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า

وَأَطيعُوا اللَّهَ وَالرَّسولَ لَعَلَّكُم تُرحَمونَ ﴿١٣٢

 ความว่า "สูเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและสูเจ้า (จงเชื่อฟัง) รสูล เพื่อว่าสูเจ้าจะได้รับความเมตตา" (สูเราะฮฺอาลิอิมรอน : 132)

กรณีที่มุสลิมบ้านเราแบ่งแยกคณะเก่า-คณะใหม่
อิสลามต้องเป็นหนึ่งเดียว
ตัวอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปว่าคณะเก่า และคณะใหม่ไม่ตรงกันตัวอย่าง เช่น

-คณะเก่ากินบุญบ้านคนตาย ส่วนคณะใหม่ไม่กินบุญบ้านคนตาย

- คณะเก่าจัดงานเมาลิดนบี ส่วนคณะใหม่ไม่จัดงานเมาลิดนบี

-คณะเก่าเศาะละวาตนบีหลังละหมาดฟัรฏู ส่วนคณะใหม่ไม่เศาะละวาตนบีหลังละหมาดฟัรฺฎุ

-คณะเก่าดุอาอฺกุนูตทุกครั้งที่ละหมาดศุบหฺ ส่วนคณะใหม่ไม่ดุอาอฺกุนูตในละหมาดศุบหฺ
 ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้คณะทั้งสองแตกต่างกัน
อิสลามจะเป็นหนึ่งเดียวหากตามอัลกุรอานและอัลหะดิษ


 แต่ที่แน่ๆ สองคณะนี้ตามบทบัญญัติและตามคำสอนของศาสนา แล้วอะไรที่ทำให้สองคณะนี้ต่างกัน

คำตอบคือ หากความหมายของคณะเก่า หมายถึง การปฏิบัติตามบรรพบุรุษในอดีต เช่นนี้มีโอกาสมากที่ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนา

เช่น หากบรรพบุรุษในอดีตจัดงานเมาลิดในแก่ท่านนบี มุสลิมในปัจจุบันก็ยังคงจัดงานเมาลิดให้แก่ท่านนบี เช่นนี้ถือว่าเราไม่ตามบทบัญญัติคำสอนของศาสนานั่นเอง

 ส่วนที่ทำให้ทั้งสองคณะแตกต่างกันนั้น เนื่องจากฝ่ายหนึ่งไม่ยึดหลักฐานที่มาจากอัลกุรฺอานหรือหะดีษของท่านนบี แน่นอน อย่างไรก็ไม่ตรงกันอยู่ดี เราจึงไม่พิจารณาว่าคณะไหนไม่ตรงกับคณะไหน

 ขอให้เราตรงกับสิ่งที่อยู่อัลกุรฺอาน หรือตรงกับหะดีษของท่านนบี ซึ่งหากไม่พบทั้งในอัลกุรฺอาน หรือในหะดีษของท่านนบี เราก็ต้องไปพิจารณาว่า มีการกระทำของบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือเปล่า หรือบรรดานักวิชาการเขาว่าอย่างไร? ทำนองนี้เป็นต้น

ฉะนั้น สรุปได้ว่า อิสลามไม่มีคณะไหนทั้งสิ้น แต่อิสลามมีคณะเดียวคือ คณะที่เชื่อฟังอัลลอฮฺเชื่อฟังรสูลเท่านั้น แม้ว่าคณะใหม่หรือคณะเก่า (ตามที่เราเข้าใจกันนั้น) กระทำไม่ถูกหลักการของศาสนา ก็ถือว่ากระทำผิดหลักการด้วยกันทั้งสิ้น

والله ولي التوفيق والهداية


เลิกเรียกคณะเก่า-คณะใหม่ กันเถอะพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลาย

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมว่าทุกศาสนาก็มีความคิดแบ่งแยกแตกสาย เป็นธรรมดา คุณผิดผมถูก ถ้าจะนับจริงๆ โดยตัวของบุคคลแต่ละคน ในรายละเอียดเรื่องของศาสนา ก็รู้ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ทุกคนมีมุมมองของตนเอง มักคิดว่าตัวเองถูกเสมอและมักจะอ้างว่า คิดตามคำสอนของศาสนา ความจริงต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามความรู้และประสบการณ์ของตนเอง แม้แต่สิ่งสูงสุดของศาสนาของแต่ละศาสนาในความรู้ของแต่ละคนก็ยังขัดแย้งกัน เถียงกันไปก็ตีกันตายเปล่าๆ ส่วนตัวของผม ผมคิดว่าเอาเวลาเถียงกัน มาปฎิบัติให้มากดีกว่า ทำมากย่อมรู้และเข้าใจถูกและผิด มากขึ้นเอง หากถูกทาง ผลก็ออกมาดี หากผิดทาง ผลออกมาคงรู้ได้ด้วยตนเองเป็นแน่ชัด

    ตอบลบ