อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ดุอาอ์จากอัลกุรอาน เมื่อโดนญิน

1. ซูเราะห์ ฟาติฮะห์


ความว่า
1- ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
2- การสรรเสริญทั้งหลายนั้น เป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก
3- ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
4- ผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งวันตอบแทน
5- เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์เคารพอิบาดะฮฺ  และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือ
6- ขอพระองค์ทรงแนะนำพวกข้าพระองค์ซึ่งทางอันเที่ยงตรง
7- (คือ) ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา มิใช่ในทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่ทางของพวกที่หลงผิด


2. ซูเราะห์ บากอเราะห์  อายะห์ 102



ความว่า
102- และพวกเขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรดาชัยฏอน ในสมัยสุลัยมานอ่านให้ฟัง และสุลัยมานหาได้ปฏิเสธการศรัทธาไม่ แต่ทว่าชัยฏอนเหล่านั้นต่างหากที่ปฏิเสธการศรัทธา โดยสอนประชาชนซึ่งวิชาไสยศาสตร์และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่มะลาอิกะฮ์ทั้งสอง คือ ฮารูต และมารูต ณ เมืองบาบิล และเขาทั้งสองจะไม่สอนให้แก่ผู้ใดจนกว่าจะกล่าวว่า แท้จริงเราเพียงเป็นผู้ทดสอบเท่านั้น ท่านจงอย่าปฏิเสธการศรัทธาเลย แล้วเขาเหล่านั้นก็ศึกษาจากเขาทั้งสอง สิ่งที่พวกเขาจะใช้มันยังความแตกแยกระหว่างบุคคลกับภรรยาของเขา และพวกเขาไม่อาจทำให้สิ่งนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้ใดได้ นอกจากด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็เรียนสิ่งที่เป็นโทษแก่พวกเขา และมิใช่เป็นคุณแก่พวกเขา และแท้จริงนั้นพวกเขารู้แล้วว่าแน่นอนผู้ที่ซื้อมันไว้นั้น ในปรโลกก็ย่อมไม่มีส่วนได้ใด ๆ และแน่นอนเป็นสิ่งที่ชั่วช้าจริง ๆ ที่พวกเขาขายตัวของพวกเขาด้วยสิ่งนั้น หากพวกเขารู้


3. อายะห์ กุรซียฺ  (ซูเราะห์ บากอเราะห์  อายะห์ 255)


ความว่า
255- อัลลอฮ์นั้น คือ ไม่มีผู้ที่เป็นที่เคารพสักการะใด ๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น ผู้ทรงมีชีวิต ผุ้ทรงบริหารกิจการทั้งหลายโดยที่การง่วงนอน และการนอนหลับใด ๆ จะไม่เอาพระองค์ สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้าและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นของพระองค์ ใครเล่าคือผู้ที่จะขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่น ณ ที่พระองค์ได้ นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าของพวกเขา และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ล้อมสิ่งใด จากความรู้ของพระองค์ไว้ได้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ประสงค์เท่านั้น เก้าอี้พระองค์นั้นกว้างขวางทั่วชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินและการรักษามันทั้งสองก็ไม่เป็นภาระหนักแก่พระองค์ และพระองค์นั้นคือผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่


4. ซูเราะห์ อัลอะอฺรอฟ  อายะห์ 117-119


ความว่า
117- และเราได้มีโองการแก่มูซาว่า จงโยนไม้เท้าของเจ้า แล้วทันใด มันก็กลืนสิ่งที่พวกเขาลวงตาไว้
118- และความจริงก็ได้เกิดขึ้น และสิ่งที่พวกเขากระทำกันขึ้นก็ตกไป
119- แล้วที่นั่นแหละพวกเขาก็ได้รับความพ่ายแพ้ และกลายเป็นผู้ต่ำต้อย


5. ซูเราะห์ ยูนุส  อายะห์  79 – 82


ความว่า
79-  และฟิรเอาน์ได้กล่าวว่า “พวกท่านจงนำมาให้ฉัน นักวิทยากลผู้เชี่ยวชาญทุกคน”
80-  เมื่อนักวิทยากลมาแล้ว มูซาได้กล่าวกับพวกเขาว่า “พวกท่านจงโยนสิ่งที่พวกท่านนำมาเพื่อจะโยนเถิด”
81- เมื่อพวกเขาได้โยนไปแล้ว มูซาได้กล่าวว่า “สิ่งที่พวกท่านนำมานั้นคือวิทยากล แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงทำลายมัน แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงทำให้การงานของบรรดาผู้บ่อนทำลายดีขึ้น”
82- และอัลลอฮ์จะทรงให้สัจธรรมยืนหยัดอยู่ ด้วยคำกล่าวของพระองค์ และแม้ว่าบรรดาคนชั่วจะเกลียดชังก็ตาม

6. ซูเราะห์ ตอฮา  อายะห์  65 – 69


ความว่า
65- พวกเขากล่าวว่า “โอ้ มูซาเอ๋ย ! ท่านจะเป็นผู้โยนหรือว่าพวกเราจะเป็นผู้โยนก่อน”
66- มูซากล่าวว่า “แต่ว่าพวกท่านจงโยนก่อนเถิด” ณ บัดนั้น เชือกและไม้เท้าของพวกเขาดูประหนึ่งว่ามันเลื้อยคลานไปมาเพราะเล่ห์กลของพวกเขา
67- มูซาจึงรู้สึกกลัวขึ้นในตัวของเขา
68- เรากล่าวว่า “เจ้าอย่ากลัว แท้จริง เจ้าอยู่ในสภาพที่เหนือกว่า”
69- “และเจ้าจงโยนสิ่งที่อยู่ในมือขวาของเจ้า มันจะกลืนสิ่งที่พวกเขาทำขึ้น แท้จริงสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นนั้นเป็นแผนของนักมายากล และนักมายากลนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าเขาจะมาจากทางไหนก็ตาม”

7. ซูเราะห์  อัลกาฟีรูน (กุลยา)

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِِ

ความว่า
 ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
1- จงกล่าวเถิด มุฮัมมัดว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเอ๋ย
2- ฉันจะไม่เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดีอยู่
3- และพวกท่านก็ไม่ใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี
4- และฉันก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดี
5- และพวกท่านก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี
6- สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน

8. ซูเราะห์  อัล-อิคลาศ 

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِِ

ความว่า
   ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
1- จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ
2- อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นที่พึ่ง
3- พระองค์ไม่ประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ
4- และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์


9. ซูเราะห์  อัล-ฟาลัก

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِِ


ความว่า
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
1- จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ
2- ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น
3- และจากความชั่วร้ายแห่งความมืดของเวลากลางคืนเมื่อมันแผ่คลุม
4- และจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้เสกเป่าในปมเงื่อน
5- และจากความชั่วร้ายของผู้อิจฉาเมื่อเขาอิจฉา

10. ซูเราะห์  อันนาซ

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِِ

ความว่า
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
1- จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ
2- พระราชาแห่งมนุษย์ชาติ
3- พระเป็นเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ
4- ให้พ้นจากความชั่วร้ายของผู้กระซิบกระซาบที่หลอกล่อ
5- ที่กระซิบกระซาบในหัวอกของมนุษย์
6- จากหมู่ญินและมนุษย์



การรักษานั้นมาจากพระองค์  หน้าที่เราคือต้องเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง มีความบริสุทธิ์ใจ  พยายามอย่างดีที่สุด และถูกต้องตามหลักการศาสนา  ส่วนจะหายหรือไม่อยู่ที่พระประสงค์ของพระองค์
ให้นำใบพุทรามา 7 ใบ   ตำให้ละเอียด  เทใส่ในภาชนะบรรจุน้ำสำหรับอาบและดื่ม
ให้อ่านอายะห์ต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ต้นละ 3 หรือ 7 รอบ แล้วเป่าลงในน้ำ
ให้ดื่มไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือให้ใช้อาบ
ทำครั้งเดียวหรือมากว่านั้น  อินชาอัลลอฮฺ หวังว่าพระองค์จะทรงรักษาให้หายจากการโดนญิน โดนของ และโดนสายตาที่อิจฉา



วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

มุสลิมกับการเป็นดารา


การเป็นดารา หาเงินง่าย ทำตามคำสั่งของผู้กำกับ เขาจับใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ต้องใส่ ไม่ว่าจะแก้ผ้าหรือนุ่งน้อยห่มน้อยก็ตามแต่ เพราะต้องการ “เงิน” และ “อยากดัง”
ตอนเด็กๆเคยฝันอยากเป็นอะไรกันบ้าง…? คุณครู พยาบาล คุณหมอ ตำรวจ ทหาร ….ดารา เชื่อว่าการเป็นดาราต้องเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งของเด็กๆ เพราะเกิดมาเราก็ได้ดูโทรทัศน์และเกิดการซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ อาชีพ ดารา นักร้อง นักแสดง นางแบบ ต้องขายรูปลักษณ์ภายนอกเป็นอาชีพที่ได้รายได้จำนวนมากและก็ได้มาโดยง่ายด้วย แต่กว่าที่จะได้เงินมานั้นก็ต้องมีชื่อเสียง มีหน้าตาทางสังคมและมีความสามารถ ถึงจะอยู่ในวงการนี้ได้
เราคงปฏิเสธกันไมได้ว่า”เงิน”เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตในยุค ปัจจุบัน จนทำให้ทุกคนแสวงหา ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้”เงิน” ดังคำกล่าวที่ว่า “เงิน คือ งาน งาน คือ เงิน บรรดาลสุข” หรือบางคนอาจกล่าวว่า “เงิน คือ พระเจ้า”
แต่สำหรับมุสลิม เรารู้ว่าพระเจ้า คือใคร ? และเรายอมรับว่า “เงิน” คือ สิ่งที่พระองค์ ประทานมาให้แก่มนุษย์ทุกคน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการกำหนด และบททดสอบที่ได้รับของแต่ละคน และเราจะต้องทำงานเพื่อเปิดช่องทางให้อัลลอฮ์ ประทานปัจจัยยังชีพต่างๆมาให้ มิใช่การนั่งอยู่เฉยและขอให้อัลลอฮ์ ประทานเงินให้หล่นลงมา
ใครจะรู้บ้างว่าชีวิตดาราเหล่านั้นไม่ได้มีความสงบสุข ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง หรือแม้แต่เวลาให้กับตัวเอง ถ้าเรามองเพียงภายนอกดูเหมือนพวกเขาน่าจะมีความสุข แต่แท้จริงแล้ว พวกเขากำลังจมดิ่งลงสู่วังวนแห่งความทุกข์ ความอึดอับ คับแคบ ความเศร้าที่ไม่สามารถระบายให้ใครฟังได้ การถูกจับตามองเมื่อก้าวเดินไปในสถานที่ต่างๆ จากความอิสระได้กลายเป็นผู้ที่ไร้ซึ่งเสรีภาพอย่างน่าสงสาร พวกเขาเหงา และอ้างว้าง

ชีวิตที่วนเวียนอยู่กับภาพ”มายา” จึงต้องใช้เงินซื้อสิ่งของต่างๆเพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์โศกที่มี เงินที่หามาได้จึงหมดไปกับการเสริมแต่งรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ เสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อให้ดูว่าดี และเพื่อเป็นช่องทางในการใช้หาเงินต่อไป เงินที่ได้มาของพวกดารา นักร้อง นักแสดงทั้งหลาย จึงเป็นเงินที่ไม่มีความจำเริญ หมดไปได้โดยง่าย และจ่ายไปกับเรื่องไร้สาระต่างๆ จึงต้องดิ้นรนในการหาเงินเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เงินที่ได้มานั้นบ้างก็ต้องนำไปรักษาสุขภาพร่างกาย เพราะการใช้ร่างกายอย่างหักโหมและการทำงานที่ไม่มีวันหยุด บ้างนำไปเสพติดยาเพราะความเครียด บางครั้งเงินที่ได้มาก็ไม่พอที่จะรักษาโรคร้ายที่รุมเร้าให้หายได้ และบางครั้งก็ตายก่อนที่จะได้ใช้เงินที่อุตส่าห์หามา ตัวอย่างต่างๆ มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ดาราเก่าดับลง ดาวรุ่งพุ่งแรงแซงทางโค้งก็ขึ้นมาแทนที่ เป็นอาชีพที่ไม่มีความแน่นอนในชีวิต แต่ประสบการณ์ต่างๆกลับไม่ได้เป็นข้อคิดให้กับเยาวชนที่ฝันอยากเป็น “ดารา” เลยแม้แต่น้อย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นแสดงให้เห็นว่านอกจากอาชีพดาราที่ ทำให้ได้เงินมาง่ายๆแล้ว แต่สำหรับอิสลามแล้วยังมีอาชีพอื่นๆอีกมากมายที่สามารถทำแล้วถูกต้องตามหลัก การของศาสนา ไม่ต้องมานั่งเป็นหุ่นเชิด ทำตามคำสั่งคนนั้นที คนนี้ที บางคนอยากเป็นดารามากถึงขั้นต้องสร้างเรื่องหลอกลวงประชาชนต่างๆนานาให้ตน เองดูดี แล้วสุดท้ายก็โดนแฉ ขุดคุ้ยซะเละ เฮ้อ! คิดแล้วเหนื่อยใจ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด อย่าไปหลงกับภาพมายา แสง สี เสียง ที่ชัยฏอนมารร้ายนั้นคอยยุยงและหลอกลวงให้ลูกหลานอาดัมหลงเชื่อ ดังที่มันบอกไว้ว่า”มันจะสัญญาแก่พวกเขา และจะทำให้พวกเขาเพ้อฝัน และชัยฏอนมันจะไม่สัญญานอกจากการหลอกลวงเท่านั้น” ฉะนั้นแล้วพวกเราต้องเลือกที่จะเป็นคน”ฉลาดแบบมุมินอฺ”ที่ทำตามคำสั่งพระ องค์อัลลอฮ์ และปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.)



(ร่วมนำเสนอสิ่งดีๆ โดย เพจศาสนาอิสลาม - الإسلام)
ข้อมูล/เนื้อหาโดย thaimuslim


วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รางทอง (ميزاب الكعبة المشرفة) ฉบับไม่งมงาย


มักกะห์ในช่วงเวลาที่ตกแบบนี้ มักมีประชาชนจำนวนมากต่างแย่งกันไปอาบและรองน้ำฝนที่ไหลลงมาจากมีซาบ (หรือที่รู้จันกันว่า “รางทอง” ) ซึ่งพวกเขามีความเชื่อกันอย่างฝังใจว่า ที่รางทองเป็นสถานที่มุสตะญาบ(ตอบรับดุอา) จากอัลลอฮ์เป็นพิเศษ และผลจากการแย่งกันไปอาบและรองน้ำฝนดังกล่าวนี้จึงทำให้มีการเหยียบกันตายหลายคนในแต่ละปี...

ความจริงแล้วมีซาบหรือรางทองนี้ เป็นเพียงรางน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาบนหลังคาทางด้านทิศเหนือของตัวอาคารกะอฺบะฮ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรางน้ำทองคำสีเหลืองอร่ามยื่นยาวออกไปทางด้านบนเหนือหินโค้งหรือหิจญร์อิสมาอีล มีเป้าหมายในการสร้างเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำฝนและมูลนกพิราบเวลามีฝนตก หรือระบายน้ำเวลามีการทำความสะอาดหลังคาบัยตุ้ลลอฮ์...

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ผู้ที่สร้างมีซาบเป็นครั้งแรกก็คือชาวอาหรับกุเรช โดยพวกเขาได้สร้างมันตอนมีการสร้างหลังคากะอฺบะฮ์ (สมัยก่อนกะอฺบะฮ์ไม่มีหลังคา) ก่อนท่านศาสดาจะถูกแต่งตั้งเป็นรอซู้ล 5 ปี โดยสร้างจากแผ่นไม้กระดาน ...

ต่อมาในสมัยของคอลีฟะฮ์อัล-วะลีด บินอับดุลมะลิก (ปีฮ.ศ. 91) เจ้าผู้ครองนครมักกะฮ์ในสมัยนั้น คือกษัตริย์คอลิด บินอับดุลลอฮ์ อัล-เกาะซะรีย์ได้ใช้แผ่นทองคำหุ้มไม้กระดานมีซาบไว้ ...

ในปีฮ.ศ. 1273 สุลฏอนอับดุลมะญีด คาน แห่งวงศ์อุษมานีย์ซึ่งครองอำนาจอยู่ในตุรกี ได้ส่งมีซาบที่เป็นแผ่นทองคำมาวางแทนที่มีซาบเก่าที่เป็นไม้หุ้มทอง

จนถึงปี ฮ.ศ. 1417 กษัตริย์ฟาฮัด บินอับดุลอะซีซแห่งสะอุดีอารเบียก็มีบัญชาให้สร้างมีซาบจากทองคำบริสุทธิ์ และถูกนำมาวางไว้บนหลังคากะอฺบะฮ์จนถึงทุกวันนี้ โดยมีความยาวประมาณ 2 เมตร ...

สรุปแล้ว มีซาบหรือรางทองจึงไม่เป็นอะไรมากไปกว่ารางน้ำจากทองคำ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้รองน้ำฝนหรือรองน้ำเวลามีการชำระล้างหลังคากะอฺบะฮ์เท่านั้น ไม่มีหลักฐานใดๆเลยที่จะบ่งชี้ว่า มีซาบเป็นตำแหน่งมุสตะญาบดุอาใดๆเป็นพิเศษ ดังความเข้าใจผิดๆของพี่น้องมุสลิมจำนวนมาก ...

เรื่องอะกีดะฮ์หรือความเชื่อใดๆ จะต้องมีหลักฐานที่มาจากอัล-กุรฺอ่านหรือหะดีษเท่านั้น มิฉะนั้นมันจะเปลี่ยนเป็น “ความงมงาย” ไปทันที ดังเช่นในกรณีของรางทองนี้ ... เป็นต้น

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การลงสุยูดจากหะดีษอิบนุอุมัรฺ

ไขข้อข้องใจ
เรื่องอริยาบถการลงสุยูดจากหะดีษอิบนุอุมัรฺ
โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณ คุณ Abu taimiah เป็นอย่างมากที่กรุณาช่วยตรวจสอบความผิดพลาดในข้อเขียนเรื่องต่างๆของผมซึ่งคงต้องมีบ้างตามวิสัยปุถุชนแน่นอน ขอพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงตอบแทนความดีแก่คุณมากๆด้วยครับ ...
สำหรับในเรื่องหะดีษของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ซึ่งรายงานโดยท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ, จากท่านนาฟิอฺที่กล่าวว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ลงสุยูดโดยวางมือทั้งสองบนพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ .. และผมก็กล่าวว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้อง อันอาจเป็นการ “มองต่าง” จากคุณ นั้น ...
ข้อเขียนครั้งสุดท้ายของคุณ ผมได้อ่านแล้วด้วยความขอบคุณและยอมรับในข้อมูลที่คุณคัดลอกมาอย่างถูกต้อง แต่ผมมีสิ่งที่จะต้องชี้แจงดังนี้ ...
(1). ในเรื่องความหมาย “หะดีษมุงกัรฺ” ดังที่ท่านอิหม่ามนะวะวีย์อธิบายไว้ในหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่าน ในทัศนะผมเห็นว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลยกับความหมายหะดีษ “มุงกัรฺ” ดังคำกล่าวของท่านมุสลิม ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ก็อธิบายแล้วว่า หะดีษมุงกัรฺที่ท่านมุสลิมกล่าวถึง คือหะดีษเฎาะอีฟมากที่จะรับมาปฏิบัติไม่ได้ (مَرْدُوْدٌ) อันเป็นทัศนะของนักวิชาการหะดีษทั่วไป ...
ส่วนหะดีษมุงกัรฺอีกความหมายหนึ่ง อันหมายถึงหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาเพียงลำพัง - ไม่ว่าผู้นั้นจะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม - โดยไม่มี مُتَابِعٌ .. คือ ไม่มีผู้ซึ่งรายงานหะดีษนั้นจากเศาะหาบะฮ์ท่านเดียวกัน มาสอดคล้องกับเขา .. ก็เป็นทัศนะของนักวิชาการหะดีษอีกกลุ่มหนึ่งในอดีต เช่นท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านฮาฟิษอัล-บัรฺดีญีย์ เป็นต้น และนักวิชาการหะดีษยุคหลังจำนวนมากเช่นท่านอิบนุศเศาะลาห์, ท่านอิบนุกะษีรฺ เป็นต้น ก็ไม่ปฏิเสธความหมายนี้ ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์” เกี่ยวกับประวัติท่านมุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัต-ตัยมีย์ (หน้า 437) ว่า ...
قُلْتُ : اَلْمُنْكَرُ أَطْلَقَهُ أَحْمَدُ بْنُ حَنْبَل وَجَمَاعَةُ الْمُحَدِّثِيْنَ عَلَى الْفَرْدِ الَّذِىْ لاَ مُتَابِعَ لَهُ فَيُحْمَلُ هَذَا عَلَى ذَلِكَ، وَقَدِ احْتَجَّ بِهِ جَمَاعَةٌ
“ฉันขอกล่าวว่า คำว่า “มุงกัรฺ” นั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดและนักวิชาการหะดีษกลุ่มหนึ่ง ได้ใช้มันในความหมายถึงหะดีษที่มีผู้รายงานเพียงผู้เดียว โดยไม่มีผู้ใดรายงานสอดคล้องกับเขา ซึ่งท่านผู้นี้ (อะห์มัด บินอิบรอฮีม อัต-ตัยมีย์) ก็ต้องถือว่าอยู่ใน(ความหมายมุงกัรฺ)ตามนัยนี้ เพราะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ให้ความเชื่อถือเขา” ...
และท่านอิบนุหะญัรฺ ยังกล่าวในหนังสือเล่มเดียวกัน เกี่ยวกับประวัติของท่านยูนุส บินอัล-กอซิม อัล-หะนะฟีย์ (หน้า 455) ว่า ...
فَمَذْهَبُ الْبَرْدِيْجِىِّ أَنَّ الْمُنْكَرَ هُوَ الْفَرْدُ، سَوَاءٌ تَفَرَّدَ بِهِ ثِقَةٌ أَوْ غَيْرُ ثِقَةٍ، .....
“ตามทัศนะของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ (ชื่อจริงคือ อะห์มัด บินฮารูน สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 301) หะดีษมุงกัรฺ ก็คือหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาเพียงคนเดียว ไม่ว่าผู้รายงานคนเดียวนั้นจะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม ..........” ...
สรุปแล้ว ท่านมุสลิมและนักวิชาการหะดีษทั่วไป มองหะดีษมุงกัรฺในแง่ความไม่น่าเชื่อถือของผู้รายงาน หรือการรายงานของผู้รายงานที่ขาดความเชื่อถือให้ขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ หะดีษมุงกัรฺในทัศนะนี้ทั้งหมด จึงเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมาก ...
แต่ท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอัล-บัรฺดีญีย์ มองหะดีษมุงกัรฺ ในแง่ภาษา ...
ทั้งนี้ เพราะคำว่า มุงกัรฺ (مُنْكَرٌ) มีที่มาจากรากศัพท์ว่า نَكَارَةٌ ซึ่งมีความหมายว่า تَفَرُّدٌ แปลว่า ตามลำพัง .. จึงเป็นที่มาของความหมายหะดีษมุงกัรฺว่า หมายถึงหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาตามลำพัง ดังกล่าวมาแล้ว ....
หะดีษมุงกัรฺตามทัศนะนี้ จึงมีทั้งที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ ตามคุณสมบัติของผู้รายงานในแต่ละหะดีษ ...
เพราะฉะนั้น หะดีษมุงกัรฺตามทัศนะของท่านมุสลิมและนักวิชาการหะดีษทั่วไป จึงไม่ใช่หะดีษมุงกัรฺตามมุมมองของท่านอะห์มัด, ท่านอัล- บัรฺดีญีย์และนักวิชาการกลุ่มนี้ ...
หรืออีกนัยหนึ่ง หะดีษมุงกัรฺของท่านมุสลิม ไม่ใช่หะดีษมุงกัรฺของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ และหะดีษมุงกัรฺของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ ก็มิใช่หะดีษมุงกัรฺของท่านมุสลิม ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบในเรื่องนี้ ได้แก่คำว่า “หัวไทร” ..
คำๆนี้ ถ้าท่านถามผมหรือถามคนนครทั่วไปก็ต้องบอกว่า หัวไทร หมายถึงอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช (และเป็นบ้านเกิดของผม) ...
แต่ถ้าท่านไปถามชาวจังหวัดพัทลุง เขาก็ต้องตอบท่านว่า หัวไทรก็คือตำบล(หรือหมู่บ้าน)หนึ่งในจังหวัดพัทลุงของพวกเขา (ไม่แน่ใจว่าอยู่ในเขตอำเภอเขาชัยสนหรืออำเภอปากพยูน) ...
คำตอบทั้ง 2 ตามตัวอย่างเปรียบเทียบนี้มิได้ขัดแย้งกันเลย เพราะหัวไทรของนครศรีธรรมราช ก็ไม่ใช่หัวไทรของพัทลุง และหัวไทรของพัทลุง ก็ไม่ใช่หัวไทรของนครศรีธรรมราช ...
เรื่องหะดีษมุงกัรฺตามที่ผมอธิบายมา ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ ...
หวังว่า คงเข้าใจตามที่ผมเปรียบเทียบมานี้นะครับ ...
(2). ในกรณีหะดีษที่ท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ ผู้รายงานหะดีษเรื่องการลงสุยูดของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ข้างต้น ได้รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ แล้วถูกวิจารณ์ว่าเป็นหะดีษมุงกัรฺ นั้น ...
ผมขอเรียนชี้แจงดังนี้ ...
ก. ท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ (สิ้นชีวิตเมื่อปีฮ.ศ. 186 หรือ 187) ปกติ เป็นผู้รายงานที่พอจะเชื่อถือได้ (صَدُوْقٌ) เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์, มุสลิม, อัน-นซาอีย์, อบูดาวูด, อัต-ติรฺมีซีย์ และอิบนุมาญะฮ์ ...
ทว่า แม้จะเป็นผู้รายงานของท่านมุสลิม แต่ปรากฏว่า ท่านมุสลิมไม่เคยรายงานหะดีษใดที่ท่านผู้นี้ได้รายงานมาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ เลย ...
ท่านอัน-นซาอีย์กล่าววิจารณ์ว่า หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์เป็นหะดีษมุงกัรฺ, (จากตะฮ์ซีบุต ตะฮ์ซีบ เล่มที่ 6 หน้า 316) และท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ชัรฺหุมะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 2 หน้า 197 ว่า นักวิชาการหะดีษกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับรายงานของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์เลยในทุกๆกรณี (คือ ไม่ว่าจะขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งกับผู้ใดก็ตาม) ...
จากการวิจารณ์ของท่านอัน-นซาอีย์ข้างต้น ผนวกกับการกระทำของท่านมุสลิมบ่งบอกความหมายว่า รายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ เป็นรายงานที่ “มีปัญหา” แน่นอน ...
ปัญหาที่ว่านี้ คืออะไร ?? ...
คำตอบก็คือ “ปัญหา” ดังกล่าวไม่ใช่เพราะท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ขาดความน่าเชื่อถือ แต่หมายถึง รายงานของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ มักขัดแย้งกับผู้รายงานของท่านผู้ที่เชื่อถือได้ท่านอื่นๆเสมอ ดังตัวอย่างหะดีษจากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ในหนังสือ “ชัรฺหุ มะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 2 หน้า 197 เป็นต้น ...
ข. แต่ .. ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการหะดีษอีกกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่นท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอัล-หากิม, ท่านอัษ-ษะฮะบีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ เป็นต้น ยอมรับหะดีษที่ท่านอับดุลอะซีซ ได้รายงานมาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ว่ามันเป็นหะดีษที่ถูกต้อง (صَحِيْحٌ) ตราบใดที่ไม่ปรากฏว่า รายงานนั้นไปขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ท่านอื่นๆ ...
ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้รายงานหะดีษบทหนึ่ง จากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ (หะดีษที่ 3065 จากหนังสือตุห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ของท่านมุบาร็อกปูรีย์ หรือหะดีษที่ 2901 จากอัล-ญาเมียะอฺ อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์ ของท่านมุหัมมัดชากิรฺ) แล้วท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ก็กล่าวว่า “นี่เป็นหะดีษหะซัน, เฆาะรีบ, เศาะเหี๊ยะฮ์ จากกระแสของ (ท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จาก) ท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ จากท่านษาบิต (อัล-บุนานีย์) ...
ที่น่าสังเกตก็คือ หะดีษข้างต้นจากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ ที่ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษหะซัน, เฆาะรีบ, เศาะเหี๊ยะฮ์ บทนี้ ไม่มีหะดีษใดที่รายงานมาให้ขัดแย้งเลย ...
ค. เพราะฉะนั้น สำหรับผู้มีใจเป็นธรรม (مُنْصِفٌ) แล้ว ก็คงไม่ปฏิเสธว่า ในกรณีการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ นี้ การปฏิเสธไม่ยอมรับทั้งหมดในทุกๆกรณี หรือการยอมรับมันทั้งหมดในทุกๆกรณี จึงไม่น่าจะถูกต้อง ...
แต่ที่ถูกต้องและยุติธรรม (إنْصَافٌ) ที่สุดก็คือ ต้องแยกแยะดูว่า หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทใด มีรายงานจากกระแสอื่นที่น่าเชื่อถือกว่า รายงานมาให้ขัดแย้งบ้างหรือไม่ ...
ถ้ามี ก็ต้องปฏิเสธรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทนั้นไป แต่ถ้าไม่มีรายงานขัดแย้ง ก็ให้ยอมรับไว้ เพราะโดยพื้นฐานของท่านอับดุลอะซีซผู้นี้ เป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้ ดังกล่าวมาแล้วตอนต้น ...
สรุปแล้ว คำว่า “หะดีษมุงกัรฺ” ดังที่ท่านอัน-นซาอีย์วิจารณ์การรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ จึงมีอยู่เพียงกรณีเดียวคือ ถ้ารายงานของท่านไปขัดแย้งกับรายงานผู้อื่นที่เชื่อถือได้กว่าเท่านั้น ...
(3). สำหรับหะดีษจากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ, จากท่านนาฟิอฺที่กล่าวว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ลงสุยูดโดยวางมือทั้งสองบนพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ ...
ผู้ที่ปฎิเสธหะดีษบทนี้ ก็คือท่านอัล-บัยฮะกีย์ .. แต่ท่านไม่ได้ปฏิเสธข้อความตอนต้นของหะดีษอันเป็นการกระทำของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. (เรียกว่า หะดีษเมากูฟ) ที่บอกว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. สุยูดโดยเอามือลงพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แต่ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ปฏิเสธข้อความตอนท้ายของหะดีษที่ว่า .. แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหะดีษมัรฺฟูอฺ คืออ้างว่าเป็นการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออฺ” เล่มที่ 2 หน้า 100) ในลักษณะว่า ...
كَذَا قَالَ عَبْدُ الْعَزِيْزِ الدَّرَاوَرْدِىُّ، وَلاَ أَرَاهُ إِلاَّ وَهَمًا
“อย่างนี้แหละ .. (คือข้อความว่า .. แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้) .. ที่อับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์กล่าว ฉันไม่เห็นว่ามันจะเป็นอะไรนอกจากความผิดพลาดสถานเดียว” ...
แล้วท่านอัล-บัยฮะกีย์ก็นำหะดีษอีกบทหนึ่งที่ท่านเห็นว่า ขัดแย้งกับหะดีษของท่านอับดุลอะซีซ ในแง่ที่ว่าหะดีษใหม่ที่ท่านนำมานี้ เป็นรายงานที่แพร่หลายจาก “คำกล่าว” ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ “การกระทำ” ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ดังรายงานของท่านอับดุลอะซีซเลย ซึ่งหะดีษบทนี้ เป็นการรายงานจากท่านอัยยูบ จากท่านนาฟิอฺ จาก “คำพูด” ของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ที่กล่าวว่า ...
إِذَا سَجَدَ أَحَدُكُمْ فَلْيَضَعْ يَدَيْهِ، فَإِذَا رَفَعَ فَلْيَرْفَعْهُمَا، فَإِنَّ الْيَدَيْنِ تَسْجُدَانِ كَمَا يَسْجُدُ الْوَجْهُ
“เมื่อพวกท่านคนใดจะสุยูด ก็จงวางมือทั้งสองของเขาลง และเมื่อเขาจะลุกขึ้น ก็ให้เขายกมันทั้งสองขึ้นมา เพราะมือทั้งสองจะสุยูด เหมือนการสุยูดของใบหน้านั่นแหละ’”
(จากหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออฺ” เล่มที่ 2 หน้า 101) ...
แต่ทัศนะของท่านอัล-บัยฮะกีย์ข้างต้น ถูกโต้แย้งโดยนักวิชาการหลายท่านในลักษณะว่า รายงานจากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. บทแรกกับบทหลังนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ...
ท่านอิบนุ้ลตัรฺกะมานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-เญาฮะรุ้ลนะกีย์” ของท่านซึ่งเป็นหนังสืออธิบายหะดีษอัส-สุนัน อัล-กุบรออฺของท่านอัลบัยฮะกีย์ และตีพิมพ์รวมเล่มด้วยกันว่า ...
“และสิ่งซึ่งท่านอัล-บัยฮะกีย์กล่าวว่า เป็นข้อบกพร่องจากหะดีษดังกล่าว (หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ ) คำกล่าวนี้ จะต้องพิจารณา เพราะในแต่ละหะดีษจากหะดีษสองบทนั้น ความหมายบทหนึ่งจะแยกต่างหากจากความหมายของอีกบทหนึ่ง (คือ ไม่ได้ขัดแย้งกันดังทัศนะของท่านอัล-บัยฮะกีย์) ......”
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ก็ได้กล่าวติงท่านอัล-บัยฮะกีย์ไว้เช่นกันในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 2 หน้า 291 ว่า ...
وَلِقَائِلٍ أَنْ يَقُوْلَ : هَذَاالْمَوْقُوْفُ غَيْرُ الْمَرْفُوْعِ ! فَإِنَّ اْلأَوَّلَ فِىْ تَقْدِيْمِ وَضْعِ الْيَدَيْنِ عَلَى الرُّكْبَتَيْنِ، وَالثَّانِىَ فِىْ إِثْبَاتِ وَضْعِ الْيَدَيْنِ فِى الْجُمْلَةِ ....
“อย่างนี้ ใครสักคนก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า .. หะดีษเมากูฟบท(หลัง)นี้ เป็นคนละเรื่องกับหะดีษมัรฺฟูอฺ (บทก่อน ..) เพราะหะดีษบทก่อนนั้น กล่าวถึงการวางมือทั้งสองก่อนเข่าทั้งสอง ส่วนหะดีษบทหลัง ยืนยันถึงการวางมือทั้งสอง(ลงกับพื้นขณะสุยูด)ในภาพรวม (คือ ไม่ได้ระบุเรื่องก่อนเข่าหรือหลังเข่า)” ...
หะดีษทั้งสองบทนี้จึงไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด ...
สรุปแล้ว หะดีษรายงานลักษณะการลงสุยูด โดยการวางมือทั้งสองลงบนพื้นก่อนเข่าทั้งสองของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. จากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทนี้ จึงไม่มีรายงานใดที่ถูกต้องกว่า รายงานมาให้ขัดแย้งจนนำไปสู่การหุก่มว่า มันเป็นหะดีษมุงกัรฺได้ ...
ด้วยเหตุนี้ หะดีษบทนี้จึงถูกรับรอง ความถูกต้อง (تَصْحِيْحٌ)โดยนักวิชาการหะดีษระดับโลกทั้งอดีตและปัจจุบันหลายท่าน อาทิเช่น ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอัลหากิม, ท่านอัษ-ษะฮะบีย์, ท่านอัล-อัลบานีย์ เป็นต้น ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
นอกจากนี้ หะดีษบทนี้ยังมี “หลักฐานสนับสนุน” ในลักษณะ “ชาฮิด” .. (คือหะดีษที่มีข้อความเดียวกัน หรือเนื้อหาคล้ายคลึงกันที่ถูกรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์ท่านอื่น) คือ ...
1. หะดีษซึ่งถูกรายงานมาจากท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านมุหัมมัด บินอับดุลลอฮ์ บินหะซัน, จากท่านอบีย์ อัส-สินาด, จากท่านอัล-อะอฺร็อจญ์, จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. จากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวว่า ...
إِذَا سَجَدَ أَحَدُكُمْ فَلاَ يَبْرُكْ كَمَا يَبْرُكُ الْبَعِيْرُ، وَلْيَضَعْ يَدَيْهِ قَبْلَ رُكْبَتَيْهِ
“เมื่อคนใดจากพวกท่านจะสุยูด ก็อย่าให้เขาหมอบลงเหมือนการหมอบของอูฐ จงให้เขาวางมือทั้งสองของเขาก่อนมือทั้งสองของเขา” ...
(บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอะห์มัด, ท่านอัด-ดาเราะกุฏนีย์, ท่านอัฎ-เฏาะหาวีย์ เป็นต้น) ...
2. ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ ได้บันทึกในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน หะดีษที่ 169 จากท่านอะฏออฺ, จากท่านอบูหุมัยด์ อัซ-ซาอิดีย์ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ร่วม 10 คนที่นั่งชุมนุมกัน ว่า ...
اَنَا أُعَلِّمُكُمْ بِصَلاَةِ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ............ ثُمَّ يَهْوِىْ إِلَى اْلأَرْضِ وَ يُجَافِىْ يَدَيْهِ عَنْ جَنْبَيْهِ، ثُمَّ يَسْجُدُ، وَقَالُوْا جَمِيْعًا : صَدَقْتَ، هَكَذَا كَانَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُصَلِّىْ
“ฉันจะบอกให้พวกท่านรู้ถึงการนมาซของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ............... หลังจากนั้น ท่านรอซู้ลจะย่อตัวลงสู่พื้นในลักษณะมือทั้งสองของท่าน แยกห่างออกจากสีข้างของท่าน แล้วท่านก็สุยูด, พวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮ์)ทั้งหมดกล่าวว่า .. จริงของท่าน, อย่างนี้แหละที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเคยนมาซ” ...
ลงสุยูดอย่างไร - ในระหว่างเอามือลงพื้นก่อน หรือเอาเข่าลงพื้นก่อน - มือทั้งสองจึงจะแยกห่างออกจากสีข้าง ดังรายงานข้างต้น ก็ให้ท่านผู้อ่านไปทดลองทำดูกันเอาเองนะครับ ...
รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องอิริยาบถการลงสุยูด ตลอดจนการวิเคราะห์หะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือ “ท่านถาม – เราตอบ” เรื่องวิธีการลงสุยูด จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก ณ ที่นี้ ...
และนี่ คือคำชี้แจงเกี่ยวกับหลักฐานของเรื่องนี้ในมุมมองของผม ซึ่งมันอาจจะผิดพลาดก็ได้ จะอย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณต่อคุณ Abu Taimiah อย่างจริงใจอีกครั้งที่ทำให้ผมได้มีโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ พอสังเขปในเฟซบุ้คนี้ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม


การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรูฎูหรือนมาซสุนัต.


ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม 
ผมอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่ง บอกว่า มีหลักฐานจากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ให้ยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตได้ (ผมได้ถ่ายเอกสารหนังสือเล่มนั้นส่งมาให้อาจารย์แล้วด้วย) ถ้าเช่นนั้น การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูก็ไม่น่าจะมีปัญหา หรือน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำไปตามความเห็นของผม ...
อาจารย์กรุณาช่วยชี้แจงด้วย .....


ตอบ 
ก่อนที่จะชี้แจงและทำความเข้าใจกับเอกสารที่ส่งมาให้ ผมก็ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ถามและท่านผู้อ่านในปัญหาเรื่อง “การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู” กันเสียก่อน .....
นักวิชาการ ต่างมีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังจากนมาซฟัรฺฎูว่า จะเป็นที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้หรือไม่ ? ซึ่งเราสามารถจะหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 11 หน้า 141-143, หนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 34, และหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 198-202 เป็นต้น ..
ท่านมุบาร็อกปูรีย์ ได้ตีแผ่หลักฐานของผู้ที่มีทัศนะว่า อนุญาตให้ยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูได้, ในหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 198-202, โดยได้อ้างอิงหะดีษจากคำพูดและการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่ถูกบันทึกในตำราบางเล่มเอาไว้ว่า ท่านเคยใช้และเคยยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู มาประกอบ 5 บท, ซึ่งแต่ละบท ล้วนเป็นหะดีษเฎาะอีฟทั้งสิ้น ....
นอกจากนี้ ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ยังได้อ้างหลักฐานจาก หะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) หลายบท ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวถึงเรื่องการยกมือขอดุอาเอาไว้ (โดยมิได้กำหนดหรือจำกัดว่า เป็นดุอาชนิดใด และในกาลเทศะใด) มาสนับสนุนทัศนะนี้ ซึ่งท่านมุบาร็อก ปูรีย์ก็อนุโลมว่า การขอดุอา, ไม่ว่าจะหลังนมาซฟัรฺฎู หรือในกาลเทศะใด ก็ถือว่า เป็นดุอาเหมือนกัน จึงย่อมมีสิทธิ์ที่จะยกมือในการขอได้ ตามนัยกว้างๆของหะดีษที่ถูกต้องเรื่องการยกมือขอดุอาเหล่านั้น ...
แล้วท่านก็ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว หน้า 202 ว่า ....
اَلْقَوْلُ الرَّاجِحُ عِنْدِيْ أَنَّ رَفْعَ اْليَدَيْنِ فِى الدُّعَاءِ بَعْدَالصَّلاَةِ جَائِزٌ لَوْفَعَلَهُ أَحَدٌ لاَ بَأْسَ عَلَيْهِ إنْ شَآءَ اللَّـهُ تَعَالَى .....
“ทัศนะที่มีน้ำหนักสำหรับฉันก็คือ การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู เป็นที่อนุมัติ, สมมุติถ้ามีผู้ใดปฏิบัติมัน ก็ไม่มีบาปอันใดสำหรับเขา อินชาอัลลอฮ์” ...
นี่คือ ทัศนะของนักวิชาการหะดีษมีระดับท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู ที่เราสมควรจะต้องรับฟังเอาไว้ ....
ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ...
ขณะเดียวกัน นักวิชาการอีกหลายท่าน ก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า มีหะดีษที่ถูกต้องบางบทรายงานมาว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคย “ขอดุอา” หลังนมาซฟัรฺฎูและเคยกล่าวถึงเรื่องการขอดุอาหลังนมาซฟัรูฎู ซึ่งท่านมูบาร็อก ปูรีย์เอง ก็ได้ยืนยันและยอมรับความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 197 ด้วยเช่นเดียวกัน ...
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งๆที่ท่านนบีย์ส่งเสริมให้มีการยกมือขอดุอา แต่ไม่เคยปรากฏว่า จะมีหะดีษที่ถูกต้องบทใดรายงานมาว่า -- ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู -- แม้แต่บทเดียว ....
สิ่งนี้ แสดงว่า การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู ย่อมมิใช่เป็นบทบัญญัติ...
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึง ตัดสินว่า การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู เป็นบิดอะฮ์ ! ......
ท่านเช็คอับดุลอะซีซ บิน บาซ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 74 ว่า ....
لمَ ْيَصِحَّ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ كَانَ يَرْفَعُ يَدَيْهِ بَعْدَصَلاَةِ الْفَرِيْضَةِ، وَلَمْ يَصِحَّ ذَلِكَ أَيْضًاعَنْ أَصْحَابِهِ- رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ – فِيْمَانَعْلَمُ، وَمَايَفْعَلُهُ بَعْضُ النَّاسِ مِنْ رَفْعِ أَيْدِيْهِمْ بَعْدَصَلاَةِ الْفَرِيْضَةِ بِدْعَةٌ لاَ أَصْلَ لَهَا .....
“ไม่เคยปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องใดๆจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ท่านจะเคยยกมือทั้งสอง (เพื่อขอดุอา) หลังจากการนมาซฟัรฺฎู, และก็ไม่เคยปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันจากบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน (ขออัลลอฮ์ จงทรงโปรดปรานต่อพวกท่านด้วย) – เท่าที่เรารู้ - และการที่ประชาชนบางคนได้ยกมือทั้งสองของเขาขึ้นขอดุอา หลังจากนมาซฟัรฺฎูแล้ว ถือว่า เป็นบิดอะฮ์ที่ไม่มีหลักฐานใดๆทั้งสิ้น” .....
สรุปแล้ว เรื่องที่ว่า จะอนุญาตให้มีการยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูได้หรือไม่ ? จึงเป็นเรื่องการ “มองต่างมุม” ของนักวิชาการ, ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ดุลยพินิจของท่านเองในการปฏิบัติสิ่งนี้ ซึ่งผมของดเว้นที่จะแสดงความเห็นในลักษณะชี้นำใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
ท่านเช็ค อัช-เชากานีย์ ได้เสนอ “ทางออก” ไว้ในหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฎอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 34 อย่างเป็นกลางๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ -- ในตอนอธิบายหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ที่ว่า “ไม่เคยปรากฏว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยยกมือทั้งสองของท่านในดุอาใดๆ นอกจากในการนมาซขอฝน, โดยท่านจะยกมือทั้งสองจนกระทั่งสามารถมองเห็นความขาวของรักแร้ทั้งสองของท่าน” --ว่า .....
وَالظَّاهِرُ اَنَّهُ يَنْبَغِى الْبَقَاءُعَلَى النَّفْيِ الْمَذْكُوْرِعَنْ أَنَسٍ، فَلاَ تُرْفَعُ الْيَدُفِىْ شَئْ ٍمِنَ اْلأدْعِيَِة إلاَّ فِى الْمَوَاضِعِ الَّتِىْ وَرَدَفِيْهَاالرَّفْعُ، وَيُعْمَلُ فِيْمَاسِوَاهَابِمُقْتَضَى النَّفْىِ...
“และตามรูปการณ์แล้วก็คือ ให้คงไว้ซึ่งการปฏิเสธ(การยกมือในการขอดุอาใดๆนอกจากดุอาขอฝน) ดังที่มีกล่าวไว้ในหะดีษของท่านอนัส, ดังนั้น จึงไม่ต้องยกมือในดุอาชนิดใดทั้งสิ้น เว้นแต่ในหลายๆกรณีที่มีรายงานมาว่า( ท่านนบีย์) เคยยกมือในดุอาเหล่านั้น, และให้ปฏิบัติในกรณีที่อื่นจากนี้ (คือ อื่นจากดุอาที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์ยกมือด้วย) ให้เป็นไปตามเป้าหมายแห่งการปฏิเสธนั้น (นั่นคือ ไม่ต้องยกมือในดุอาอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากดุอาขอฝน และดุอาอื่นๆที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์เคยยกมือเท่านั้น) ....
วัลลอฮุ อะอฺลัม.

การยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
อนึ่ง สำหรับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ดังที่มีการอ้างหลักฐานจากหะดีษในเอกสารที่ท่านผู้ถามส่งมาให้ผมนั้น ก่อนอื่น ผมก็ต้องขออนุญาตคัดลอกข้อความในเอกสารแผ่นนั้น ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นกันดังนี้ ....
عَنْ أبِيْ مُوْسَى اَْلأشْعَرِيِّ أنَّهُ طَلَبَ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَن يَّسْتَغْفِرَ ِلأَخِيْهِ، فَقَامَ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَصَلَّى رَكْعَتَيْنِ، ثُمَّ بَعْدَالصَّلاَةِ رَفَعَ يَدَيْهِ وَدَعَا صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ِلأَبِيْ مَالِكٍ ثُمَّ ِلأَبِيْ مُوْسَى رَضِىَ اللَّهُ عَنْهُمَا ...
ท่านอบู มูสา อัลอัชอารีย์ ขอให้ท่านรสูลุลลอฮ์ช่วยขออภัยให้แก่พี่น้องของเขา จากนั้น ท่านรสูลจึงลุกขึ้นนมาซสองร็อกอะฮ์ ภายหลังนมาซเสร็จ ท่านรสูลก็ยกมือทั้งสองของท่านและดุอาอฺให้แก่ท่านอบูมาลิก จากนั้น ก็ขอให้แก่ท่านอบูมูสา (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุมา)
จากหะดีษข้างต้นสรุปได้ว่า ท่านรสูลุลลอฮ์เคยยกมือขอดุอาอฺหลังนมาซสุนัต ซึ่งเป็นการบ่งบอกให้รู้ว่า อนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ กระนั้นก็ตาม ท่านรสูลกระทำเช่นนั้นเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ในหนังสือ “ฟัยฎุลบารีย์” เล่ม 4 หน้า 417 ได้กล่าวไว้ว่า
“การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซสุนนะฮ์ พบหลักฐานว่า ถูกปฏิบัติเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น”
จากข้อความข้างต้น พอจะสรุปได้ดังนี้ .....
1. การยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ท่านรอซู้ลฯ เคยปฏิบัติเพียงหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง......
2. หะดีษบทนั้น คือหลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต, .....
ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ ....
(1). คำกล่าวที่ว่า “การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซสุนนะฮ์ พบหลักฐานว่า ถูกปฏิบัติเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น” หากคำว่า “นมาซสุนนะฮ์” ในที่นี้ หมายถึงการนมาซในกรณีเกิดปรากฏการณ์ตามการกำหนดสภาวะของอัลลอฮ์ ที่เรียกกันทั่วๆไปว่า “ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ” เช่น การนมาซขอฝนเมื่อเกิดแล้งจัด, หรือนมาซกุซูฟ เมื่อเกิดสุริยคราสหรือจันทรคราส ก็ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง, ทั้งนี้ เพราะท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยยกมือขอดุอาหลังนมาซขอฝนดังการรายงานของท่านบุคอรีย์จากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ, และหลังนมาซสุริยคราสดังการรายงานของท่านมุสลิม จากท่านอับดุรฺเราะห์มาน บิน สะมุเราะฮ์ และท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ......
แต่ถ้าหากคำว่า “นมาซสุนนะฮ์” ในที่นี้ หมายถึงนมาซสุนัตอื่นจากนมาซขอฝนและนมาซสุริยคราส อันเป็นความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไปของคำว่านมาซสุนัต อย่างเช่น นมาซสุนัตหลังมัคริบ, นมาซสุนัตก่อนนมาซซุบห์, นมาซสุนัตก่อนหรือหลังซุฮริ, เป็นต้น ผมก็ไม่เคยเจอรายงานหะดีษแม้แต่บทเดียวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตเหล่านี้ ....
(2). สำหรับหะดีษที่ถูกนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตบทนั้น แม้ว่าผมจะไม่เคยเจอสายรายงานของหะดีษดังสำนวนข้างต้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว หะดีษสำนวนข้างต้นนี้ น่าจะเป็นหะดีษที่ข้อความผิดเพี้ยน (เรียกตามศัพท์วิชาการหะดีษว่า حَدِيْثٌ شَاذٌّّ ) หรือมิฉะนั้น ก็เป็นหะดีษที่ถูกคัดค้าน ( حَدِيْثٌ مُنْكَرٌ ) ซึ่งถือว่า เป็นหะดีษที่อ่อนมาก, ทั้งนี้ เนื่องจากข้อความบางส่วนของหะดีษนี้ ขัดแย้งกับข้อความของหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ซึ่งถูกรายงานโดยท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม อันมีเนื้อหายาวพอประมาณ ซึ่งผมจะสรุปตอนต้นให้ทราบพอเป็นสังเขปดังนี้ ......
“หลังจากได้ปราบปรามศัตรูผู้กระด้างกระเดื่อง อันเป็นยิวเผ่าษะกีฟและเผ่าฮะวาซิน ในสงครามหุนัยน์ (เป็นชื่อหุบเขา, อยู่ระหว่างเส้นทางไปเมืองฏออิฟ) ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือนเชาวาล ฮ.ศ. 8 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้แต่งตั้งให้ท่านอบูอามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ.(ชื่อจริงคือ อุบัยด์ บิน สุลัยม์) เป็นแม่ทัพ ร่วมคุมทหารกองหนึ่งเดินทางไปกับหลานชาย คือท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. (ชื่อจริงคือ อับดุลลอฮ์ บิน ก็อยซ์ บิน สุลัยม์) เพื่อติดตามจับกุมพวกยิวเหล่านั้นที่แตกพ่ายไปจากหุนัยน์, และไปพึ่งพาอาศัยอยู่กับยิวเผ่าฮะวาซินที่หุบเขาแห่งหนึ่งคือหุบเขาเอาฏ็อซ ( أوطاس ) .......
ในการต่อสู้กับศัตรูที่เอาฏ็อซ ท่านอบูอามิรฺ ร.ฎ.ถูกข้าศึกคนหนึ่งจากเผ่าญุชัม ใช้ธนูยิงโดนที่เข่าอย่างจังและเสียโลหิตมาก แต่ท่านอบูมูซาผู้เป็นหลาน ก็ได้ติดตามไปสังหารข้าศึกคนนั้นได้สำเร็จ .....
ก่อนสิ้นชีวิต ท่านอบูอามิรฺ ร.ฎ. ก็ได้มอบหมายให้ท่านอบูมูซารับหน้าที่เป็นแม่ทัพแทนท่าน และได้กล่าวแก่ท่านอบูมูซา (ตามการรายงานของท่านอบู มูซาเอง) ว่า ....
" يَا إبْنَ أخِىْ ! إنْطَلِقْ إلَى رَسُوْلِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَقْرِئْهُ مِنِّي السَّلاَم،َ وَقُلْ لَهُ : يَقُوْلُ لَكَ اَبُوْعَامِرٍ : إسْتَغْفِرْلِيْ"، .. وَمَكَثَ يَسِيْرًا ثُمَّ إنَّهُ مَاتَ، فَلَمَّا رَحَعْتُ إلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْه وَسَلَّمَ ... قُلْتُ لَهُ : " قَالَ : قُلْ لَـهُ : يَسْتَغْفِرْلِيْ " فَدَعَارَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِمَاءٍ فَتَوَضَّاَمِنْهُ، ثُمَّ رَفَعَ يَدَيْهِ، ثُمَّ قَالَ : " اَللَّهُمَّ إغْفِرْلِعُبَيْدٍ أَبِيْ عَامِرٍ"، حَتَّى رَأَيْتُ بَيَاضَ إبْطَيْهِ، ثُمَّ قَالَ : أَللَّهُمَّ اجْعَلْهُ يَوْمَ اْلقِيَامَةِ فَوْقَ كَثِيْرٍمِنْ خَلْقِكَ أوْمِنَ النَّاسِ" فَقُلْتُ : " وَلِيْ، يَارَسُوْلَ اللَّهِ ! فَاسْتَغْفِرْ" فَقَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ " اَللَّهُمَّ اغْفِرْلِعَبْدِاللَّهِ بْنِ قَيْسٍ ذَنْبَهُ، وَأَدْخِلْهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مُدْخَلاً كَرِيْمًا"
قَالَ أبُوْبُرْدَةَ : إحْدَاهُمَا ِلأَبِيْ عَامِرٍ، وَاْلاُخْرَى ِلأَبِيْ مُوْسَى .....
“หลานเอ๋ย ! จงกลับไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะซัลลัม และบอกท่านว่า ฉันฝากสล่ามมาด้วย, แล้วจงบอกแก่ท่านว่า อบู อามิรฺสั่งมาว่า ให้ท่านขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮ์) แก่ฉันด้วย, .. ท่านมีชีวิตอยู่ได้ครู่หนึ่ง ก็สิ้นใจ, เมื่อฉัน (อบู มูซา) กลับไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ... ฉันก็กล่าวแก่ท่านว่า ท่านอบู อามิรฺได้สั่งมาว่า ให้ท่านขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮ์) ให้เขาด้วย, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงสั่งให้คนนำน้ำมาให้ แล้วท่านก็ทำวุฎูอ์, จากนั้นท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดยกโทษให้อุบัยด์ .. อบู อามิรฺด้วยเถิด” ..จนฉันสามารถมองเห็นความขาวของรักแร้ของท่านได้, แล้วท่านก็กล่าวอีกว่า ..โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดให้เขาได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งในวันกิยามะฮ์เหนือกว่าปวงบ่าวส่วนมาก ..หรือประชาชนจำนวนมาก .. ของพระองค์” ฉัน (อบู มูซา) จึงกล่าวว่า “ขออภัยโทษให้ฉันบ้างซิ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ !” ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดอภัยโทษให้แก่อับดุลลอฮ์ บิน ก็อยซ์ (ชื่อจริงของท่านอบู มูซา), และโปรดให้เขาได้เข้าอยู่ ณ สถานที่อันทรงเกียรติในวันกิยามะฮ์ด้วยเถิด”
ท่านอบู บุรฺดะฮ์ (เป็นบุตรชายของท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 104) ได้กล่าวว่า .. “ครั้งหนึ่ง ท่านนบีย์ขอดุอาให้แก่ท่านอบู อามิรฺ, และอีกครั้งหนึ่ง ขอให้แก่ท่านอบู มูซา”) ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 4323, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 2498, และมีบันทึกในหนังสือ “อัล-บิดายะฮ์ วัล-นิฮายะฮ์” ของท่านอิบนุ กะษีรฺ เล่มที่ 4 หน้า 736 ด้วย) ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์โดยปราศจากข้อสงสัย ...
จะเห็นได้ว่า หะดีษบทนี้กับหะดีษข้างต้น คือหะดีษเดียวกัน ! แต่มีข้อความที่ขัดแย้งกัน 2 ตำแหน่ง คือ ...
(1). หะดีษข้างต้นกล่าวว่า พอท่านอบู มูซา ขอให้ช่วยขออภัยให้ ท่านนบีย์ก็ลุกขึ้นทำนมาซ 2 ร็อกอะฮ์ (ไม่ทราบว่าเป็นนมาซอะไร? ทั้งยังแสดงว่า ขณะนั้นท่านนบีย์คงมีวุฎูอ์พร้อมอยู่แล้ว) แต่ในหะดีษที่ถูกต้องบทนี้กล่าวว่า พอท่านอบู มูซาขอร้อง ท่านนบีย์ก็สั่งให้คนไปเอาน้ำมาให้ แล้วท่านก็ทำวุฎูอ์, ต่อจากนั้น ท่านก็ยกมือขึ้นขอดุอาโดยไม่ได้นมาซ 2 ร็อกอะฮ์ ดังที่ถูกกล่าวอ้างในหะดีษข้างต้น .....
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้อธิบายข้อความของหะดีษตอนนี้ ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 8 หน้า 43 ว่า .....
يُسْتَفَادُمِنْهُ إسْتِحْبَابُ التَّطْهِيْرِِ ِلإرَادَةِ الدُّعَاءِ، وَرَفْعِ الْيَدَيْنِ فِي الدُّعَاءِ ......
“สิ่งที่ได้รับจากหะดีษตอนนี้ก็คือ สมควรทำความสะอาด (เช่นทำวุฎูอ์) เมื่อต้องการจะขอดุอา, และชอบให้มีการยกมือทั้งสองในการขอดุอา” ....
เพราะฉะนั้น หะดีษบทนี้จึงมิใช่หลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ดังที่หนังสือเล่มนั้นอ้าง, ... แต่ถ้าหากจะอ้างว่า หะดีษตอนนี้ คือหลักฐานอีกบทหนึ่งเรื่องสุนัตให้ยกมือเพื่อขอดุอาอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษ) ให้แก่ผู้ตาย (ไม่ว่าจะเป็นการอิสติฆฟารฺตอนฝังเสร็จใหม่ๆ หรืออิสติฆฟารฺให้ผู้ตาย ไม่ว่าที่ใดก็ตาม) ก็น่าจะถูกต้องกว่า ....
(2). หะดีษข้างต้นนั้นกล่าวว่า ท่านนบีย์ยกมือขอดุอาให้แก่ท่านอบู มาลิก (อัล-อัชอะรีย์), แต่หะดีษที่ถูกต้องบทนี้กล่าวว่า ผู้ที่เสียชีวิตและท่านนบีย์ขอดุอาให้ ก็คือ ท่านอบู อามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ ซึ่งเป็นอาของท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ และเป็นคนละคนกับท่านอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ...
ท่านอบู อามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ มีชื่อจริงว่า “อุบัยด์ บิน สุลัยม์” ดังได้กล่าวมาแล้ว,ส่วนท่านอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ก็เป็นเศาะหาบะฮ์ที่มีนามสกุลเดียวกันกับท่านอบู อามิรฺ, และเศาะหาบะฮ์ที่มีสมญานามว่า อบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์นี้ มีอยู่ 2 ท่านด้วยกัน, ท่านแรกคือ “ท่านอัล-หาริษ บิน อัล-หาริษ” (จากหนังสือ “อัล-อิศอบะฮ์” เล่มที่ 1 หน้า 288), ส่วนอีกท่านหนึ่งมีชื่อจริงว่า “กะอฺบ์ (กะอับ) บิน อาศิม” (จากหนังสือ “อัล-อิศอบะฮ์” เล่มที่ 7 หน้า 168) ..ซึ่งไม่ว่าจะเป็นท่านใดจากทั้ง 2 ท่านนี้ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอดุอาอิสติฆฟารฺให้ของท่านนบีย์ในหะดีษบทนี้แต่อย่างใด ทั้งสิ้น
จุดขัดแย้งทั้ง 2 ประการนี้ แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในด้าน ”ความจำ” ของผู้รายงานบางท่านของหะดีษข้างต้น, และหะดีษบทใดก็ตามที่ผู้รายงานที่บกพร่อง ได้รายงานให้ขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ จะเรียกหะดีษนั้นตามศัพท์วิชาการว่า “หะดีษมุงกัรฺ” ( حَدِيْثٌ مُنْكَرٌ ) ซึ่งถือเป็นหะดีษที่อ่อนมากดังกล่าวมาแล้ว ...
สรุปแล้ว เรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต, ไม่ว่านมาซสุนัตชนิดใด จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องมายืนยันแม้แต่บทเดียว นอกจากในนมาซสุนัตเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่นนมาซขอฝนเมื่อฝนแล้ง หรือนมาซกุซูฟเมื่อเกิดสุริยคราสหรือจันทรคราส ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ......
วัลลอฮุ อะอฺลัม.


นมาซฮายัต


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
คำว่า ฮายัต (حَاجَةٌ) มีความหมายภาษาไทยว่า ความจำเป็นหรือความต้องการอย่างแท้จริง, ความต้องการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ .. ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Need ...
การนมาซฮายัต จึงเป็นการนมาซเพื่อแสดงออกถึงความต้องการอย่างแท้จริงของผู้นมาซ ในการขอความช่วยเหลือจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ให้ทรงประทานให้ในสิ่งที่ตนต้องการนั้น ...
เป็นที่น่าสังเกตว่า การนมาซฮายัตนี้ ไม่เคยปรากฏข่าวว่าจะมีการปฏิบัติกันอย่างเอิกเกริกในประเทศมุสลิมอื่นๆ นอกจากในประเทศไทยเราเท่านั้น ...
หรือพวกเขาจะมีการปฏิบัติกันเป็นการส่วนตัว ผมก็ไม่ทราบ ...
แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว การนมาซฮายัตเป็นที่นิยมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายและอย่างเปิดเผยโดยพี่น้องมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 4 จังหวัดภาคใต้ และในภาคกลางบางส่วน ...
เวลามีข่าวการลอบวางระเบิด, การก่อความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก็จะมีมุสลิมกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันนมาซฮายัต เพื่อวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติเหล่านี้ให้หายไปจากสังคม เพื่อประชาชนจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข .. ดังมีปรากฏให้เห็นกันบ่อยทางทีวี ...
แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นเจตนาดี .. แต่, อันเนื่องมาจากการนมาซ --ไม่ว่าจะเป็นนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัต -- เป็นอิบาดะฮ์ที่มีรูปแบบชัดเจน และจะต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น ...
การปฏิบัตินมาซ -- ทุกประเภท -- จึงไม่ได้มีความหมายเพียงว่า “เจอหลักฐาน” จากตำราเล่มใดแล้ว เราก็สามารถนำมาปฏิบัติได้เลย ...
ทว่า, .. ตามหลักการแล้ว “หลักฐาน” ดังกล่าว จะต้องเป็น “หลักฐานที่ถูกต้อง” มาจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมอีกด้วย ...
และการนมาซก็ไม่ใช่เป็น “فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ” หรืออิบาดะฮ์ประเภท “อาหารเสริม” ที่สามารถนำเอาหะดีษเฎาะอีฟมาอ้างเพื่อปฏิบัติได้ .. อย่างที่บางคนเข้าใจ ...
แต่การนมาซคืออิบาดะฮ์หลัก .. ไม่ว่าจะเป็นนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตก็ตาม ดังนั้น การปฏิบัตินมาซใดๆ โดยไม่มีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องเสี่ยง ต่อคำว่า “บิดอะฮ์” เป็นอย่างมากสำหรับมุสลิมที่มีอีหม่าน และเข้าใจในหลักการศาสนาอย่างแท้จริง ...
ผมเขียนเรื่องนมาซฮายัตนี้ มิใช่เพื่อเป็นการหักล้างความเข้าใจ, หรือเพื่อสกัดกั้นการกระทำของผู้ใด ...
แต่เป็นการเขียนเพื่อวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามหลักวิชาการ และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้พี่น้องมุสลิมได้รับทราบว่า การนมาซฮายัตดังที่มีการปฏิบัติกันนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่อย่างไร ? .. เท่านั้น ...
หลักฐานเรื่องการนมาซฮายัตเท่าที่ตรวจสอบดูแล้ว ปรากฏว่า หลักฐานอ้างอิงสำคัญ มาจากหะดีษบางบท ดังต่อไปนี้ ...
หะดีษที่ 1. มีการอ้างรายงานว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
((مَنْ كَانَتْ لَهُ إِلَى اللهِ حَاجَةٌ أَوْ إِلَى أَحَدٍ مِنْ خَلْقِهِ فَلْيَتَوَضَّأْ وَلْيُحْسِنِ الْوُضُوْءَ ثُمَّ لِيُصَلِّ رَكْعَتَيْنِ ثُمَّ لِيُثْنِ عَلَى اللهِ وَلْيُصَلِّ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثُمَّ لْيَقُلْ : لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ الْحَلِيْمُ الْكَرِيْمُ سُبْحَانَ اللهِ رَبِّ الْعَرْشِ الْعَظِيْمِ، اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، أَسْأَلُكَ مُوْجِبَاتِ رَحْمَتِكَ وَعَزَائِمَ مَغْفِرَتِكَ، وَالْغَنِيْمَةَ مِنْ كُلِّ بِرٍّ، وَالسَّلاَمَةَ مِنْ كُلِّ إِثْمٍ، أَسْأَلُكَ أَلاَّ تَدَعَ لِىْ ذَنْبًا إِلاَّ غَفَرْتَهُ، وَلاَ هَمًّا إِلاَّ فَرَّجْتَهُ، وَلاَ حَاجَةً هِىَ لَكَ رِضًا إِلاَّ قَضَيْتَهَالِىْ، ثُمَّ يَسْأَلُ اللهَ مِنْ أَمْرِ الدُّنْيَا وَاْلآخَرِةِ مَا شَآءَ، فَإِنَّهُ يُقَدَّرُ))

“ผู้ใดต้องการ (ความช่วยเหลืออย่างแท้จริง) ต่อพระองค์อัลลอฮ์หรือต่อมนุษย์คนใด ก็ให้เขาทำวุฎูอ์ให้ดีที่สุด แล้วให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์, หลังจากนั้น ให้เขาสรรเสริญต่ออัลลอฮ์และเศาะละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ต่อจากนั้นให้เขากล่าวว่า ...
((لاَ إِلَه َإِلاَّ اللهُ الْحَلِيْمُ الْكَرِيْمُ، سُبْحَانَ اللهِ رَبِّ الْعَرْشِ الْعَظِيْمِ، اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، أَسْأَلُكَ مُوْجِبَاتِ رَحْمَتِكَ، وَعَزَائِمَ مَغْفِرَتِكَ، وَالْغَنِيْمَةَ مِنْ كُلِّ بِرٍّ، وَالسَّلاَمَةَ مِنْ كُلِّ إِثْمٍ، أَسْأَلُكَ أَلاَّ تَدَعَ لِىْ ذَنْبًا إِلاَّ غَفَرْتَهُ، وَلاَ هَمًّا إِلاَّ فَرَّجْتَهُ، وَلاَحَاجَةً هِىَ لَكَ رِضًا إِلاَّ قَضَيْتَهَالِىْ))

“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ผู้ทรงขันติ ทรงเมตตา, มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นจ้าวแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่, บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลเป็นของอัลลอฮ์ ผู้ทรงอภิบาลจักรวาลทั้งหลาย, ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์ซึ่งสิ่งที่ทำให้ได้รับความเมตตาจากพระองค์อย่างแน่นอน, และสิ่งที่ทำให้ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อย่างแท้จริง, และสิ่งซึ่งเป็นผลประโยชน์พลอยได้จากความดีทุกอย่าง, และการรอดพ้นจากความชั่วทุกอย่าง, ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์โปรดอย่าละทิ้งบาปใดแก่ข้าฯ เว้นแต่พระองค์ได้อภัยโทษมัน, และอย่าละทิ้งความระทมทุกข์ใดแก่ข้าฯ เว้นแต่พระองค์ได้ปลดเปลื้องมัน, และอย่าละทิ้งความต้องการใด (ของข้าฯ) ที่พระองค์ทรงพอพระทัย เว้นแต่พระองค์ได้โปรดสนองมันแก่ข้าด้วยเถิด” ...
หลังจากนั้น ก็ให้เขาขอต่อพระองค์อัลลอฮ์ในสิ่งที่เขาประสงค์จากกิจการของโลกนี้และโลกหน้า เพราะมันจะถูกกำหนดให้ (ตามที่ขอนั้น) ...
(บันทึกโดย ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 479, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1384, และท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 466, ... สำนวนข้างต้นนี้ เป็นสำนวนของท่านอิบนุมาญะฮ์ โดยรายงานมาจากท่านอับดุลลอฮ์ บิน อบีย์เอาฟา อัล-อัสละมีย์ ร.ฎ.) ...
อธิบาย
สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษ “มุงกัรฺ” ซึ่งถือว่าเป็นหะดีษที่อ่อนมาก (ضَعِيْفٌ جِدًّا) เนื่องจากผู้รายงานของมันคนหนึ่ง คือ فَائِدُ بْنُ عَبْدِ الرَّحْمَنِ الْكُوْفِىُّ เป็นผู้ที่ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก ...
ท่านบุคอรีย์ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “اَلضُّعَفَاءُ الصَّغِيْرُ” ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 299 ว่า ...
((فَائِدُ بْنُ عَبْدِالرَّحْمَنِ الْعَطَّارُ الْكُوْفِىُّ أَرَاهُ أَبَاالْوَرْقَاءِ، عَنِ ابْنِ أَبِىْ أَوْفَى : مُنْكَرُ الْحَدِيْثِ))
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน อัล-อัฏฏอรฺ แห่งเมืองกูฟะฮ์, ฉันมองว่า (ฉายาของ) เขาคือ อบู อัล-วัรฺกออ์, รายงาน(หะดีษ)มาจากท่านอบีย์เอาฟา, เป็นผู้รายงานหะดีษที่มุงกัรฺ (คือขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก)” ...
ท่านอัน-นะซาอีย์ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “اَلضُّعَفَاءُ وَالْمَتْرُوْكِيْنَ” ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 487 ว่า ...
((فَائِدُ أَبُو الْوَرْقَاءِ : مَتْرُوْكُ الْحَدِيْثِ))
“ฟาอิด (ฉายา) อบูอัล-วัรฺกออ์, เป็นผู้รายงานหะดีษที่ถูกเมิน (คือ อ่อนมาก)...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้สรุปประวัติของท่านฟาอิดในหนังสือ “تَقْرِيْبُ التَّهْذِيْبِ” เล่มที่ 2 หน้า 107 ว่า ...
((فَائِدُ بْنُ عَبْدِ الرَّحْمَنِ الْكُوْفِىُّ ....... مَتْرُوْكٌ، إِتَّهَمُوْهُ))
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน ชาวเมืองกูฟะฮ์, .......... เป็นผุ้รายงานหะดีษที่ถูกเมิน, นักวิชาการหะดีษทั้งหลายไม่ไว้วางใจเขา” ...
ท่านอัล-หากิม อัน-นัยซาบูรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ท่านฟาอิดผู้นี้ว่า ...
((رَوَى عَنِ ابْنِ أَبِىْ أَوْفَى أَحَادِيْثَ مَوْضُوْعَةً))
“เขา (ฟาอิด) ได้รายงานมาจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟาอ์ เป็นหะดีษเมาฎั๊วะอฺ (หะดีษเก๊) จำนวนมาก”
(จากตะอฺลีกหนังสือ “اَلْكَاشِفُ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์เล่มที่ 2 หน้า 325, และหนังสือ “تَحْقِيْقُ الْمِشْكَاةِ” ของท่านอัล-อัลบานีย์ เล่มที่ 1 หน้า 417) ...
และหะดีษเรื่องนมาซฮายัตข้างต้น ก็เป็นหะดีษที่ท่านฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน รายงานมาจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟา! ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการฟิกฮ์และนักวิชาการหะดีษแห่งมัษฮับชาฟิอีย์ ได้นำเอาหะดีษเรื่องนมาซฮายัตบทนี้จากการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ มาระบุลงไว้ในหนังสือ “اَلْمَجْمُوْعُ” เล่มที่ 4 หน้า 55 .. พร้อมกับเสนอคำวิจารณ์ของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ที่ว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟ! .. โดยไม่มีการท้วงติงใดๆทั้งสิ้น ซึ่งความหมายก็คือ ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ยอมรับการวิจารณ์ดังกล่าวนั้น ...
สรุปแล้ว หะดีษเรื่องนมาซฮายัตดังข้างต้น จึงถือว่า เป็นหะดีษที่ مُنْكَرٌ หรือ “เฎาะอีฟมาก” ตามความเห็นสอดคล้องกันของบรรดานักวิชาการหะดีษ ...
เมื่อเป็นหะดีษเฎาะอีฟมาก จึงไม่สามารถนำเอาหะดีษนี้มาอ้างเป็นหลักฐานเพื่อการปฏิบัติได้ .. ไม่ว่าในลักษณะของ فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ (งานประเภทเสริมบุญ) หรือลักษณะใดก็ตาม ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวในอารัมภบทหนังสือ “اَلْمَجْمًوْعُ” เล่มที่ 1 หน้า 59 ว่า ...
((قَالَ الْعُلَمَاءُ : اَلْحَدِيْثُ ثَلاَثَةُ أَقْسَامٍ، صَحِيْحٌ وَحَسَنٌ وَضَعِيْفٌ، قَالُوْا وَإِنَّمَا يَجُوْزُ اْلإِحْتِجَاجُ مِنَ الْحَدِيْثِ فِى اْلأَحْكَامِ بِالْحَدِيْثِ الصَّحِيْحِ وَالْحَسَنِ، فَأَمَّا الضَّعِيْفُ فَلاَ يَجُوْزُ اْلإِحْتِجَاجُ بِهِ فِى اْلأَحْكَامِ وَالْعَقَائِدِ، وَتَجُوْزُ رِوَايَتُهُ وَالْعَمَلُ بِهِ فِىْ غَيْرِ اْلأَحْكَامِ كَالْقِصَصِ وَفَضَائِلِ اْلأَعْمَالِ وَالتَّرْغِيْبِ وَالتَّرْهِيْبِ))

“บรรดานักวิชาการกล่าวว่า หะดีษนั้นมี 3 ประเภทคือ หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์, หะดีษหะซัน, และหะดีษเฎาะอีฟ, พวกเขากล่าวอีกว่า .. หะดีษที่จะนำมา “อ้างเป็นหลักฐาน”ในเรื่องหุก่ม (ทั้ง 5 คือ วาญิบ, สุนัต, ญาอิซหรืออนุญาต, มักรูฮ์, และหะรอม) ได้ ก็เฉพาะหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์และหะดีษหะซันเท่านั้น, อนึ่ง หะดีษเฎาะอีฟ ก็ไม่อนุญาตให้อ้างมันเป็นหลักฐานในเรื่องหุก่มดังกล่าวและในเรื่องอะกีดะฮ์ (ภาคศรัทธา) แต่อนุญาตให้ “รายงาน” และ “ปฏิบัติตาม” มันในเรื่องอื่นจากหุก่มต่างๆ .. อาทิเช่น ในเรื่องเล่าประวัติต่างๆ, ในงานประเภทเสริมบุญต่างๆ, ในเรื่องส่งเสริมให้ทำความดีและสำทับให้หวาดกลัวจากการทำความชั่ว” ...
เมื่อพิจารณาดูจากคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ข้างต้นก็จะพบว่า บรรดานักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขของการอ้างและการปฏิบัติตามหะดีษต่างๆดังต่อไปนี้ ...
1. ในเรื่องหุก่มทั้ง 5 และเรื่องอะกีดะฮ์หรือภาคศรัทธา หลักฐานที่นำมาอ้างจะต้องเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์หรือหะดีษหะซันเท่านั้น ...
2. ในเรื่องของประวัติหรือเรื่องเล่าต่างๆ, เรื่องการปฏิบัติประเภทเสริมบุญบางอย่าง (فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ), เรื่องส่งเสริมให้ทำความดี, เรื่องการสำทับให้เกรงกลัวจากความชั่ว ก็อนุโลมให้ “ปฏิบัติตาม” หรือ “รายงาน” หะดีษที่เฎาะอีฟเพียงเล็กน้อยได้ ..
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ 2 นี้ โดยเฉพาะในเรื่อง فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ นักวิชาการหะดีษก็ยังมีทัศนะขัดแย้งกันอยู่มากว่า จะอนุโลมให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติได้หรือไม่ ? ...
3. ในกรณีของหะดีษที่ “เฎาะอีฟมาก, โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหะดีษเมาฎั๊วะอฺ” ด้วยแล้ว นักวิชาการต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่อนุญาตให้นำมาอ้างเป็นหลักฐานเพื่อการปฏิบัติ ไม่ว่าในเรื่องใดๆทั้งสิ้น! .. และไม่อนุญาตให้รายงานมัน นอกจากจะต้องชี้แจงสถานภาพของมันให้ทราบด้วย, หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องระบุผู้บันทึกหรือสายรายงานของมันให้ทราบด้วยทุกครั้งที่นำมาอ้าง ...
ดังนั้น การ “ปฏิบัติ” นมาซฮายัตตามหะดีษข้างต้นซึ่งเป็นหะดีษ “เฎาะอีฟมาก” ก็ดี, .. การ “อ้าง” หะดีษนมาซฮายัตมาเป็นหลักฐานในการปฏิบัติก็ดี, จึงเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ตามหลักวิชาการและตามทัศนะของนักวิชาการหะดีษ .. ดังข้อมูลที่ได้อธิบายไปแล้ว ...
หะดีษที่ 2. ท่านอิหม่ามอะห์มัด ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มุสนัด” ของท่าน เล่มที่ 6 หน้า 442 – 443 โดยรายงานมาจากท่านอบู อัด-ดัรฺดาอ์ ร.ฎ. ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ...
مَنْ تَوَضَّأَ فَأَسْبَغَ الْوُضُوْءَ ثُمَّ صَلَّى رَكْعَتَيْنِ يُتِمُّهُمَا، أَعْطَاهُ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ مَا سَأَلَ، مُعَجَّلاً أَوْ مُؤَخَّرًا
“ผู้ใดทำวุฎูอ์อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้น เขาก็นมาซ 2 ร็อกอะฮ์อย่างครบถ้วนทั้งสองร็อกอะฮ์นั้น พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็จะทรงประทานให้ในสิ่งที่เขาขอ ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ตาม” ...
ท่านอัส-สยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ละอาลีย์ อัล-มัศนูอะฮ์” ของท่านว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะซัน ...
ท่านเช็คซัยยิด ซาบิก ได้กล่าวในหนังสือ “ฟิกฮุสซุนนะฮ์ ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ...
แต่ท่านอัล-ฮัยษะมีย์ ได้นำหะดีษนี้ลงบันทึกในหนังสือ “มัจญมะอ์ อัซ-สะวาอิด” ของท่าน เล่มที่ 2 หน้า 564 แล้วกล่าววิจารณ์ว่า ...
رَوَاهُ أَحْمَدُ وَالطَّبْرَانِىِّ فِى الْكَبِيْرِ، وَفِيْهِ : مَيْمُوْنٌ أَبُوْ مُحَمَّدٍ، قَالَ الذَّهَبِىُّ : لاَ يُعْرَفُ
“รายงานโดยท่านอะห์มัดและท่านอัฏ-ฏ็อบรอนนีย์ในหนังสืออัล-มุอ์ญัม อัล-กะบีรฺ, ใน(ผู้รายงานของ)มัน มีชื่อ มัยมูน อบูมุหัมมัด(อัต-ตัยมีย์) ซึ่งท่านอัษ-ษะฮะบีย์กล่าวว่า “ไม่เป็นที่รู้จัก” ...
ท่านยะห์ยา บินมะอีนกล่าวว่า .. ฉันไม่รู้จักเขา” ...
ท่านอิบนุอะดีย์กล่าวว่า .. ถ้าว่ากันตามนี้ แสดงว่าเขา (มัยมูน อัต-ตัยมีย์) เป็นผู้ที่ไม่มีใครรู้จัก (مَجْهُوْلٌ) ...
(จากหนังสือ “ตะมามุลมินนะฮ์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 260) ...
สรุปว่า ที่ถูกต้องหะดีษบทนี้ จึงไม่ใช่เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์หรือหะดีษหะซัน แต่เป็นหะดีษเฎาะอีฟ .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
หะดีษที่ 3. มีผู้รู้บางท่าน ได้อ้างเอาหะดีษที่ถูกต้องบทหนึ่งซึ่งท่านอิบนุมาญะฮ์ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน, ภายใต้ชื่อบทว่า “بَابُ مَاجَاءَ فِىْ صَلاَةِ الْحَاجَةِ” หรือ “บาบ ว่าด้วยเรื่องการนมาซฮายัต” มาเป็นหลักฐานเรื่องนมาซฮายัต .. ทั้งๆที่ความจริง หะดีษบทนั้นมิใช่เป็นเรื่องของนมาซฮายัต และมิได้เกี่ยวข้องกับนมาซฮายัตแต่อย่างใด ...
ทว่า, มันเป็นเรื่องการ “ตะวัซซุล” ของคนตาบอดด้วย “ดุอา” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้สอนให้เขาอ่านเฉพาะตัวเป็นกรณีพิเศษ .. ดังจะได้อธิบายให้ทราบกันต่อไป ...
คำว่า “ตะวัซซุล” ตามหลักการศาสนาหมายถึง .. การอ้างหรืออาศัยสิ่งใดเป็นสื่อกลางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ...
การตะวัซซุล มีทั้งที่อนุญาตและที่ต้องห้าม ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด ณ ที่นี้ ...
“ตะวัซซุล” ตามเนื้อหาของหะดีษบทนั้น คือการที่ชายตาบอดผู้หนึ่งได้อาศัยดุอาของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งสอนให้เขาโดยเฉพาะ .. เป็นสื่อ เพื่อให้พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงรับคำวิงวอนของตนให้หายจากการตาบอด ...
ท่านอุษมาน บินหะนีฟ ร.ฎ. (สิ้นชีวิตในสมัยคอลีฟะฮ์มุอาวิยะฮ์ ร.ฎ.) ได้รายงานมาว่า ...
أَنَّ رَجُلاً ضَرِيْرَالْبَصَرِ أَتَى النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : اُدْعُ اللهَ أَنْ يُعَافِيَنِىْ! قَالَ : إِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ لَكَ، وَإِنْ شِئْتَ صَبَرْتَ فَهُوَ خَيْرٌ لَكَ، فَقَالَ : اُدْعُهُ! فَأَمَرَهُ أَنْ يَتَوَضَّأَ فَيُحْسِنَ وُضُوْءَهُ فَيُصَلِّىَ رَكْعَتَيْنِ، وَيَدْعُوَ بِهَذَاالدُّعَاءِ : اَللَّهُمَّ إِنِّىْ أَسْأَلُكَ وَأَتَوَجَّهُ إِلَيْكَ بِنَبِيِّكَ مُحَمَّدٍ نَبِىِّ الرَّحْمَةِ، يَا مُحَمَّدُ! إِنِّىْ تَوَجَّهْتُ بِكَ إِلَى رَبِّىْ فِىْ حَاجَتِىْهَذِهِ لِتُقْضَى لِىْ، اَللَّهُمَّ فَشَفِّعْهُ فِىَّ، (وَشَفِّعْنِىْ فِيْهِ قَالَ : فَفَعَلَ الرَّجُلُ فَبَرِأَ)

“ชายตาบอดผู้หนึ่ง ได้มาหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม แล้วกล่าวว่า “ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์ให้ฉันหาย (จากตาบอด) ด้วยเถิด” ท่านนบีย์ฯ จึงกล่าวว่า “หากท่านประสงค์ (ให้ขอดุอา) ฉันก็จะขอดุอาให้ท่าน, แต่ถ้าท่านประสงค์ (ไม่ให้ขอดุอา) ท่านก็จงอดทน! ซึ่งจะเป็นการดีที่สุดสำหรับท่าน”, เขากล่าวว่า ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์เถิด, ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงใช้ให้เขาทำวุฎูอ์อย่างดี แล้วให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์, เสร็จแล้วให้เขาขอดุอาดังต่อไปนี้คือ .. “โอ้อัลลอฮ์! แท้จริง ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์ และข้าฯ มุ่งมายังพระองค์ด้วย (บะรอกัตของดุอา) นบีย์แห่งพระองค์ คือท่านมุหัมมัด ซึ่งเป็นนบีย์แห่งความเมตตา, โอ้ ท่านมุหัมมัด! แน่แท้ ข้าฯ มุ่งไปยังพระผู้อภิบาลของข้าฯ ด้วยการอาศัย (ดุอา) ของท่านเพื่อให้ได้รับการสนองตอบในสิ่งที่ข้าฯ ต้องการนี้, โอ้ อัลลอฮ์! โปรดจงรับการอนุเคราะห์ของเขา (มุหัมมัด) ให้แก่ข้าฯ ด้วย (และจงโปรดอนุเคราะห์ข้าฯ เพราะเห็นแก่เขาด้วยเถิด” .. ท่านอุษมาน บินหะนีฟ ร.ฎ. กล่าวต่อไปว่า แล้วชายผู้นั้นก็ปฏิบัติตาม และเขาก็หาย (จากการตาบอด) ...
(บันทึกโดย ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 3578, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 138, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1385, ท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 458, และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 1219) ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “صَحِيْحُ سُنَنِ ابْنِ مَاجَهْ” เล่มที่ 1 หน้า 232 ...
อธิบาย
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานเรื่องการตะวัซซุล, มิใช่เป็นหลักฐานเรื่องการนมาซฮายัต ดังที่มีการปฏิบัติกัน ก็ด้วยเหตุผลจากการพิจารณาเนื้อหาและข้อเท็จจริงของหะดีษดังต่อไปนี้ ...
(1). ชายตาบอดผู้นั้น มาขอร้องท่านนบีย์ฯ ให้ขอดุอาให้เขาหายจากการตาบอด เพราะเขาทราบดีว่า ดุอาของท่านนบีย์ฯ นั้น “มุสตะญาบ” .. คือจะถูกรับอย่างแน่นอน! ต่างกับดุอาที่เขาขอด้วยตนเอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถูกรับหรือไม่ ...
(2). ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม ได้รับปากและสัญญาว่าจะขอดุอาให้กับเขา หากเขาประสงค์ .. ด้วยคำพูดที่ว่า : إِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ لَكَ หากท่านประสงค์ ฉันก็จะขอดุอาให้ท่าน ...
แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็แนะนำเขาในสิ่งที่ดีกว่า คือให้เขาอดทนในสภาพนั้นของเขาต่อไป ...
(3). เมื่อชายตาบอดผู้นั้น ยังยืนกรานที่จะให้ท่านนบีย์ฯ ขอดุอาให้ด้วยคำกล่าวที่ว่า : اُدْعُهُ ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์เถิด! แสดงว่าท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะต้องขอดุอาให้แก่เขาจริงๆตามที่ท่านสัญญาไว้นั้น! เพราะท่านนบีย์ฯ ไม่เคย .. และจะไม่ผิดสัญญากับผู้ใดเป็นอันขาด ...
เพียงแต่ว่า ดุอาที่ท่านขอให้แก่ชายตาบอดตามสัญญานั้น มิใช่ทางตรง, แต่เป็น “ทางอ้อม” .. คือ ท่านสอนให้เขาอ่านเอง ในสิ่งที่ท่านจะขอให้ ...
(4). เนื้อหาบางส่วนของดุอาที่ท่านนบีย์ฯ สั่งให้เขาอ่าน .. อันได้แก่ประโยคที่ว่า โอ้ อัลลอฮ์! โปรดจงรับการอนุเคราะห์ของเขา (มุหัมมัด) ให้แก่ข้าฯ ด้วย! .. บ่งบอกความหมายว่า การหายจากการตาบอดของชายผู้นั้น มิใช่เป็นเพราะการนมาซและดุอาที่เขาขอเอาเอง .. แต่เกิดจากการ “อนุเคราะห์และบะรอกัตของดุอาที่ท่านนบีย์ฯ สอนให้เขาอ่านแทนตัวท่าน” .. จนประสบผลสำเร็จตามที่ขอ ...
เมื่อได้พิจาณาอย่างละเอียดแล้วจึงเห็นได้ชัดเจนว่า เนื้อหาของหะดีษบทนี้ แตกต่างกับการนมาซฮายัตและการขอดุอาหลังนมาซฮายัต .. ดังที่มีการปฏิบัติกัน ...
เพราะท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยสัญญาหรือรับปากกับผู้นมาซฮายัตคนใดว่า ท่านจะขอดุอาให้พวกเขา, หรือจะให้การอนุเคราะห์ใดๆแก่พวกเขา .. เหมือนดังที่ท่านได้ให้สัญญาแก่ชายตาบอดผู้นั้น ...
และท่านก็ไม่เคยสอนให้ผู้นมาซฮายัตคนใด “ตะวัซซุล” ด้วยดุอาใดๆของท่านเป็นการเฉพาะและเป็นกรณีพิเศษ! .. เหมือนดังที่ท่านสอนคนตาบอดคนนั้นให้ตะวัซซุลด้วยดุอาของท่านในหะดีษบทนั้น ...
ทว่า, .. ดุอาทั้งหมดที่ผู้นมาซฮายัตขอ เป็นดุอาที่ว่ากันเอาเอง, จากความรู้สึกนึกคิดของผู้ (นำ) นมาซฮายัตเอง .. เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และเป็นตัวบงการให้มีการนมาซฮายัตในแต่ละครั้ง ...
แต่เป็นไปได้เช่นกันว่า บางครั้ง (หรือบ่อยครั้ง) .. ดุอาที่ขอกันเองหลังนมาซฮายัต อาจจะไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ .. ซึ่งผมคิดว่า ไม่น่าจะเดาผิด ...
นอกจากนั้น วิธีการนมาซฮายัตดังหะดีษบทข้างต้น – สมมุติว่าถ้าสายรายงานของมันเชื่อถือได้ -- ก็เป็นการแนะนำให้ปฏิบัติเป็นการส่วนตัว (مُنْفَرِدًا) ...
แต่ที่นิยมปฏิบัติกันในประเทศไทยก็คือ มีการกระทำกันในลักษณะ “ญะมาอะฮ์” อย่างเอิกเกริก ซึ่งนอกจากจะมิใช่เป็นรูปแบบของนมาซฮายัตที่มีกล่าวในหะดีษแล้ว ยังเป็นการอุตริรูปแบบใหม่ของนมาซฮายัตให้เกินเลยจากที่มีระบุในหะดีษอีกด้วย ...
สรุปแล้ว หะดีษบทข้างต้นจึงมิใช่เป็นหลักฐานเรื่องการนมาซฮายัต ดังกล่าวมาแล้ว ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อัตเตาฮีด (التوحيد)

                                     
เตาฮีด หมายถึง “การให้เป็นหนึ่ง การให้เป็นเอกะ” โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า “วะฮิด แปลว่า หนึ่ง” ที่ให้มีความสำคัญต่อการศรัทธาและต้องเชื่อมั่นว่าโลกนี้มีพระเจ้าองค์เดียว ต่างจากศาสนาอื่น เช่น คริสต์ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีสาม, มะญูซียฺที่เชื่อว่ามีสองพระเจ้าคือพระเจ้าแห่งความสว่างและพระเจ้าแห่งความมืด หรือพระเจ้าแห่งความดีและพระเจ้าแห่งความชั่ว
ความหมายเตาฮีดในทางศาสนาบัญญัติ
وفي الشرع: إفراد الله - سبحانه - بما يختص به من الربوبية والألوهية والأسماء والصفات
และในทางศาสนบัญญัติ หมายถึง การให้เอกภาพแก่อัลลอฮ(ซ.บ) ด้วยสิ่งถูกจงจงเป็นเฉพาะกับพระองค์ เกี่ยวกับการอภิบาล,การเป็นพระเจ้าและบรรดาพระนามและคุณลักษณะ – ดู เกาลุลมุฟีด ของอิบนุอุษัยมีน หน้า ๑/๑๑
อิบนุกอ็ยยิม(ร.ฮ)กล่าวว่า
وَلَيْسَ التَّوْحِيدُ مُجَرَّدَ إِقْرَارِ الْعَبْدِ بِأَنَّهُ لَا خَالِقَ إِلَّا اللَّهُ ، وَأَنَّ اللَّهَ رَبُّ كُلِّ شَيْءٍ وَمَلِيكُهُ ، كَمَا كَانَ عُبَّادُ الْأَصْنَامِ مُقِرِّينَ بِذَلِكَ وَهُمْ مُشْرِكُونَ ، بَلِ التَّوْحِيدُ يَتَضَمَّنُ - مِنْ مَحَبَّةِ اللَّهِ ، وَالْخُضُوعِ لَهُ ، وَالذُّلِّ لَهُ ، وَكَمَالِ الِانْقِيَادِ لِطَاعَتِهِ ، وَإِخْلَاصِ الْعِبَادَةِ لَهُ ، وَإِرَادَةِ وَجْهِهِ الْأَعْلَى بِجَمِيعِ الْأَقْوَالِ وَالْأَعْمَالِ ، وَالْمَنْعِ ، وَالْعَطَاءِ ، وَالْحُبِّ ، وَالْبُغْضِ - مَا يَحُولُ بَيْنَ صَاحِبِهِ وَبَيْنَ الْأَسْبَابِ الدَّاعِيَةِ إِلَى الْمَعَاصِي ، وَالْإِصْرَارِ عَلَيْهَا ، وَمَنْ عَرَفَ هَذَا عَرَفَ قَوْلَ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِنَّ اللَّهَ حَرَّمَ عَلَى النَّارِ مَنْ قَالَ : لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ ، يَبْتَغِي بِذَلِكَ وَجْهَ اللَّهِ
และเตาฮีดนั้น ไม่ใช่แค่การยอมรับของบ่าวว่า ไม่มีผู้สร้างใดๆนอกจากอัลลอฮและแท้จริงอัลลอฮคือ พระผู้อภิบาลทุกสิ่งและเป็นผู้ครอบครองมันเท่านั้น อย่างเช่น บรรดาผู้ที่บูชาบรรดาเจว็ดยอมรับดังกล่าว โดยที่พวกเขาคือ บรรดาผู้ตั้งภาคี(มุชริกีน) แต่ทว่า เตาฮีดนั้น ประกอบไปด้วย ความรักต่ออัลลอฮ,การยอมจำนน,การนอบน้อมต่อพระองค์ ,การสมบูรณ์ของการเชื่อฟัง เพื่อการภักดีต่อพระองค์ ,ความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์,มีจุดประสงค์เพื่อพระพักต์ของพระองค์อันสูงส่ง ด้วยบรรดาคำพูด,การกระทำ,การยับยั้ง,การให้ ,การรัก,การเกลียด - –สิ่งที่กั้นระหว่างเจ้าของของมันและระหว่างบรรดาสาเหตุที่นำไปสู่บรรดาสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน(มุอศียะฮ)และการยืนกรานบนมัน และผู้ใดรู้จักสิ่งนี้  เขาก็รู้จักคำพูดของนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า “แท้จริง อัลลอฮทรงห้ามแก่นรก  ต่อผู้ที่กล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ ดดยที่เขามีจุดประสงค์เพื่อพระพักต์ของอัลลอฮ ด้วยดังกล่าว – ดู มะดาริญุสสาลิกีน ๑/๓๓๘                                                                                                         وقال اللالكائي رحمه الله: (أخبرنا محمد أخبرنا عثمان قال: ثنا حنبل قال: سمعت أبا عبد الله – يعني أحمد بن حنبل –
وسئل عن الإيمان والإسلام قال: قال ابن أبي ذئب: الإسلام الكلمة والإيمان العمل

และอัลลาลุกาอีย์ (ร.ฮ) กล่าวว่า “ มุหัมหมัด ได้บอกเรา ว่า อุษมานได้บอกเรา เขากล่าวว่า “หัมบัลได้เล่าเรา ว่า ได้ยินอบูอับดุลลอฮ หมาย ถึง อะหมัด บิน หัมบัล ถูกถามเกี่ยวกับอิหม่านและอิสลาม เขากล่าวว่า “อิบนุอบีซิอบิน กล่าวว่า “อิสลามคือ ถ้อยคำและอีหม่านคือ การกระทำ
ชัรหอียะติกอดอะฮลิสสุนนะฮ ๔/๘๙๕ หะดิษหมายเลข ๑๕๐๐
        อะฮลุตเตาฮีด(أهل التوحييد )เท่านั้นที่ได้เข้าสวรรค์

،  عَنْ أَبِي مُوسَى ،  قَالَ : بَلَغَنَا أَنَّهُ إِذَا كَانَ يَوْمُ الْقِيَامَةِ ، وَاجْتَمَعَ أَهْلُ النَّارِ فِي النَّارِ وَمَعَهُمْ مَنْ شَاءَ اللَّهُ مِنْ أَهْلِ الْقِبْلَةِ ، قَالَ الْكُفَّارُ لِمَنْ فِي النَّارِ مِنْ أَهْلِ الْقِبْلَةِ : أَلَسْتُمْ مُسْلِمِينَ؟ قَالُوا : بَلَى ، قَالُوا : فَمَا أَغْنَى عَنْكُمْ إِسْلَامُكُمْ وَقَدْ صِرْتُمْ مَعَنَا فِي النَّارِ؟ قَالُوا : كَانَتْ لَنَا ذُنُوبٌ فَأُخِذْنَا بِهَا ، فَسَمِعَ اللَّهُ مَا قَالُوا ، فَأَمَرَ بِكُلِّ مَنْ كَانَ مِنْ أَهْلِ الْقِبْلَةِ فِي النَّارِ فَأُخْرِجُوا ، فَقَالَ مَنْ فِي النَّارِ مِنَ الْكُفَّارِ : يَا لَيْتَنَا كُنَّا مُسْلِمِينَ ، ثُمَّ قَرَأَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ( الر تِلْكَ آيَاتُ الْكِتَابِ وَقُرْآنٍ مُبِينٍ رُبَمَا يَوَدُّ الَّذِينَ كَفَرُوا لَوْ كَانُوا مُسْلِمِينَ

รายงานจากอบีมูซา(อัลอัชอะรีย) กล่าวว่า ได้รายงานถึงมายังพวกเราว่า เมื่อปรากฏวันกียามะฮ ,บรรดาชาวนรก ได้ชุมนุม กันในนรก และผู้ที่อัลลอฮประสงค์จากชาวกิบลัต อยู่พร้อมกับพวกเขา ,บรรดากาเฟร กล่าวแก่ผู้ที่อยู่ในนรกจากชาวกิบลัต ว่า “ พวกท่านเป็นมุสลิมใช่ไหม? พวกเขากล่าวว่า “ ใช่  พวกเขา(กาเฟร) กล่าวว่า “เพราะอะไรที่ อิสลามของพวกท่าน ไม่สามารถทำให้พวกท่านปลอดจากการลงโทษได้ และแท้จริงพวกท่านก็จะได้อยู่ในนรกตลอดกาลพร้อมกับเรา?
พวกเขา (มุสลิม) กล่าวว่า “ พวกเรามีความผิด แล้วเราถูกเอาผิด(ถูกลงโทษ) ด้วยมัน (ด้วยความผิดที่เราทำ) แล้ว อัลลอฮทรงได้ยิน สิ่งที่พวกเขาพูด  ดังนั้น พระองค์ทรงบัญชาให้ผู้ที่อยู่ในนรกจากชาวกิบลัต ให้พวกเขาออกจากนรก  แล้ว ผู้ที่อยู่ในนรกจากบรรดากาเฟร กล่าวว่า “โอ้..มาตรแม้นว่า พวกเราเป็นมุสลิม ก็จะดี ,ต่อมารซูลุลลอฮ สอ็ลฯ ได้อ่านอายะฮที่ว่า
الر تِلْكَ آيَاتُ الْكِتَابِ وَقُرْآنٍ مُبِينٍ رُبَمَا يَوَدُّ الَّذِينَ كَفَرُوا لَوْ كَانُوا مُسْلِمِينَ
อะลีฟ ลาม รอ เหล่านี้คือโองการทั้งหลายแห่งคัมภีร์ และเป็นกรุอานอันชัดแจ้ง @บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาหวังกันว่า หากพวกเขาได้เป็นมุสลิม – ดู ตัฟสีรอัฏฏอ็บรีย์ ๑๗/๖๑
 أخرج ابن أبي عاصم في السنة وابن جرير وابن أبي حاتم والطبراني والحاكم وصححه ، وابن مردويه والبيهقي في البعث والنشور

 والله أعلم بالصواب

อะสัน หมัดอะดั้ม  https://www.facebook.com/asanmadadam


คำสอนศาสนาไม่ได้มาจากสติปัญญาและความคิดเห็นของมนุษย์





อิหม่ามอัลบัรบะฮารีย์  (ร.ฮ) เสียชีวิต ปี 329  กล่าวว่า

واعلم - رحمك الله - أنَّ الدين إنما جاء من قِبَل الله تبارك وتعالى، لم يوضع على عقول الرجال وآرائهم، وعلمُه عند الله وعند رسوله، فلا تتَّبع شيئًا بهواك فتمرقَ من الدين فتخرجَ من الإسلام، فإنه لا حجَّة لك، فقد بيَّن رسول الله صلَّى الله عليه وسلَّم لأمَّته السنَّة، وأوضحها لأصحابه وهُم الجماعة، وهُم السواد الأعظم، والسواد الأعظم: الحقُّ وأهله، فمن خالف أصحاب رسول الله صلَّى الله عليه وسلم في شيءٍ من أمر الدين فقد كفر.

และจงรู้ไว้เถิด  อัลลอฮจะทรงเมตตาต่อท่าน   แท้จริง ศาสนา(อิสลาม)นั้น ความจริง มันมาจากอัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์ และทรงสูงส่ง เท่านั้น มันไม่ได้ถูกวางอยู่บน สติปัญญาของบรรดาผู้คนและความคิดเห็นของพวกเขา และความรู้ของมัน(ของศาสนา) อยู่ ณ อัลลอฮและรอซูลของพระองค์ ดังนั้น อย่าปฏิบัติตาม สิ่งใดๆ ตามปรารถนาอารมณ์ของท่าน  (ผลสุดท้าย)มันก็จะทำให้ท่านแยกจากศาสนา แล้วท่านก็ออกจากอิสลาม เพราะแท้จริง ไม่มีหลักฐานใดๆเป็นของท่าน ,แท้จริง รซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อธิบาย อัสสุนนะฮ แก่อุมมะฮของท่าน และ ได้ ทำให้มันชัดเจน แก่บรรดาเศาะหาบะฮของท่าน และพวกเขาคือ  อัลญะมาอะฮ และพวกเขาคือ อัสสะวาดุลอะอซอม และ อัสสะวาดุลอะอฺซอม คือ  ความถูกต้อง และผู้ที่อยู่บนความถูกต้อง ดังนั้น ผู้ใดขัดแย้งกับบรรดา สาวกของรซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสิ่งใดๆ จากกิจการศาสนา แน่นอน เขาเป็นกุฟูร - ดู ชัรหฺอัสสุนนะฮ ของ อิหม่ามอัลบัรบะฮารีย์  1/66

สรุปคือ
1. คำสอนศาสนาอิสลามต้องมาจากอัลลอฮเท่านั้น
2. ศาสนาไม่ได้ถูกกำหนดบนสติปัญญาและความคิดเห็นมนุษย์
3. ความรู้เกี่ยวกับศาสนา อยู่ ณ อัลลอฮและ ศาสนาทูตของพระองค์
4.  อย่าปฏิบัติตามสิ่งใดๆตามความปรารถนาของอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลให้แยกจากศาสนาและออกจากศาสนาได้
5.  มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หลักฐานใดๆ
6.  รซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อธิบายสุนนะฮและให้ความกระจ่างแก่บรรดาเศาะหะบะฮของท่านแล้ว
7.  บรรดาเศาะหาบะฮ คือ อัลญะมาอะฮ  และพวกเขาคือชนหมู่มาก  และชนหมู่มากคือ  สัจธรรมและผู้ที่ยืนหยัดอยู่บนสัจธรรม
8.  ผู้ใดขัดแย้งกับบรรดา สาวกของรซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสิ่งใดๆ จากกิจการศาสนา แน่นอน เขาเป็นกุฟูร

والله أعلم بالصواب




น้ำดุอามีสุนนะฮหรือไม่





ตามสุนนะฮท่านนบีสอนให้เรารักษาโรค เมื่อมีโรค ดังหะดิษ

لكل داء دواء، فإذا أصيب دواء الداء برأ بإذن الله تعالى

โรคทุกโรคนั้นย่อมมียารักษา เมื่อยานั้นตรงกับโรค เขาจะหายจากโรคด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา - รายงานโดยมุสลิม จากท่านญาบีร
และอีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า

إن الله جعل لكل داء دواء فتداووا، ولا تداووا بحرام

แท้จริงอัลลอฮฺทรงกำหนดให้ทุกโรคนั้น มียารักษา ดังนั้น จงเยียวยารักษาเถิด และจงอย่าเยียวยารักษาด้วยสิ่งต้องห้าม(หะรอม)
รายงานโดยอบูดาวูด
และต้องไปหาหมอที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคนั้นๆด้วย ดังหะดิษจากอิบนิมัสอูดว่า ที่ว่า

علمه من علمه وجهله من جهله "

ผู้ที่รู้มันก็จะรู้มัน และผู้ที่ไม่รู้มันก็จะไม่รู้มัน (คือ หมอแต่ละคนย่อมมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน)

أخرجه النسائي وابن ماجه وصححه ابن حبان والحاكم
……..
เพราะฉะนั้นญาตของคุณน่าจะไปหาหมอที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ ส่วนการอ่านอัลกุรอ่านหรือดุอาเป่าไปในน้ำ ให้ผู้ป่วยดื่มหรืออาบนั้น มีหะดิษดังนี้

عن علي رضي الله عنه قال: لدغت النبي صلى الله عليه وسلم عقرب وهو يصلي، فلما فرغ قال: \"لعن الله العقرب لا تدع مصلياً ولا غيره ثم دعا بماء وملح فجعل يمسح عليها ويقرأ: \"قل يا أيها الكافرون وقل أعوذ برب الفلق وقل أعوذ بربّ الناس\" (أخرجه الطبراني في الصغير وقال الهيثمي في مجمع الزوائد: إسناده حسن وقال الألباني: حديث صحيح (الأحاديث الصحيحة رقم 548

รายงานจากอาลี (เราะฎิยัลอฮุอันฮู)กล่าวว่า แมลงป่องตัวหนึ่ง ได้กัดท่านนบีศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ในขณะที่ท่านกำลังละหมาด แล้วเมื่อเสร็จจากละหมาดท่านได้กล่าวว่า “ อัลลอฮได้สาปแช่งแมลงป่องตัวนั้น มันไม่ปล่อยแม้แต่คนละหมาดและอื่นจากคนละหมาด หลังจากนั้นท่านได้เรียกให้นำน้ำเกลือมา ลูบบนมัน(บนแผลที่ถูกแมลงป่องกัด)และอ่าน “กุลยาอัยยุฮัลกาฟิรูน ,กุลอะอูซุบิรอ็บบิลฟะลัก และกุลอะอูซุบิรอ็บบิลนาส” - บันทึกโดยอัฏฏอ็บรอนีย์ ในอัศเศาะฆีร และอัลหัยษะมีย์ได้กล่าวไว้ใน มัจญมะอุซซะวาอิด ว่า “สายรายงานของมัน หะซัน(อยู่ในระดับที่ดี) และอัลบานีย์ กล่าวว่า “เป็นหะดิษเศาะเฮียะ” – ดู อัลอะหาดิษเศาะฮีหะฮ หะดิษหมายเลข 548

وعن محمد بن يوسف بن ثابت بن قيس بن شماسي عن أبيه عن جده عن رسول الله صلى الله عليه وسلم أنه دخل على ثابت بن قيس ـ قال أحمد: وهو مريض ـ فقال: اكشف البأس رب الناس عن ثابت بن قيس بن شماس ثم أخذ تراباً من بطحان فجعله في قدح ثم نفث عليه بماء وصبه عليه\" (رواه أبوداود والنسائي وابن حبان وصححه الألباني (السلسلة الصحيحة 1526).

และมีรายงานจากมุหัมหมัด บิน ยูซุบ บิน ษาบิต บิน ก็อยส์ บิน ชะมาสีย์ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขาจากท่านนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ท่านได้เข้าไปยัง ษาบิต บิน กอ็ยส์ – อะหมัดได้กล่าวว่า “ เขากำลังป่วย แล้วท่านรซูลุลลอฮ กล่าวว่า “ ได้โปรดให้ความเจ็บป่วยหายด้วยเถิด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งมนุษย์ จาก ษาบิต บิน กอ็ยส์ บิน ชะมาสีย์ หลังจากนั้นท่านได้เอาดินจากบุฏหาน(ชื่อหุบเขาในนครมะดีนะอ) นำมาใส่ในแก้ว ด้วยการละลายน้ำแล้วได้เป่าบนมัน แล้วรินน้ำนั้นเขาให้เขาดื่ม – รายงานโดย ,อัลนะสาอีย์,อิบนุหิบบาน และอัลบานีย์ ระบุว่า เป็นหะดิษเศาะเฮียะ – อัสสิลสิละฮอัศเศาะฮีหะฮ หะดิษหมายเลข 1526
.......
เมื่อพิจารณาจากหะดิษ จะเห็นได้ว่า ท่านนบีได้อ่านอัลกุรอ่านและดุอา ปัดเป่ารักษาผู้ป่วย เพื่อให้อัลลอฮทรงบันดาลให้หายป่วย การกระทำแบบนี้ไม่ใช่วิชาชีพแพทย์ เฉพาะทาง แต่เป็นสุนนะฮนบีที่ทุกคนสามารถทำได้ เพราะเป็นการขอดุอาจากอัลลอฮ ไม่ใช่เฉพาะหมอหมัด เท่านั้นที่ใช้คาถานี้รักษาผู้ป่วยได้
ทุกคนสามารถทำได้โดยเรียนรู้จากสุนนะฮนบี
ในสมัยของท่านนบี ไม่ปรากฏมีเศาะหาบะฮคนใดประกอบอาชีพเป็น “หมอน้ำดุอา” ดังนั้นคุณควรแนะนำให้ญาตรักษาโรคด้วยยาและแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะดีกว่า พร้อมกับคุณอ่านดุอาที่นบีสอนขอจากอัลลอฮบันดาลให้ ญาติหายป่วย ด้วย โดยไปจำเป็นต้องไปหาหมอน้ำดุอา

..........
والله أعلم بالصواب
_________________
อ.อะสัน  หมัดอะดั้ม


ละหมาดฮะดียะฮมีในคำสอนศาสนาหรือไม่


السؤال
هل الدليل الذي دل على صلاة الهدية موجود . وإن وجد فهو ضعيف أم موضوع ؟
ถาม : มีหลักฐานที่แสดงบอกถึงการละหมาดฮะดียะฮ(ละหมาดอุทิศ)หรือไม่ และถ้ามี มันเป็นหลักฐานเฎาะอีฟหรือว่าเป็นหลักฐานที่ที่ถูกกุขึ้นมา
الإجابــة
الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى آله وصحبه، أما بعـد:
فالصلاة المعروفة بصلاة الهدية لدى بعض الطوئف المبتدعة وهي أن يصلي ركعتين بصفة خاصة يهديها للميت ليلة الدفن ، فهذه الصلاة صلاة بدعية لم يرد فيها عن النبي صلى الله عليه وسلم حديث صحيح أو ضعيف، وعليه، فإنه لا يشرع التعبد بها، وقد قال صلى الله عليه وسلم من عمل عملا ليس عليه أمرنا فهو رد. رواه مسلم
والله أعلم.
ตอบ :
มวลการสรรเสริญเป้นสิทธิของอัลลอฮ และขอให้พรและความสันติสุขจงประสบแด่รซูลุลลอฮ ,วงศ์วานของท่านและเหล่าสาวกของท่านด้วยเถิด
การละหมาดที่เป็นที่รู้จักด้วย ละหมาดฮะดียะฮ(ละหมาดอุทิศ)ของกลุ่มอุตริบิดอะฮบางส่วน คือ เขาละหมาดสองเราะกะอัต ด้วยรูปแบบที่เฉพาะ อุทิศผลบุญของมันแก่ผู้ตาย ในคืนที่ฝัง ละหมาดนี้ คือละหมาดที่เป็นบิดอะฮ ไม่มีรายงานหะดิษเศาะเฮียะและหะดิษเฎาะอีฟ ในมัน จากรซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และหน้าของเขา จะไม่กำหนดการทำอิบาดะฮด้วยมัน และแท้จริงท่านนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า "ผู้ใดประกอบการงานใดๆ ที่ไม่ใช่กิจการศาสนาของเราบนมัน มันถูกปฏิเสธ -รายงานโดยมุสลิม

والله أعلم

http://fatwa.islamweb.net/fatwa/index.php…
อะสัน  หมัดอะดั้ม

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรณีน้ำจากการทำวุฎูอ์กระเซ็นลงในถังน้ำ



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามูอาลัยกุม จะถามอาจารย์ ว่า
น้ำในถัง บรรจุน้ำประมาณ 5 ลิตร แล้วนำมาอาบน้ำละหมาด
ปรากฎว่าขณะอาบน้ำละหมาด น้ำจากที่อาบน้ำละหมาดได้กระเด็นลงไปในถังน้ำนั้น น้ำนั้นสามารถใช้อาบน้ำละหมาดได้อีกไหม?

(พอดีมีสามีภรรยาใกล้บ้าน ได้อาบน้ำละหมาดที่อยู่ในถัง เนื่องจากน้ำประปาไม่ไหล น้ำเลยกระเซ็นลงไปในถังน้ำ ภรรยาว่าน้ำนั้นใช่ไม่ได้แล้ว สามีว่าได้ เลยสงสัยค่ะ)

ตอบ
ก่อนอื่นเราต้องรับรู้และยอมรับความจริงก่อนว่า ในประเทศอาหรับ ไม่ว่าที่นครมักกะฮ์หรือนครมะดีนะฮ์ ในสมัยก่อนไม่มีน้ำใช้มากมายเหมือนประเทศไทยเรา

 เรื่องจะเอาน้ำใส่ภาชนะขนาดใหญ่ที่เราเรียกกันว่า "กอเลาะฮ์" จนเต็มเพื่อให้คนทำวุฎูอ์โดยการจุ่มมือลงไปล้างหน้าล้างมือข้างในจึงไม่ต้องพูดถึง

เพราะฉะนั้น ชาวอาหรับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเองจึงต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัดอย่างที่สุดในทุกๆสถานการณ์ ไม่ว่าในการทำวุฎูอ์, การอาบน้ำญะนาบะฮ์, การอาบน้ำผู้ตาย เป็นต้น ..

ท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. รายงานมาว่า ท่านนบีย์อาบน้ำญะนาบะฮ์โดยใช้น้ำ 1 ศออ์ (ประมาณ 2.6- 2.8 กก.) และทำวุฎูอ์โดยใช้น้ำ 1 มุด (ประมาณไม่เกิน 6-7 ขีด) หะดีษนี้บันทึกโดยท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม

เพราะฉะนั้นลองคิดดูเถิดว่า น้ำปริมาณเพียงเท่านี้ หากท่านนบีย์ทำวุฎูอ์แบบที่เราทำกัน ถามว่า จะมีน้ำเหลือไปถึงล้างมือหรือไม่ ? แค่บ้วนปากก็คงหมดแล้ว ..

ด้วยเหตุนี้ ท่านอับดุลลอฮ์ บินซัยด์จึงสาธิตวิธีทำวุฎูอ์ของท่านนบีย์ให้ดู โดยให้คนเอาน้ำใส่ภาชนะมาให้ (คงไม่ใช่ให้คนแบกน้ำ 2 กอเลาะฮ์มาให้หรอกนะ) ..

 แล้วตอนแรก ท่านเทน้ำใส่ฝ่ามือเพื่อล้างมือทั้งสองนอกภาชนะก่อน 3 ครั้ง จากนั้น ในการล้างทุกๆอวัยวะวุฎูอ์ ไม่ว่าล้างหน้า, ล้างมือ, ลูบศีรษะ และล้างเท้า ท่านจะใช้วิธี "จุ่มมือ" ลงไปวักน้ำออกมาล้างอวัยวะเหล่านั้นข้างนอกจนเสร็จ หะดีษบทนี้บันทึกโดยท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิมเช่นเดียวกัน

 เพราะฉะนั้น หลักฐานข้อนี้ จึงเป็นการหักล้างความเข้าใจเรื่องห้ามใช้น้ำ "มุสตะอฺมัล" อย่างที่ถามมา ..

สรุปแล้ว น้ำล้างหน้าหรือล้างมือที่กระเซ็นลงไปในถัง ไม่มีผลต่อการที่จะใช้น้ำในถังนั้นทำวุฎูอ์ต่อไปครับ
 วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

อิดดะฮฺ



العدة
อิดดะฮฺคือ ระยะเวลาที่บรรดาหญิงรอคอยและไม่สามารถแต่งงานใหม่หลังจากสามีเสียชีวิตหรือหย่าจากนางไป
หุก่มของอิดดะฮฺ
อิดดะฮฺเป็นสิ่งที่วาญิบสำหรับผู้หญิงที่สามีหย่าจากนางไปหรือสามีเสียชีวิตหลังจากได้ร่วมหลับนอน(มีเพศสัมพันธ์)กับนางแล้ว การแยกจากกันจะด้วยการหย่าหรือคุลุอฺ (การขอหย่าด้วยการจ่ายค่าชดเชย –ผู้แปล) หรือยกเลิกการแต่งงาน เพื่อให้รู้ว่ามดลูกของนางสะอาดปราศจากกการตั้งครรภ์
วิทยปัญญาของการบัญญัติให้มีอิดดะฮฺ
1.เพื่อความมั่นใจว่ามดลูกสะอาดปราศจากการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้เชื่อสายปะปนกัน
2.เปิดโอกาสให้ผู้ที่หย่าได้กลับคืนดีกันเมื่อเกิดความสำนึก ในกรณีที่เป็นการหย่าที่มีโอกาสคืนดีกัน
3.ให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งงาน ซึ่งการแต่งงานจะไม่สมบูรณ์นอกจากต้องมีเงื่อนไขและจะไม่ถูกยกเลิกนอกจากต้องรอคอยและใช้เวลา
4.ให้เกียรติกับชีวิตคู่สามีภรรยาซึ่งนางจะไม่ถูกย้ายไปอยู่กับคนอื่นเว้นแต่นางต้องรอให้ช่วงเวลาหนึ่งได้พ้นไป
5.รักษาสิทธิของการตั้งครรภ์หากการหย่าเกิดขึ้นขณะที่ฝ่ายหญิงกำลังตั้งครรภ์
ในช่วงอิดดะฮฺนั้นมีสิทธิ์อยู่ด้วยกัน 4 ประการ
ประการที่ 1 สิทธิ์ต่ออัลลอฮฺ
ประการที่ 2 สิทธิ์ต่อสามี
ประการที่ 3 สิทธิ์ต่อภรรยา
ประการที่ 4 สิทธิ์ต่อลูก
หญิงที่ถูกหย่าก่อนที่จะมีการสมสู่ จะไม่มีอิดดะฮฺสำหรับนาง และหากถูกหย่าหลังจากได้มีการร่วมหลับนอน(มีเพศสัมพันธ์)แล้ว นางจะต้องอยู่อิดดะฮฺ ส่วนหญิงที่สามีตายจากก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ นางจักต้องอยู่อิดดะฮฺสี่เดือนกับสิบวัน เพื่อเป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์และให้เกียรติต่อสามี และนางมีสิทธิ์ที่จะได้รับมรดกของสามี
1. อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا إِذَا نَكَحْتُمُ الْمُؤْمِنَاتِ ثُمَّ طَلَّقْتُمُوهُنَّ مِنْ قَبْلِ أَنْ تَمَسُّوهُنَّ فَمَا لَكُمْ عَلَيْهِنَّ مِنْ عِدَّةٍ تَعْتَدُّونَهَا فَمَتِّعُوهُنَّ وَسَرِّحُوهُنَّ سَرَاحًا جَمِيلًا»
ความว่า : โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! เมื่อพวกเจ้าได้สมรสกับบรรดาหญิงผู้ศรัทธา แล้วพวกเจ้าได้หย่าพวกเธอก่อนที่พวกเจ้าจะแตะต้องตัวพวกเธอ (คือร่วมหลับนอนกับพวกเธอ) ดังนั้น สำหรับพวกเจ้าไม่มีสิทธิ์ (ที่จะให้พวกเธออยู่)ในอิดดะฮฺ โดยที่พวกเจ้าจะนับเวลาการอยู่ในอิดดะฮฺ ฉะนั้น พวกเจ้าจงให้ผลประโยชน์แก่พวกเธอบ้าง แล้วปล่อยให้พวกเธอจากไปโดยดีงาม ( อัลอะห์ซาบ -49 )
2. อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
«وَالَّذِينَ يُتَوَفَّوْنَ مِنْكُمْ وَيَذَرُونَ أَزْوَاجًا يَتَرَبَّصْنَ بِأَنْفُسِهِنَّ أَرْبَعَةَ أَشْهُرٍ وَعَشْرًا فَإِذَا بَلَغْنَ أَجَلَهُنَّ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ فِيمَا فَعَلْنَ فِي أَنْفُسِهِنَّ بِالْمَعْرُوفِ وَاللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيرٌ»
ความว่า : และบรรดาผู้ที่ถึงแก่ชีวิตลงในหมู่พวกเจ้า และทิ้งคู่ครองไว้นั้น พวกนางจะต้องรอคอยตัวของพวกนางเอง สี่เดือนกับสิบวัน ครั้นเมื่อพวกนางครบกำหนดเวลาของพวกนางแล้ว ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้า ในสิ่งที่พวกนางได้กระทำไปในส่วนตัวของพวกนางโดยชอบธรรม และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียด ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน ( อัล-บะเกาะเราะฮฺ 234 )
ประเภทของผู้ที่อยู่ในอิดดะฮฺ
1. หญิงกำลังตั้งครรภ์ อิดดะฮฺของนางคือเริ่มจากวันตายของสามี หรือวันที่หย่าหรือยกเลิกการแต่งงาน จนถึงนางได้คลอดทารกในครรภ์ และระยะเวลาที่สั้นที่สุดในการตั้งครรภ์คือหกเดือนนับจากวันที่ได้แต่งงาน โดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาถึงเก้าเดือน
อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
«وَأُولَاتُ الْأَحْمَالِ أَجَلُهُنَّ أَنْ يَضَعْنَ حَمْلَهُنَّ»
ความว่า : ส่วนบรรดาผู้มีครรภ์ กำหนดของพวกนางก็คือ พวกนางจะคลอดทารถที่อยู่ครรภ์ของพวกนาง (อัฏเฏาะล๊าก 4)
2. หญิงที่สามีตายจาก หากนางกำลังตั้งครรภ์ อิดดะฮฺของนางจะสิ้นสุดเมื่อได้คลอดทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากนางมิได้ตั้งครรภ์อิดดะฮฺของนางคือ สี่เดือนกับสิบวัน และในช่วงเวลานี้จะรู้ว่านางได้ตั้งครรภ์หรือไม่
อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
«وَالَّذِينَ يُتَوَفَّوْنَ مِنْكُمْ وَيَذَرُونَ أَزْوَاجًا يَتَرَبَّصْنَ بِأَنْفُسِهِنَّ أَرْبَعَةَ أَشْهُرٍ وَعَشْرًا»
ความว่า : และบรรดาผู้ที่ถึงแก่ชีวิตลงในหมู่พวกเจ้า และทิ้งคู่ครองไว้นั้น พวกนางจะต้องรอคอยตัวของพวกนางเอง สี่เดือนกับสิบวัน ( อัล-บะเกาะเราะฮฺ 234 )
3. หญิงที่แยกจากสามีด้วยการหย่าโดยนางมิได้ตั้งครรภ์แต่เป็นผู้ที่มีรอบเดือน อิดดะฮฺของนางคือมีรอบเดือนสามครั้ง แต่สำหรับหญิงที่แยกจากสามีด้วยการคุลุอฺ หรือยกเลิกการแต่งงาน อิดดะฮฺของนางคือมีประจำเดือนครั้งเดียว
อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
«وَالْمُطَلَّقَاتُ يَتَرَبَّصْنَ بِأَنْفُسِهِنَّ ثَلَاثَةَ قُرُوءٍ»
ความว่า:และบรรดาหญิงที่ถูกหย่าร้าง พวกนาง จะต้องรอคอยตัวของตนเองสามกุรูอฺ ( อัล-บะเกาะเราะฮฺ -228 )
4. หญิงที่หย่าจากสามีที่ไม่มีรอบเดือนอันเนื่องจากยังเป็นเด็กหรือพ้นจากช่วงของการมีรอบเดือน อิดดะฮฺของนางคือ สามเดือน
อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
«وَاللَّائِي يَئِسْنَ مِنَ الْمَحِيضِ مِنْ نِسَائِكُمْ إِنِ ارْتَبْتُمْ فَعِدَّتُهُنَّ ثَلَاثَةُ أَشْهُرٍ وَاللَّائِي لَمْ يَحِضْنَ»
ความว่า: สำหรับผู้หญิงในหมู่ภริยาของพวกเจ้าที่หมดหวังในการมีระดู หากพวกเจ้ายังสงสัย ( ในเรื่องอิดดะฮฺของนาง ) ดังนั้น พึงรู้เถิดว่า อิดดะฮฺของพวกนางคือสามเดือน และบรรดาผู้หญิงที่มิได้มีระดูก็เช่นกัน ( อัฏเฏาะล๊าก 4 )
5. หญิงที่หมดประจำเดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ อิดดะฮฺของนางคือหนึ่งปี ซึ่งเก้าเดือนนั้นสำหรับการตั้งครรภ์และอีกสามเดือนเป็นระยะเวลาของการรอคอย
6. หญิงที่ถูกทอดทิ้ง คือ หญิงที่สามีขาดการติดต่อและไม่รู้ชะตากรรม นางต้องรอสามีของนางจนกว่าเขาจะกลับมาหรือทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขาตามระยะเวลาที่ผู้พิพากษาได้กำหนดไว้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องราวเกี่ยวกับสามี เมื่อเวลานั้นได้ผ่านพ้นไป สามีก็ยังไม่กลับมาหรือยังไม่รู้ชะตากรรมของเขา ผู้พิพากษาจะตัดสิ้นชี้ขาดว่าเขาได้ตายไปแล้ว หลังจากนั้นนางก็จะเริ่มอิดดะฮฺเป็นเวลาสี่เดือนกับสิบวัน เป็นอิดดะฮฺการตายจากของสามีและนางก็จะมีสิทธิ์แต่งงานใหม่หลังจากพ้นอิดดะฮฺหากนางประสงค์
อิดดะฮฺของทาสหญิงที่ถูกหย่าที่มีประจำเดือน คือมีรอบเดือนสองครั้ง และอิดดะฮฺของทาสหญิงที่ไม่มีประจำเดือนอันเนื่องจากชราภาพหรือเป็นเด็ก คือ สองเดือน และอิดดะฮฺของทาสหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ คือคลอดทารกที่อยูในครรภ์
ผู้ชายเมื่อได้ครอบครองทาสหญิงที่ได้มีเพศสัมพันธ์แล้ว ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับเขาที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนางจนกว่ามดลูกของนางจะสะอาด คือหากนางกำลังตั้งครรภ์ก็ให้นางคลอดทารกที่อยู่ในครรภ์ หากนางเป็นผู้ที่มีประจำเดือนให้นางมีรอบเดือนหนึ่งครั้ง และหากนางเป็นผู้ที่หมดประจำเดือนหรือเป็นเด็กให้รอเป็นเวลาหนึ่งเดือน
หญิงที่มีเพศสัมพันธ์อันเนื่องจากความคลุมเครือ หรือผิดประเวณี หรือจากการแต่งงานที่โมฆะ หรือคุลุอฺจะมีอิดดะฮฺเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่ามดลูกของนางสะอาดปราศจากการตั้งครรภ์ และเมื่อสามีของนางตายในระหว่างที่นางอยู่ในอิดดะฮฺที่คืนดีได้ อิดดะฮฺจากการหย่าจะถูกยกเลิกและจะเริ่มอิดดะฮฺใหม่คืออิดดะฮฺการตายจากของสามี
หุก่มเรื่องการไว้ทุกข์ ( الإحداد )
สตรีที่สามีตายจากจำเป็นต้องไว้ทุกข์ตามระยะเวลาของอิดดะห์
อัลอิหฺดาด ( الإحداد ) คือการที่สตรีพักอยู่บ้านของสามีนาง และห่างไกลจากสิ่งที่ชักจูงไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ใช้น้ำห้อม สวมใส่เครื่องแต่งกายที่สวยๆ ใช้ต้นเทียน เครื่องประดับ หรือ สิ่งอื่นในทำนองเดียวกันนี้ และหากนางละทิ้งการไว้ทุกข์นางจะมีบาป ต้องขออภัยโทษจากอัลลอฮฺและกลับตัว
عن أم عطية رضي الله عنها أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال : «لا تحد امرأة على الميت فوق ثلاثة إلا على زوج أربعة أشهر وعشرا ولا تلبس ثوبا مصبوغا إلا ثوب عصب ولا تكتحل ولا تمس طيبا إلا إذا طهرت نبذة من قسط أو أظفار» . متفق عليه
ความว่า: จากอุมมุอาฏิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา แท้จริงท่านรอซูลลุลอฮฺ ศ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "ไม่อนุญาตให้สตรีไว้ทุกข์แก่ผู้ตายมากกว่าสามวัน นอกจากแก่สามีเท่านั้น เป็นเวลาสี่เดือนกับสิบวัน และไม่อนุญาตสวมเสื้อผ้าที่ถูกย้อม นอกจากเสื้อผ้าลายที่มาจากประเทศยะมัน ไม่ทาตา และไม่แตะต้องน้ำหอมนอกจากนิดหน่อยจากไม้ห้อมกุสต์และอัซฟารเมื่อนางสะอาดจากรอบเดือน" (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ เลขที่ 5342 และมุสลิม เรื่อง อัฏเฏาะลาก เลขที่ 938 และสำนวนรายงานเป็นของท่าน)
อนุญาตให้ไว้ทุกข์ให้กับผู้ที่มิใช้สามีเป็นเวลาสามวัน ส่วนการไว้ทุกข์ให้กับสามีที่ตายจากนั้นตามระยะเวลาของอิดดะฮฺ คือสี่เดือนกับสิบวัน และสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ที่สามีตายจากระยะเวลาการไว้ทุกข์จะสิ้นสุดเมื่อคลอดทารกในครรภ์
ที่พักอาศัยของหญิงในช่วงอิดดะฮฺ
1. หญิงที่สามีตายจำเป็นต้องพักอาศัยในช่วงอิดดะฮฺที่บ้านที่เคยอยู่กับสามีมาก่อน หากนางประสงค์จะย้ายที่อยู่อันเนื่องจากเกรงกลัวหรือถูกขับไล่หรือด้วยสิทธิของนาง นางสามารถย้ายได้ตามที่นางประสงค์ และอนุญาตให้นางออกจากบ้านได้หากมีความจำเป็น และอิดดะฮฺของนางจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดไม่ว่านางจะอยู่ที่ใดก็ตาม
2. หญิงที่อยู่อิดดะฮฺจากการหย่าที่มีสิทธิ์คืนดีได้ ต้องพักที่บ้านของสามี นางจักต้องได้รับค่าเลี้ยงดูและที่พักอาศัย เพราะนางยังมีสภาพเป็นภรรยาอยู่ และไม่อนุญาตขับไล่นางออกจากบ้านของสามีเว้นแต่นางได้ประพฤติในสิ่งที่หยาบโลนอย่างชัดแจ้งจากคำพูด หรือการกระทำที่จะสร้างความเสื่อมเสียให้กับสมาชิกในครอบครัว
3. หญิงที่มีอิดดะฮฺจากการหย่าขาด (บาอิน) นางจักต้องได้รับค่าเลี้ยงดูหากนางกำลังตั้งครรภ์จนกว่านางจะคลอดทารกที่อยู่ในครรภ์ หากนางไม่ได้ตั้งครรภ์นางไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าเลี้ยงดูและที่พักอาศัย หญิงที่มีอิดดะฮฺจากการหย่าขาดหรือยกเลิกการแต่งงานหรือด้วยการคุลุอฺต้องพักอาศัยในช่วงอิดดะฮฺที่บ้านของญาติพี่น้องของนางเอง
Ref : สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

เงินฝากวาดีอะของ ธกส เเล้วเขาจับสลากแจกฮัจญ์รับได้หรือไม่?



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามุอลัยกุม มีคำถามครับ
1.เงินฝากวาดีอะของ ธกส เเล้วเขาจับสลากแจกฮัจญ์รับได้หรือไม่(เข้าข่ายดอกเบี้ยหรือไม่)
 2.มีคนมาจำนำสวนยางแล้วให้สิทธิ์แก่เราในการเก็บเกี่ยว โดยเราไม่ได้เรียกร้องและไม่ได้ตกลงทำสัญญา ถ้ารับจะเป็นดอกเบี้ยหรือไม่

ตอบ

สำหรับคำถามข้อแรก ถ้าสลากมาออกที่เราก็สามารถรับได้ไม่มีปัญหาครับ เพราะไม่เข้าข่ายดอกเบี้ย และ/หรือเสี่ยงโชคตามรูปแบบที่อิสลามห้ามครับ ...

สำหรับ"หลักฐานอ้างอิง" ที่ว่านี้ หมายถึงข้อมูลจากซุนนะฮ์ ผมก็ไม่เคยเจอว่าในสมัยท่านนบีย์จะมีการจับสลากในเรื่องแบบนี้ครับ แต่ที่ผมตอบไปอย่างนั้นก็เพราะผมวิเคราะห์แล้วว่า การจับสลากดังกล่าวไม่จัดเข้าอยู่ในประเด็นดอกเบี้ยเลยครับ เนื่องจากไม่ใช่เป็น "การตกลง ร่วมกัน" ของทั้งสองฝ่ายซึ่งแตกต่างกับเรื่องดอกเบี้ย แต่เป็นการเสนอให้ของธนาคารเพียง "ฝ่ายเดียว" เท่านั้น

และการเสนอให้ดังกล่าวก็มีเงื่อนไข คือจับสลากถูกบางคน ไม่่ได้หมายความว่า ผู้ฝากเงินจะได้รับทุนไปทำหัจญ์ทุกคนเลยนี่ครับ ...

ประเด็นต่อมาที่ว่า ก็เงินที่ธนาคารให้เรามานั้นเป็นเงินที่เขาได้มาจากระบบดอกเบี้ย เราจะรับได้หรือไม่ ? ..

ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมลืมคิดไป ใช่ครับ ผมก็เห็นด้วยในแง่ที่ว่า "ไม่สมควร"จะรับการสมนาคุณของธนาคารด้วยวิธีนี้ แต่ผมยังไม่กล้าฟันธงว่า "ห้าม" รับนะครับ เพราะ "ความผิด" เรื่องระบบดอกเบี้ยของธนาคาร มันจะส่งผลถึง "เม็ดเงิน" ในธนาคารว่าเป็นสิ่ง "หะรอม" ด้วยหรือไม่ ? ยังเป็นปัญหาชวนให้คิดอยู่ ..

ยกตัวอย่างเช่น เราไปซื้อของบางอย่างที่ร้านคนไทยพุทธซึ่งเขาขายเหล้าด้วย เมื่อเราจ่ายเงินค่าสินค้าให้เขาไป เขาก็เอาเงินซึ่งเราเห็นชัดๆว่าคนซื้อเหล้าก่อนจากเราให้เขาไปเป็นค่าเหล้า นำมาทอนให้เรา จึงมีปัญหาว่า เราจะรับเงินค่าเหล้าที่เขาทอนให้เรานั้นได้หรือไม่ ? .เพราะการขายเหล้าเป็นสิ่งหะรอม แต่ตัวเงินหรือเม็ดเงินจากการขายเหล้าจะเป็นเงินที่ห้ามรับด้วยหรือ ? ...

 ซึ่งมันก็คล้ายคลึงกับปัญหาข้างต้นนี่แหละครับ ขอบคุณอีกครั้งครับที่ทักท้วงมา .....

นทัศนะผมเห็นว่า ควรจะแยกแยะ ระหว่าง "วิธีการ" ที่ได้เงินมากับ "เม็ดเงิน" ออกจากกัน เพราะมิฉะนั้น

 หากเราถือว่า เมื่อวิธีการได้เงินมาเป็นวิธีการที่หะรอม เม็ดเงินนั้นก็ต้องหะรอมด้วย
 แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ตัวเงินหรือเม็ดเงินที่อยู่ในกระเป๋าของเราแต่ละวัน มันผ่านมือโสเภณี, ผ่านการซื้อขายหมูขายเหล้า, ผ่านการฉ้อโกง, ผ่านการลักขโมย, ผ่านมือปืนรับจ้าง, ผ่านระบบดอกเบี้ย ฯลฯ มากี่ทอดแล้ว ?

 เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่า หากเราไม่มั่นใจจริงๆว่า เงินนั้นมีที่มาจากวิธีการที่หะรอม เราก็มีสิทธิ์รับได้ครับ

 ดังตัวอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น จากจุดนี้ ผมจึงมองว่า เมื่อผู้จัดการธนาคารเลี้ยงข้าวเรา เมื่อเราไม่แน่ใจว่า เงินที่เขานำมาเลี้ยงเรานั้นได้มาจากทางใด อาจจะเป็นเงินที่เขาขายที่ดิน, ได้มาจากการทำงานพิเศษอื่นที่หะล้าล เป็นต้น
 ผมว่าเรารับเลี้ยงจากเขาได้ครับ
วัลลอฮุอะอฺลัม..

ในเรื่องของเงินตราหรือที่เรียกกันว่าเม็ดเงินนั้น ปกติ อิสลามจะ "ผ่อนปรน" ให้ผู้รับ คือไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อมีใครให้เงินเรา, ซื้อของร้านเรา, เลี้ยงอาหารเรา ฯลฯ ก็อนุญาตให้เรารับได้โดยไม่จำเป็นจะต้องไปซักถามเขาว่า เงินที่เขาให้เรา, ซื้อของร้านเรา หรือเลี้ยงอาหารเรานั้น เขาเอามาจากไหน? ..

ยกเว้นในกรณีถ้าเรา "แน่ใจ" (يقين)หรือค่อนข้างมั่นใจ (ظن)ว่าเงินนั้นเขาได้มาด้วยวิธีการที่ไม่หะล้าล ทางที่ดีก็ควรปฏิบัติตามที่ท่านนบีย์แนะนำ ..
 คือ หลีกเลี่ยงจากการรับ อย่างที่ผมตอบมาแล้วตอนต้น .
ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเมื่อมีผู้นำเนื้อกุรฺบ่านมาให้เรา ก็อนุญาตให้เรารับได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบหรือสอบถามว่า เนื้อกุรฺบ่านนี้ใครเป็นผู้เชือด, ตอนเชือดเขากล่าวบิสมิลลาฮ์หรือไม่ เป็นต้น ...

สำหรับเรื่อง "ผู้รับ" ดังที่อธิบายมานั้น ตามหลักการศาสนาจะแตกต่างกับ "ผู้ให้" หรือเจ้าของเงิน ซึ่งอิสลามจะ "กวดขัน" เป็นอย่างมากว่า เงินที่จะนำมาใช้จ่ายส่วนตัว, หรือบริจาค หรือแม้กระทั่งจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำหัจญ์ จะต้อง "ได้มา" ด้วยวิธีการที่หะล้าลเท่านั้น
 การให้หรือการบริจาคของเขาจึงจะบังเกิดผลบุญ หากมิฉะนั้น การให้ของเขา, การบริจาคของเขา หรือการนำเงินนั้นไปใช้ในการทำหัจญ์ของเขา ก็จะไม่มีผลดีอะไรทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พระองค์อัลลอฮ์จะไม่ทรงรับสิ่งที่เขาทำไปด้วยเงินที่ได้มาด้วยวิธีการหะรอมนั้น
แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่รับเงินจากการให้หรือการบริจาคของเขา ก็ไม่ถือว่า มีความผิดบาปแต่ประการใด และไม่จำเป็นต้องสอบถามเขาด้วยว่า เขาเอาเงินนั้นมาจากไหน? ..
ดังได้กล่าวมาแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัมครับ ...


เรื่องของธนาคารอิสลาม มีเพื่อนฝูงหลายคนที่ใช้บริการอยู่มาเล่าให้ผมฟังว่า เขาไม่เชื่อเด็ดขาดว่า ธนาคารนี้จะปลอดจากระบบดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่อาจจะน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆเท่านั้น
ซึ่งผมก็ไม่กล้าออกความเห็นใดๆเพราะไม่เคยใช้บริการและไม่เคยรู้รายละเอียดการดำเนินงานของธนาคารอิสลามมาก่อน แต่สมมุติถ้าเป็นจริงตามที่เขาเล่ามา ผมก็มองว่า มันก็ไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชน์อื่นเลย เพราะดอกเบี้ย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยมันก็เป็นดอกเบี้ยอยู่วันยังค่ำ ผมจึงได้กล่าวว่า ถ้าเราแน่ใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าเงินที่เขาให้เรามาเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ตามหลักการศาสนา ก็ให้เราหลีกเลี่ยงเสีย ...

แต่ในมุมกลับกัน สมมุติถ้าผู้ใดมีความเชื่อว่า ระบบธนาคารอิสลามปลอดจากดอกเบี้ย และรางวัลพิเศษที่ทางธนาคารให้เขา เช่นการจับสลากไปทำหัจญ์ได้ ก็เป็นเงินรายได้บริสุทธิ์ของธนาคารที่ไม่ใช่มีที่มาจากดอกเบี้ย

 อย่างนี้ เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้ามเขาจากการรับรางวัลพิเศษนั้นได้หรอกครับ ..

สำหรับคำถามข้อสอง ผมขอถามก่อนว่า สมมุติถ้าเราไม่ไปกู้หนี้เขามา เขาจะยอมให้สิทธิ์เราเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสวนยางของเขาหรือไม่ ?
 ถ้าเข้าใจจุดนี้แล้วเราก็จะเข้าใจโดยอัตโนมัติว่า สิทธิ์ที่เขาให้เรานั้น ถือเป็นดอกเบี้ยส่วนเกินที่ต้องห้ามหรือไม่ .

ข้อนี้แตกต่างกับการที่เราไปกู้หนี้สินมาจากบุคคลซึ่งไม่มีประวัติเรื่องดอกเบี้ยเพื่อมาทำธุรกิจสักอย่าง และธุรกิจของเราก็ได้รับผลกำไรอย่างดี ต่อมาภายหลัง เมื่อเราไปจ่ายหนี้สินคืนแก่เขา เราก็มอบบางส่วนของกำไรแก่เขาเพื่อแสดงความขอบคุณ อย่างนี้ไม่มีปัญหาครับ
อินชาอัลลอฮ์ ...

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผู้ชายห้ามใช้เครื่องประดับที่เป็น "นาก" หรือไม่?



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

แหวนผู้ชายที่มีส่วนผสมของนาฎสามารถเอาสวมใส่ได้มั้ยคับ..

ตอบ
ผู้ชาย ห้ามใช้เครื่องประดับทองคำทุกชนิด ไม่ว่าแหวน, เหลด, สายนาฬิกา ฯลฯ และไม่ว่าจะเป็นทองคำแท้ๆหรือทองคำผสม ...

สำรับนากที่มีผู้นิยมเอามาทำเป็นแหวนหรือเข็มขัดสตรีนั้น ไม่ใช่เป็นแร่ธาตุบริสุทธิ์เช่นทองคำหรือเงิน แต่เป็นส่วนผสมระหว่าง "ทองคำกับทองแดง" ที่เอามาหลอมรวมกันแล้วนำไปทำเป็นเครื่องประดับ เช่นเข็มขัดสตรีหรือแหวน อย่างที่คุณถามมา เพราะฉะนั้น ผู้ชายจึงห้ามใช้เครื่องประดับที่เป็น "นาก" ทุกขนิดครับครับ

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

การกล่าว อินนาลิ้ลลาฮ์ฯ แก่กาเฟร



เรื่อง : ฮุกุ่มการกล่าว อินนาลิ้ลลาฮ์ฯ แก่กาเฟร ?
 💬ตอบโดย : ชัยค์ อับดุลอซีซ บิน บาซ .
คำถาม : เมื่อบุรุษ หรือ สตรี ได้ตายลงไปโดยที่เขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เราสามารถที่จะกล่าวแกเขาว่า : อินนาลิ้ลลาฮ์ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน : إنا لله وإنا إليه راجعون และกล่าวว่า ( يا أيتها النفْس الْمطْمئنة ارْجعي إلى ربك راضية مرْضية))[الفجر:28] (คำแปล โอ้ชีวิตที่สงบนิ่งเอ๋ย จงกลับไปยังพระเจ้าของเจ้าด้วยความยินดีและเป็นที่ปิติเถิด) ไปยังตอนท้าย สิ่งดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นที่อนุญาติหรือไม่ ❓
ตอบ : เมื่อกาเฟรคนหนึ่งได้ตายลง ถือว่าไม่เป็นไรที่ท่านจะกล่าวว่า ( إنا لله وإنا إليه راجعون ) แก่ผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดท่าน , และไม่เป็นไรหากท่านจะกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่จะต้องหวนคืนสู่อัลลอฮ(كل الناس إلى الله راجعون ) , หรือมนุษย์ทั้งหมดนั้นล้วนอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ(كل الناس ملك لله سبحانه وتعالى) สิ่งดังกล่าวนี้ถือว่าไม่เป็นไรหากกล่าวแก่กาเฟรที่ตายลง , แต่ว่าจะต้องไม่ขอดุอาให้แก่เขาตราบใดที่เขานั้นยังคงดำรงอยู่บนสถานะของ กาเฟรผู้ปฏิเสธศรัทธา และจะต้องไม่กล่าวแก่เขาว่า (يا أيتها النفْس الْمطْمئنة ارْجعي) เพราะว่าตัวของกาเฟรนั้นเขาจะไร้ซึ่งความสงบนิ่งหลังความตาย และ ตัวเขานั้นเป็นผู้ละเมิด เพราะฉะนั้นจะไม่ถูกกล่าวสิ่งดังกล่าวแก่เขา แท้จริงสิ่งดังกล่าวนี้จะถูกกล่าวแก่ผู้ศรัทธาเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เขาจะได้รับเมื่อเขาได้สิ้นชีวิตลงและถือว่าไม่เป็นไรหากจะกล่าวนั้นก็คือการกล่าวว่า (إنا لله وإنا إليه راجعون ) และไม่เป็นไรเช่นกันหากเขาจะกล่าวแก่ท่านหรือคนอื่นจากท่านว่า ( ขอให้อัลลอฮตอบแทนท่าน) และเขาทำความดีและแสดงความเสียใจแก่ท่าน และถือว่าไม่เป็นไร หากบางทีท่านมีผลประโยชน์ในชีวิตของเขา และบางทีในชีวิตของเขานั้นเขาต้องการทำความดีแก่ท่าน และประโยชน์แก่ท่าน สิ่งที่ว่ามาดังกล่าวนั้นถือว่าไม่เป็นไร, แต่ว่าจะต้องไม่ขอดุอาแก่เขา และไม่ขออภัยโทษแก่เขา และไม่ไปทำศอดาเกาะห์แก่เขา เมื่อเขาตายในสภาพของกาเฟรผู้ปฏิเสธศรัทธา.
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
إذا مات رجل أو امرأة وهو كافر، هل يمكن أن نقول: إن لله وإنا إليه راجعون أو لا يجوز، ونقول أيضاً: (( يا أيتها النفْس الْمطْمئنة ارْجعي إلى ربك راضية مرْضية))[الفجر:28] إلى آخره؟
الكافر إذا مات لا بأس أن تقول: إنا لله وإنا إليه راجعون، الحمد لله، من أقربائك، لا بأس، كل الناس إلى الله راجعون، كل الناس ملك لله سبحانه وتعالى، لا بأس بهذا، ولكن لا يدعى له، ما دام كافر لا يدعى له، ولا يقال: يا أيتها النفس المطمئنة ارجعي، لأن النفس هذه غير مطمئنة، نفس فاجرة، لا يقال لها هذا، وإنما يقال هذا في المؤمن، فالحاصل أن الكافر إذا مات لا بأس أن تقول إنا لله وإنا إليه راجعون، ولا بأس أن يقول لك غيرك: عظم الله أجرك فيه، وأحسن عزاءك فيه، ما في بأس، قد يكون لك مصلحة في حياته، قد يكون في حياته يحسن إليك، ينفعك، فلا بأس، لكن لا يدعى له، ولا يستغفر له، ولا يتصدق عنه، إذا مات كافراً.
อ้างอิง http://www.binbaz.org.sa/node/18152

การนับจำนวนครั้งการตัสเบี๊ยะห์ด้วยลูกตัสเบี๊ยะ



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อ.ครับช่วยอธิบายเรื่องการใช้ลูกตัสเบีี๊ยะในการซิกรุลเลาะบิดอะฮ์หรือไม่

ตอบ
รื่องลูกตัสเบี๊ยะห์นี่ อย่าเอากันดุเดือดเลือดพล่านถึงขั้นหุก่มคนใช้มันว่าทำบิดอะฮ์เลยครับ

ผมขอพูดแค่ว่า เป็นการนับจำนวนครั้งการตัสเบี๊ยะห์ที่ไม่เป็นไปตามซุนนะฮ์หรือคำแนะนำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมจะดีกว่า

 เพราะถ้าตามซุนนะฮ์จริงๆ ก็ต้องนับจำนวนครั้งการตัสเบี๊ยะห์ด้วยนื้วมือ และควรจะเป็นมือขวาครับ

 เพราะท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมเคยบอกว่า พวกมัน (นิ้วมือ) จะถูกสอบถามและมันก็จะพูดได้ (เพื่อเป็นพยานให้เราว่า เราเคยใช้มันนับจำนวนครั้งการกล่าวตัสเบี๊ยะห์แก่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.)

แต่ผมไม่เคยเจอหลักฐานเลยว่า ลูกตัสเบี๊ยะห์จะถูกสอบถามและจะพูดได้เหมือนนิ้วมือครับ ...

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การยึดมัซฮับ



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสสลามุอะลัยกุม อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องการยึดมัซฮับ ว่าคนทั่วไปจำเป็นต้องยึดมัซฮับหรือไม่


ตอบ
ตรรกะง่ายๆในการตอบคำถามเรื่องนี้คือ ..
คุณต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกอย่างที่อิหม่ามแต่ละท่านจากสี่ท่านนั้นพูดหรือกล่าวออกไป ย่อมถูกต้องทั้งหมด ไม่มีผิดพลาดเลย กระนั้นหรือ ? ..

ถ้าเรายอมรับความจริงว่าไม่ใช่ แต่มนุษย์ทุกคน - ไม่ว่าเป็นใครหรือเป็นอิหม่ามท่านใด - คือปุถุชน ไม่ใช่นบีย์ จึงย่อมมีผิดมีถูกด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นคำตอบก็คือ แล้วเราเอากฏเกณฑ์ข้อไหนไปกำหนดหรือบังคับว่า จำเป็นจะต้องเอาศาสนาของเราไปผูกหรือยึดติดกับมนุษย์เพียงคนเดียว

 - ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ท่านใด

 - เป็นการเฉพาะด้วยล่ะครับ ..

ที่พูดมานี้มิได้หมายความว่า ผมห้ามตามอิหม่ามท่านนะครับ

 แต่พวกท่านเองนั่นแหละ - ทุกท่าน - จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ห้ามปฏิบัติตามพวกท่านในกรณีที่คำพูดของพวกท่านไปขัดแย้งกับซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..

ตัวอย่างเช่น อันใดของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่สอดคล้องหรือตรงกับอัล-กุร์อานและซุนนะฮ์ เราตามได้ครับ
 แต่ถ้าอันใดที่ท่านเคยพูดไว้เกิดไม่ตรงหรือขัดแย้งกับซุนนะฮ์ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปตามท่านในเรื่องนั้นๆ นี่คือคำสั่งของท่านเองนะครับ
มิใช่ผมพูดเอาเอง

ข้อสำคัญก็คือ เมื่อเราไม่ปฏิบัติตามท่านในบางเรื่องเพราะเห็นว่าขัดแย้งกับซุนนะฮ์แล้ว ก็อย่าไปโจมตี, ตำหนิหรือประณามท่านเป็นอันขาด

แต่ให้เรา "ปล่อยวาง" เรื่องนั้นเสีย อย่าไปวิจารณ์ท่านในทางเสียๆหายๆเป็นอันขาดครับ ...



หากเดินทางไปสถานที่หนึ่งหลายเดือน จะละหมาดรวมย่อตลอดไหม?



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
สลามคะ ละหมาดเดินทางถ้าที่ๆเราไปนานถึงห้าหกเดือน เราจะละหมาดย่อด้ายหม้าย หรือว่าต้องละหมาดตามปกติเหมือนเดิม


ตอบ

ก็ต้องดูเหตุการณ์ก่อน ..

 ในหนังสือ "อัล-เกาลุลมุบีน" หน้า 436 อธิบายว่า "คนเดินทาง มีสิทธิ์นมาซย่อได้ตลอดเวลา(คือไม่ว่าจะอยู่นานเท่าไรก็ตาม) ตราบใดที่เขายังอยู่ห่างไกลจากบ้านของเขา และเขายังมีความตั้งใจจะกลับบ้าน ไม่ว่าขณะนั้นเขาจะยังอยู่ในสภาพกำลังเร่ร่อนเดินทางหรือกำลังพักอยู่เมืองอื่นภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนดแน่นอนแล้วสำหรับเขา" ..

 ยกเว้นถ้าเขาตั้งใจจะยึดเอาเมืองนั้นเป็นที่พำนักถาวร หรือเขายังไม่ได้กำหนดวันกลับที่แน่นอน แต่ในใจของเขานึกอยู่ตลอดว่า วันนี้ฉันจะกลับ, พรุ่งนี้ฉันจะกลับ เป็นต้น ..

 สรุปแล้ว กรณีที่คนเดินทางจะนมาซย่อไม่ได้ตามคำอธิบายข้างต้น

 มี 2 กรณีคือ หนึ่ง ตั้งใจจะพำนักถาวรในสถานที่ ที่เดินทางไปนั้น

หรือสอง ไปอยู่โดยไม่รู้วันกลับ เพียงแต่ตั้งใจว่า เสร็จธุระเมื่อไรก็จะกลับเมื่อนั้น อย่างนี้ก็ห้ามนมาซย่อ

วัลลอฮุ อะอฺลัม ..


การขอดุอาอฺหลังละหมาดแบบญามาอะฮฺ



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
การที่พี่น้องขอดุอาอฺหลังละหมาด แบบญามาอะฮฺ ได้หรือครับ คืออิหม่ามอ่าน มะมูมอามีน ขอเพิ่มเติมคำถามครับ แล้วลูบหน้าหลังละหมาดเสร็จ มีแบบอย่างไหมครับ? ญาซะกุมุลลอฮุคอยรอนครับ


ตอบ
ขอตอบสั้นๆว่า การให้อิหม่ามนำขอดุอาแล้วมะอฺมูมคอยอ่านอามีนหลังละหมาดฟัรฎูนั้น 'ไม่มีแบบอย่าง' ครับ

ส่วนเรื่องการลูบหน้าหลังให้สลามจากละหมาด หะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็น 'หะดีษเฎาะอีฟ' ครับ จึงไม่ควรนำมาปฏืบัติในแง่เป็นหลักการศาสนา

แต่สมมุติว่ามีเม็ดทรายติดที่หน้า เราก็สามารถปัดหรือลูบออกได้ตามธรรมชาติ โดย 'อย่าเข้าใจ' ว่าเป็นบทบัญญัติของศาสนาครับ

การนิกาห์กับคนต่างศาสนิก



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

สลามุอะลัยกุมฯในกรณีฝ่ายหญิงเป็นคนต่างศาสนิกจะทำการนิกาห์อย่างไรครับ  ตอนนี้ผู้หหญิงกำลังศึกษาอิสลามอยู่

ตอบ

การแต่งงานกับสตรีต่างศาสนาหลังจากการ "กล่าวปฏิญาณตน" รับอิสลามของนางแล้ว เงื่อนไขสำคัญถัดมาก็คือ
 "ความเชื่อ" ของนางในพระองค์อัลลอฮ์, และ "ปฏิบัติ" ตามในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงสั่งใช้และละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

ซึ่งความหมายของเงื่อนไขดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในอัล-กุรฺอานซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 221 ...
เพราะพระองค์อัลลอฮ์ทรงห้ามผู้ชายมุสลิมนิกาห์กับสตรีมุชริกโดยมีข้อแม้ว่า حتى يؤمن ซึ่งมีความหมายว่า "จนกว่าพวกนางจะศรัทธา"

.. จะเห็นได้ว่าพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.มิได้กล่าวว่า حتى يسلمن ซึ่งมีความหมายว่า "จนกว่าพวกนางจะรับอิสลาม"
เพราะความหมายอย่างหลังนี้ก็คือ หากนางกล่าวปฏิญาณตนก็ถือว่านางเป็นมุสลิมแล้วและสามารถนิกาห์กับนางได้ทันที

 ซึ่งความหมายนี้แตกต่างกับคำกล่าวของพระองค์ที่ว่า "จนกว่าพวกนางจะศรัทธา" ..

ซึ่งพวกเราก็รู้ดีอยู่แล้วว่าการกล่าวปฏิญาณตนเป็นเพียงรุก่นอิสลาม ไม่ใช่รุก่นอีหม่าน ..

 แต่เงื่อนไขของพระองค์คือ จนกว่านางจะศรัทธาหรือมีอีหม่าน ซึ่งความหมายของอีหม่านก็คือ ปากกล่าวปฏิญาณ, จิตใจยอมรับ(เชื่อในพระองค์อัลลอฮ์) และอวัยวะปฏิบัติตาม

เพราะฉะนั้น การที่ผู้หญิงมุชริกศึกษาศาสนาอิสลาม ถือเป็นเพียง "บันไดขั้นต้น" ของอีหม่านของนางเท่านั้น ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า นางเชื่ออัลลอฮ์จริงหรือไม่,

 และถ้านางเชื่อจริงมิใช่เชื่อหลอกเพียงเพื่อจะเอาผัวแขก นางก็ต้องพยายามปฏิบัติตามหลักการอิสลามต่อไปตามลำดับครับ แล้วเมื่อนั้นการนิกาห์กับนางก็ไม่มีปัญหาครับ ...